Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

CSR ทำธุรกิจต้องรับผิดชอบต่อสังคม


กระแสความตื่นตัวในเรื่องของ CSR หรือ Corporate Social Responsibility หรือการทำธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม นับวันจะยิ่งได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทุกวงการรวมทั้งตลาดทุนไทยพูดถึงเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง ในทางปฏิบัติแล้ว CSR จะช่วยให้องค์กรต่าง ๆ ประสบความสำเร็จได้อย่างไร และจริงๆแล้ว CSR สำคัญต่อการทำธุรกิจหรือไม่

ปัจจุบันคำว่า CSR หรือ Corporate Social Responsibility กลายเป็นคำที่ทุกวงการทั่วโลกรู้จัก สำหรับประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน มีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพของการคืนกำไรสู่สังคม มักจะถูก Focus ไปที่บริษัทขนาดใหญ่ อย่างเครือซีเมนต์ไทย หรือ ปตท. ที่มีการจัดสรรงบประมาณเพื่องานนี้โดยเฉพาะ มีหน่วยงานรับผิดชอบอย่างชัดเจน และที่สำคัญต้องเป็นนโยบายของบริษัทที่เกิดจากจิตสำนึกของผู้บริหารระดับสูง

นายยุทธ ชินสุภัคกุล ประธานกรรมการบริหาร บมจ. เอส แพ็ค แอนด์ พริ้นท์ บอกว่า CSR เป็นสิ่งที่ได้กำชับกับผู้บริหารแต่ละพื้นที่ อย่างโรงงานที่หาดใหญ่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมต่อชุมชนที่เราอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการให้ความช่วยเหลือด้านสิ่งแวดล้อม หรือการศึกษา การให้งานแก่พนักงานที่อยู่แถวโรงงาน เช่นเดียวกับโรงงานที่บางกระดี่ เราก็ใช้วิธีการเดียวกันครับ

ด้านนายอธิป พีชานนท์ กรรมการและ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ศุภาลัย ก็ย้ำว่า ศุภาลัย เราไปตรงไหนก็พยายามไปบูรณะแถวนั้น ถนนหนทางไม่ดี เราก็ไปทำให้มันดีขึ้น ตรงจุดไหนไม่มีน้ำประปา ถึงแม้เราต้องใช้น้ำประปา เราก็ขยายท่อประปาให้มีขนาดใหญ่ขึ้นมากกว่าที่เราต้องการ บางแห่งท่อระบายน้ำใช้ไม่ได้ เราก็เป็นคนทำท่อเข้าไป บางแห่งมีสถานศึกษาอยู่ด้วยเราก็เข้าไปช่วยทำให้มันดีขึ้นนะครับ

นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้จัดการ บมจ.โออิชิ กรุ๊ป เน้นว่า เป็นหน้าที่ของทุกบริษัท โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียน CSR คือทุกคนต้องมีส่วนร่วมในสังคม เพียงแต่ว่าการทำธุรกิจต้องมีกำไร แต่ส่วนหนึ่งเราก็ต้องทำประโยชน์ในสังคม ไม่จำเป็นต้องทำมากเกินไป แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี และให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะเมื่อไหร่ที่เรากับลูกค้ามีความผูกพัน ซึ่งผมคิดว่า โออิชิ ทำมาตลอด เพียงแต่ไม่เน้นโฆษณา ไม่ว่าจะตอนสึนามิ หรือน้ำท่วม จะเห็น โออิชิไปทุกที่ เราจะไปคนแรกด้วยซ้ำไป

สำหรับเครือซิเมนต์ไทย (SCG) หนึ่งในบริษัทเอกชนที่เน้นถึง CSR มาโดยตลอดยืนยันถึงแนวคิดของความสัมพันธ์ระหว่างสังคมกับการทำธุรกิจ

