Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

หลักการและเหตุผล


นับตั้งแต่มีการประชุมระดับโลกครั้งแรกที่กรุงริโอเดอจาเนโร ในปี 2535 ได้มีการกล่าวถึงทิศทางใหม่ของการพัฒนาที่เรียกว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development) ซึ่งเป็นการเรียกร้องที่ให้เกิดการพัฒนาโดยรวมความเอาใจใส่ในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากมุ่งเน้นแต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแต่เพียงด้านเดียว

การพัฒนาที่รวมถึง “ความรับผิดชอบทางสังคมเชิงบรรษัท” หรือ “Corporate Social Responsibility” ได้ทวีความเข้มข้นและจริงจัง เมื่อองค์กรความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้บรรจุเรื่อง CSR ไว้ในแนวทางปฏิบัติสำหรับวิสาหกิจข้ามชาติ ในปี 2543 โดยไม่เพียงแต่เสนอแนะให้วิสาหกิจข้ามชาติคำนึงถึง CSR ในองค์กรเองแล้ว ยังเสนอให้วิสาหกิจเหล่านี้ติดต่อค้าขายกับเฉพาะคู่ค้าที่มี CSR เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจใดที่ไม่มี CSR อาทิ การผลิตที่สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม การใช้แรงงานเด็กอย่างไม่เป็นธรรม ผลิตภัณฑ์ที่สร้างปัญหาต่อสังคม ฯลฯ จะไม่สามารถติดต่อค้าขายกับวิสาหกิจที่มีถิ่นฐานอยู่ในประเทศสมาชิก OECD ได้อีกต่อไป

แม้ว่าธุรกิจส่วนหนึ่งจะยอมรับแนวคิด CSR ไปปฏิบัติ จากภาวะจำยอมที่ดูเหมือนเป็นกระแสผลักดันด้านลบ แต่ธุรกิจอีกส่วนหนึ่งกลับยินดีที่จะทำ CSR โดยสมัครใจ เนื่องจากกระแสผลักดันด้านบวกจากกองทุนประเภทต่างๆ ทั่วโลก ที่ต้องการลงทุนและส่งเสริมวิสาหกิจที่มี CSR ซึ่งปัจจุบัน กองทุนประเภทนี้มีอัตราการขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก เช่น ในสหรัฐอเมริกามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยของเงินลงทุนที่ร้อยละ 22 ต่อปี ในอังกฤษมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 49 ต่อปี เป็นต้น

โครงการศึกษาคุณลักษณะ องค์ประกอบ และเครื่องมือสำหรับการพัฒนา CSR ในกระบวนการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นี้ เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อภาวการณ์เปลี่ยนแปลงในวิธีการดำเนินธุรกิจที่จำต้องมีองค์ประกอบของ CSR ภายในองค์กร และเพื่อเตรียมรับมือกับการแข่งขันที่มีการหยิบยกเรื่อง CSR มาเป็นประเด็นกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนา CSR ภายใต้บริบทของสังคมไทย ไว้เป็นแนวปฏิบัติสำหรับวิสาหกิจไทยที่จำเป็นต้องค้าขายกับคู่ค้าต่างชาติที่มี CSR รวมถึงต้องการดึงเม็ดเงินลงทุนจากกองทุนประเภทดังกล่าวในต่างประเทศ หรือต้องการสร้างการมีส่วนร่วมรับผิดชอบในสังคม ตลอดจนเพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับวิสาหกิจต่างประเทศที่ค้าขายในประเทศไทยให้มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมไทยอย่างจริงจัง