Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

CSR ระเบิดเวลาธุรกิจ

บทสะท้อนจาก "ไทยศิลป์" จาก "น่าทำ" สู่ "ต้องทำ"

ข่าวใหญ่ที่พาดหัวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์เมื่อเช้าวันที่ 12 กรกฎาคม ที่ผ่านมา กรณีที่โรงงานผลิตเสื้อผ้ากีฬาส่งออก บริษัท ไทยศิลป์ อาคเนย์ อิมพอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ปิดโรงงานทันทีซึ่งทำให้บรรดาคนงานกว่า 5,000 ชีวิตเกือบถูกลอยแพ สาเหตุหนึ่งเกิดจากผลกระทบของค่าเงินบาท ขณะเดียวกันสาเหตุสำคัญจากการปิดกิจการครั้งนี้มาจากการถูกยกเลิกออร์เดอร์ของบริษัทผู้จ้าง จากการขาดมาตรฐานความปลอดภัยในที่ทำงาน ซึ่งหากมองผ่านกรอบแนวคิดของ CSR นี่เป็นส่วนสำคัญของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรภายในกระบวนการธุรกิจ (CSR in process) ที่ต้องรับผิดชอบไม่เฉพาะสังคมภายนอก แต่ต้องใส่ใจต่อ ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่ต้องเริ่มต้นจากภายใน

ตามที่ "เดช พัฒนเศรษฐพงษ์" นายกสมาคมเครื่องนุ่งห่มไทย ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า "ตั้งแต่ช่วงปี 2549 ทางอาดิดาสได้ส่งหนังสือแนะนำให้โรงงานปรับสภาพแวดล้อมและมาตรฐานความปลอดภัยในโรงงานตั้งแต่ช่วงก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุในโรงงาน หรือประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และทางบริษัทก็มิได้แจ้งอาดิดาสว่าเกิดอุบัติเหตุขึ้นซึ่งถือเป็นกาปกปิดข้อมูล จึงได้เลิกออร์เดอร์"

ซึ่งส่งผลกระทบอย่างแรงต่อบริษัท แม้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะได้รับการจัดการภายในเวลาไม่กี่วัน โดยหน่วยงานจากภาครัฐที่เข้ามาโอบอุ้ม แต่ประเด็นที่น่าเรียนรู้จากกรณีนี้นับเป็นบทเรียนสำคัญที่ต้องเรียนรู้ของภาคธุรกิจและอุตสาห กรรมของไทย

เมื่อโลกเรียกร้องความรับผิดชอบ
สัญญาณที่เกิดขึ้นจากการต้องปิดกิจการอย่างกะทันหันของ "ไทยศิลป์" มิใช่แต่เพียงสัญญาณทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่องซึ่งส่งผลให้บริษัทที่ผลิตสินค้าส่งออกจากที่เคยมีกำไรกลายเป็นติดลบ ตามที่ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางแต่เพียงเท่านั้น

สัญญาณที่เกิดขึ้นยังเป็นสัญญาณสะท้อนที่ชัดเจนของกระแส "ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร" (corporate social responsibility : CSR) ที่กำลังเข้ามามีอิทธิพลต่อการทำธุรกิจในประเทศ โดยเฉพาะเมื่อผู้บริโภค บริษัทคู่ค้าชั้นนำในต่างประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งนับวันจะเข้มข้นและรุนแรงมากยิ่งขึ้น

กระแสกดดันจากภายนอกจึงอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ CSR กลายเป็นสิ่งหนึ่งในการทำธุรกิจที่ธุรกิจไม่อาจปฏิเสธ และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มต้นทำ CSR โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ จะมีมาตรฐานต่างๆ มากขึ้น

"ทำวันนี้ ทำให้ถูก ทำตามหลักสากล" เป็นคำแนะนำที่นายศุภชัย เทพัฒนพงศ์ ผู้อำนวยการกองกิจกรรมมาตรฐานระหว่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวไว้ตอนหนึ่งระหว่างงานสัมมนา "ธุรกิจและรัฐกิจกับความรับผิดชอบต่อสังคม" ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์ส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม (CSR) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อเร็วๆ นี้ถึงการต้องเริ่มต้นทำ CSR ขององค์กรธุรกิจไทย