“ในแง่ของ SCG เรามองว่าธุรกิจกับสังคมมันไปด้วยกัน สังคมเข้มแข็ง คนในสังคมสบาย มีความสุข มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มันก็ทำให้ธุรกิจไปได้ดีด้วย ผมเห็นว่าเป็นความจำเป็นอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็คงเป็นในแง่ของสำนึกที่ว่า เราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นส่วนหนึ่งที่จริง ๆ แล้วก็ทำการค้าของธุรกิจออกมาได้ และเจริญเติบโตมาได้ถึงปัจจุบันก็เพราะสังคมช่วยเหลือ ช่วยซื้อสินค้าของเรา คนที่อยู่รอบ ๆโรงงานให้การสนับสนุน เพราะฉะนั้นเราเองเราก็มองว่าถ้ามีอะไรที่สามารถช่วยเหลือตรงนี้ได้ ก็ต้องสำนึกทำตัวเป็นคนดี” นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ เครือซิเมนต์ไทย (SCG) กล่าว

เช่นเดียวกับปตท.ที่ตอกย้ำแนวคิดที่ว่า ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ต้องเป็นสิ่งที่ดำเนินไปพร้อม ๆ กัน “เรื่อง CSR ไม่สามารถดูในธุรกิจเพียงลำพังได้ ต้องผนวกเข้ามาเป็นธุรกิจของเราคือ ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ก็คือ Customer หนึ่งเหมือนกัน เพราะมีส่วนได้เสีย เป็น ผู้ถือหุ้นเพราะฉะนั้นเวลาเราคิด ถ้าธุรกิจก็ต้องคิดถึงสังคม ต้องคำนึงถึงสังคมตั้งแต่ต้น คิดถึงสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้น ว่าได้รับผลกระทบบ้างหรือไม่ ผู้บริหารระดับสูงต้องให้ความสำคัญกับ CSR เพราะเป็นผู้ที่ควบคุม CSR นะครับ” ดร.ส่งเกียรติ ทานสัมฤทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี บมจ.ปตท กล่าว


งานวิจัยจากสถาบันคีนันแห่งเอเชีย เมื่อปี 2548 ระบุว่าผู้บริโภคชาวไทยมีความเข้าใจเรื่อง CSR ในระดับ 3.8 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มเข้าใจและเห็นว่าการรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญและยังเป็นเหตุผลให้กว่า 50% ตัดสินใจซื้อสินค้าจากบริษัทที่รับผิดชอบต่อสังคมและ 100% ของผู้บริโภคชาวไทย คาดหวังให้องค์กรธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทข้ามชาติ บริษัทขนาดใหญ่ กลาง หรือ เล็ก แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มขึ้นในอีก 3 ปี ข้างหน้า

แต่ปัจจุบัน ด้วยกระแสที่กำลังมาแรงของ CSR ทำให้วัตถุประสงค์ของการทำ CSR บิดเบือนไป เกิดเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Social Market หรือการที่องค์กรหลายแห่ง ได้นำเรื่อง CSR มาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจ

นายวัฒนา โอภานนท์อมตะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานด้านบริหารและเทคโนโลยีสารสนเทศ บมจ.บางจาก ปิโตรเลียม ชี้ให้เห็นว่า CSR ไม่ใช่เรื่องของ Social Market แต่เป็นสิ่งที่ต้องสร้างจากจิตสำนึก

ในแง่การเป็น Social Market เอง ผมไม่แน่ใจว่าผลจะออกมาดีหรือไม่อย่างไร แต่ถ้าแนวคิดตรงนี้เอง หลายองค์กรไม่เข้าใจว่า CSR พื้นฐานต้องสร้างมาจากจิตสำนึก ถ้ามันเป็นจุดเริ่มต้นของการที่ทำธุรกิจ แต่เรามาทำกันตรงปลายทาง ไปหากระบวนการที่ได้กำไรสูงสุดมาก่อนแล้วไม่ได้สนใจกระบวนการที่ได้มาซึ่งกำไรนั้น สุดท้ายค่อยเอารายได้ที่ได้มาไปบริจาค ผมมองว่าเรามาให้ตอนหลัง ซึ่งเราอาจจะไปทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องเลยตั้งแต่แรก”

