Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ธุรกิจตั้ง"ซีอาร์โอ"บริหารภารกิจเพื่อสังคม


สถาบันไทยพัฒน์ชี้แนวโน้ม "ซีเอสอาร์" ปี 2551 องค์กรธุรกิจเกาะกระแสโลกร้อน ผุดกิจกรรมซีเอสอาร์ด้านสิ่งแวดล้อม จับตาตำแหน่งใหม่ "ซีอาร์โอ" โผล่ในองค์กร รับบทบาทบริหารความรับผิดชอบต่อสังคมประจำองค์กร ชี้องค์กรทำซีเอสอาร์อย่างมีพันธะ ต่อสังคม จะขยับมาสร้างสมรรถนะในการทำซีเอสอาร์เพื่อวัดผล และเสนอรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนแก่สังคม ขณะที่ธุรกิจหลายแห่งผนึกพันธมิตรทำซีเอสอาร์ร่วมกัน

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวถึง สถานการณ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ หรือ บรรษัทบริบาล (Corporate Social Responsibility : CSR : ซีเอสอาร์) ในปี 2551 ว่า จะยังคงมีความเคลื่อนไหวคึกคักอย่างต่อเนื่องจากแรงส่งในปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้ ทิศทางหลัก ในการขับเคลื่อน ซีเอสอาร์ จะมีการพัฒนาสู่การยกระดับการสร้างสมรรถนะแห่งความรับผิดชอบของกระบวนการซีเอสอาร์ ในลักษณะที่เป็น High Performance CSR รวมถึงการจับมือร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคมในรูปแบบ “JOINT-RESPONSIBILITY” มากขึ้น

ทั้งนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้ศึกษาวิจัยพร้อมสรุปแนวโน้มพัฒนาการของซีเอสอาร์จากปี 2550 สู่ปี 2551 ไว้ 6 ทิศทาง คือ ธุรกิจจะพัฒนากิจกรรมเพื่อสังคม ประเภท “ECO-CONSCIOUS” เพิ่มขึ้น เนื่องจากกระแสโลกร้อนที่กลายเป็นปัญหาระดับโลก ทำให้องค์กรธุรกิจที่มีแผนพัฒนากิจกรรมซีเออาร์ในปีนี้ ต่างให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากประเด็นในเรื่องคน , บทบาท “CRO” (Corporate Responsibility Officer) จะปรากฏโฉมในผังองค์กร ในชื่อตำแหน่งที่เรียกแตกต่างกัน แต่มีภาระงานเดียวกัน คือ การบูรณาการงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ลดความซ้ำซ้อน และสร้างให้เกิดผลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

กลยุทธ์ซีเอสอาร์ จะพัฒนาจากระดับที่แสดงถึง “พันธะ” สู่ระดับที่มุ่ง “สมรรถนะ” ปีที่ผ่านมา องค์กรธุรกิจหลายแห่งได้แสดงถึงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนซีเอสอาร์ ด้วยการสร้างพันธะแห่งความรับผิดชอบต่อสังคมขึ้นในลักษณะ Engaged CSR ในปีนี้ ธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จในการสร้างพันธะแห่งความรับผิดชอบต่อสังคมขึ้นในองค์กร จะยกระดับสู่การสร้างสมรรถนะแห่งความรับผิดชอบของกระบวนการซีเอสอาร์ในลักษณะที่เป็น High Performance CSR

ธุรกิจจะจับมือร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคมในรูปแบบ “JOINT-RESPONSIBILITY” เพิ่มขึ้น , การเผยแพร่ “SUSTAINABILITY REPORT” เพื่อสื่อสารกับสังคม จะมีมากขึ้น บริษัทที่ทำเรื่องซีเอสอาร์จะเสาะหาวิธีรายงานผลการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กรที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินงานได้อย่างชัดเจน มีรูปแบบของการรายงานผลที่เป็นมาตรฐานสากล และหน่วยงานของรัฐจะตื่นตัวเปิดมาตรการส่งเสริม CSR กันอย่างกว้างขวาง โดยการให้ความสำคัญกับการตั้งคณะทำงานหรือกลุ่มงานที่มีภารกิจในการส่งเสริมซีเอสอาร์ ขององค์กรธุรกิจมากขึ้น มาตรการส่งเสริมซีเอสอาร์ ในด้านต่างๆ จะถูกประกาศออกมาเป็นระยะๆ เช่น การลงทุนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (SRI) การพัฒนาซีเอสอาร์สำหรับ SMEs

ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า ในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ยังได้พัฒนาโครงการ ซีเอสอาร์อีก 2 โครงการ ได้แก่ การวิจัยและให้คำปรึกษา “การพัฒนาซีเอสอาร์เชิงกลยุทธ์” (Strategic CSR Development) เพื่อต้องการบอกว่า มีกิจกรรมใดบ้างที่องค์กรกำลังดำเนินอยู่แล้วนั้นเป็นกิจกรรมซีเอสอาร์ และกิจกรรมที่ว่านั้นจัดเป็นซีเอสอาร์ประเภทใด

การศึกษาและจัดทำ “แผนแม่บทซีเอสอาร์” (CSR Master Plan) ซึ่งเป็นเสมือนพิมพ์เขียวด้านบรรษัทบริบาลของหน่วยงาน เพื่อตอบสนองต่อภาวการณ์เปลี่ยนแปลงในวิธีการดำเนินธุรกิจที่จำต้องมีองค์ประกอบของซีเอสอาร์ภายในองค์กร และเพื่อให้ส่วนงานต่างๆ ขององค์กรได้มีกรอบในการดำเนินงานด้านบรรษัทบริบาลให้มีความเชื่อมโยงสอดคล้องกันอย่างมีกลยุทธ์ และให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน


[Original Link]