นับถอยหลัง ISO 26000
เขากล่าวด้วยว่า "จากกรณีโรงงานที่ปิดกิจการ เราจะเห็นว่ากระแสโลกวันนี้ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมมาก ทุกวันนี้ธุรกิจไม่จำเป็นต้องทำผิด หรือไม่ต้องพิสูจน์ว่าถูกหรือผิด เพียงแค่เมื่อไหร่ที่ถูกตั้งคำถาม ธุรกิจนั้นก็อยู่ไม่ได้"

อย่างไรก็ตามนายศุภชัยกล่าวว่า แทนที่จะมองเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า มาตรฐานต่างๆ ที่ถูกกำหนดขึ้น ธุรกิจควรมองสิ่งเหล่านี้เป็นโอกาส เพราะทุกวันนี้องค์กรได้รับการคาดหวังจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่ต้องดำเนินการทั้งในด้านการพัฒนา ดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคม ฉะนั้นสิ่งที่องค์กรจะสามารถดำรงอยู่ได้จึงจำเป็นต้องทำ

สำหรับหลักสากลอย่างมาตรฐาน ISO 26000 ที่ว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งขณะนี้ออกมาเป็นร่างและจะแล้วเสร็จประกาศใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้านั้น จะออกมาเป็นแนวปฏิบัติที่ตั้งอยู่บนความสมัครใจ โดยตั้งอยู่บนหลักการ ได้แก่ การปฏิบัติตามกฎหมายโดยไม่หลีกเลี่ยง การปฏิบัติตามธรรมเนียมที่สากลยอมรับ การพัฒนาอย่างยั่งยืน การซื่อสัตย์ จริงใจ และยุติธรรม การเคารพสิทธิมนุษยชน และการเคารพในความแตกต่าง รวมถึงการไม่ทำอะไรที่เสี่ยงต่อผลเสียหายร้ายแรง (precautionary approach) โดยประเด็นหลักในมาตรฐานใหม่ จะให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวด ล้อม การปฏิบัติต่อผู้ใช้แรงงานอย่างเป็นธรรม มีการบริหารจัดการองค์กรที่ดี การดำเนินธุรกิจด้วยความเป็นธรรม การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม และไม่เอาเปรียบผู้บริโภค

"ใน ISO 26000 ประเด็นที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดโดยส่วนตัวคือหลักการการไม่ทำอะไรที่เสี่ยงต่อผลเสียหายร้ายแรง ซึ่งเรื่องนี้อาจจะเป็นดาบสองคม สมมติว่าแม้ไม่มีหลักฐานแต่ถ้าคู่ค้าบอกว่าสามารถพิสูจน์ผลเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ก็อาจจะกลายเป็นการกีดกันทางการค้า เช่น ถ้าส่งออกเนื้อไก่เขาอาจจะบอกว่าไม่ได้เพราะอาจจะทำให้เกิดไข้หวัดนกในอนาคต เป็นต้น แต่ในภาพรวม ISO 26000 น่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางบวกที่มีมาตรฐานออกมารองรับสังคม ซึ่งมองในแง่ของ การสร้างความเท่าเทียมในสังคมและประสิทธิผล ซึ่งปัญหาที่เกิดบนโลกวันนี้ ไม่ว่าสิทธิมนุษยชน โลกร้อน ฯลฯ ไม่ใช่ปัญหาระดับประเทศแต่เป็นปัญหาระดับโลก ที่การแก้ปัญหาต้องใช้ความร่วมมือจากทั่วโลก ซึ่งต้องการมาตรฐาน มองเรื่องนี้ไปในทิศทางเดียวกัน" นายศุภชัยกล่าว

ปัจจัยภายนอกที่กดดัน
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวเช่นเดียวกันว่า การทำ CSR ในไทยปัจจุบันแม้ว่าส่วนหนึ่งจะเกิดขึ้นจากจิตสำนึก แต่อีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นกระแสที่มาแรงคือการที่องค์กรต้องทำเพราะเกิดจากกระแสกดดันจากปัจจัยภายนอก อย่างกรณีบริษัทสิ่งทอแห่งหนึ่งที่ปิดตัว ไม่เพียงแต่ปัญหาจากค่าเงินบาทเท่านั้น มีข้อเท็จจริงบางประการที่น่าสนใจว่าโรงงานดังกล่าวไม่ผ่านเกณฑ์ เมื่อถูกคู่ค้าบริษัทที่จ้างผลิตเข้ามาตรวจสอบจึงไม่สามารถส่งออร์เดอร์ได้

"การที่ถูกกดดันจากภายนอก กดดันทำให้ธุรกิจจะต้องปรับตัว โดยต้องสามารถชี้ให้เห็นได้ว่าเรารับผิดชอบต่อผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดอย่างไร ผมมีโอกาสคุยกับกลุ่มคนที่เข้ามาตรวจมาตรฐานโรงงาน และพบว่าถ้าโรงงานไม่ได้มีความรับผิดชอบจริง เวลาเขามาตรวจสอบก็จะไม่สามารถยืนยันสิ่งที่ทำได้ เพราะนอกจากเขาสัมภาษณ์ผู้บริหารแล้ว ก็จะสุ่มสัมภาษณ์พนักงานในประเด็นที่ละเอียดมาก เช่น ได้ค่าแรงเท่าไหร่ มีจ่ายเงินค่าล่วงเวลาหรือไม่ หรือโรงงานมีมาตรฐานในการดูแลเรื่องความปลอดภัยอย่างไร ฉะนั้นถ้าไม่ได้ทำจริงๆ ก็จะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากที่จะผ่านมาตรฐานที่ทางบริษัทคู่ค้ากำหนด" ดร.พิพัฒน์กล่าว

ฉะนั้นการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบที่แท้จริงเท่านั้นจึงจะเป็นทางรอดของธุรกิจได้

ความพึงใจลูกค้าที่ไม่หยุดแค่ 4P
ด้านนายอนันตชัย ยูรประถม นักวิชาการด้าน CSR โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากกรณีของไทยศิลป์ นั้นสะท้อนให้เห็นภาพชัดว่า การดำเนินธุรกิจจะคำนึงถึงหลักทางการตลาดเพียงเท่าเดิม อย่างการแข่งขันเรื่องคุณภาพ ราคา ฯลฯ ไม่ได้แล้ว แต่ประเด็นหนึ่งที่ธุรกิจจะต้องดำเนินการใส่ใจคือเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม หากจะมองว่าเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าเพียงมิติเดียวอาจจะไม่ถูกต้องนัก เพราะที่สุดอย่างประเด็นเรื่องการดูแลพนักงาน ประโยชน์สูงสุดที่จะตกอยู่ก็คือแรงงานซึ่งเป็นคนในสังคมไทย

"วันนี้โลกเปลี่ยนไป การทำธุรกิจที่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพึงพอใจของลูกค้าก็ต้องเปลี่ยนไป เพราะวันนี้ลูกค้าไม่ได้ต้องการเพียงราคาที่ดีที่สุด หรือเพียงแค่คุณภาพสินค้าที่ดีที่สุด สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาคือลูกค้าต้องการให้ธุรกิจมีความรับผิดชอบ" นายอนันตชัยกล่าวในที่สุด

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ "ไทยศิลป์" จึงเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ที่สะท้อนให้เห็นว่ามาตรฐานต่างๆ ภายใต้กรอบ CSR กำลังจะกลายเป็นสิ่งที่ต้องทำ และจะเป็นระเบิดเวลาที่พร้อมจะระเบิดทุกเมื่อ หากองค์กรปฏิเสธความใส่ใจที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้ !!


[Original Link]