ในเวทีของการค้าโลก กระแสของ CSR ทวีความรุนแรงมาตั้งแต่ 2543 หลังจากที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาหรือ OECD ได้มีการออกแนวปฎิบัติสำหรับบริษัทข้ามชาติที่เข้มข้นขึ้น โดยมีการเสนอแนะให้บริษัทข้ามชาติมี CSR และยังเสนอให้บริษัทข้ามชาติติดต่อค้าขายกับคู่ค้าทั่วโลกเฉพาะที่มี CSR เท่านั้น และในอนาคตอันใกล้ มาตรฐาน ISO 26000 ว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศใช้เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศในเดือนตุลาคม 2551 จะมีบทบาทมากขึ้นในการเป็นมาตรฐาน CSR ที่ทั่วโลกยอมรับ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้ารูปแบบใหม่นั่นเอง

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า ในตอนนี้ถึงแม้มาตรฐานในการทำ CSR จะยังไม่ออกมา แต่มันก็กลายเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้า อย่างโรงงานที่ปิดกิจการไปหลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องพิษของค่าเงินบาท แต่พอไปดูลึก ๆ เข้าจริง ๆ แล้วเป็นเรื่องของ CSR ล้วนๆเลย คือจะเข้ามาดุว่าดูแลพนักงานเป็นธรรมหรือไม่ มีสวัสดิการของพนักงานแบบไหน ถ้าเราไม่ทำให้ผ่านหรือไม่ทำตามมาตรฐาน กฎระเบียบก็ไม่ให้ออร์เดอร์ ก็จะเห็นว่าเอามาใช้ในเรื่องการค้าไปโดยปริยาย ซึ่งภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัว

ในภาคของตลาดทุน การทำ CSR นอกจากจะส่งผลดีต่อความยั่นยืนขององค์กรแล้ว ประโยชน์ที่จะได้รับยังส่งผลทางอ้อมให้องค์กรมีความน่าสนใจมากขึ้นในมุมมองของนักลงทุนสถาบันด้วย

นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หนึ่งในผู้บริหารกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดกองทุนหนึ่งในประเทศ บอกว่า อยากจะลงทุนในบริษัทที่มี CSR มากกว่าบริษัทที่ไม่มี CSR เพราะมองว่า บริษัทที่มี CSR เป็นบริษัทที่มีความยั่งยืนในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกองทุนระยะยาว ที่เห็นความสำคัญกับความยั่งยืนทางธุรกิจ อย่างไรก็ตามนายวิสิฐเชื่อว่า บริษัทที่เน้นเรื่องการทำ CSR ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อให้คนเข้ามาลทุน แต่เป็นเพราะอยากให้บริษัทมีความยั่งยืน

แม้ว่าแนวโน้ม (Trend) เทรนด์ของการทำ CSR กำลังได้รับความสนใจ แต่ยังมีปัญหาอีกมากในทางปฏิบัติหลายบริษัทยังไม่มั่นใจ ว่าแนวทางที่กำลังดำเนินการอยู่ถูกต้องหรือไม่ ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้จัดตั้ง “สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม” เพื่อสนับสนุนการทำ CSR ของภาคธุรกิจ ที่คำนึงถึงผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และสอดคล้องกับความต้องการขององค์กรและชุมชน รวมทั้ง สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

นางนงราม วงษ์วานิช กรรมการผู้อำนวยการ สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม กล่าวว่า อยากให้สังคมไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ขณะเดียวกันก็อยากกระตุ้นให้มีการทำเรื่อง CSR อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น การตั้งสถาบันธุรกิจเพื่อสังคมก็ เพื่อเป็นตัวกลางในการประสานงานระหว่างผู้ให้กับผู้รับ ซึ่งที่ผ่านมา ผู้รับก็มีอยู่พวกที่ทำกิจกรรมด้านนี้อย่างพวก NGO ทางด้านผู้ให้ก็เช่น บริษัททั่วไป ตัวบริษัทจดทะเบียนหลายบริษัท ก็เป็นผู้ให้อยู่อย่างสม่ำเสมอ แต่ก็มีบางบริษัทที่คิดอยากจะทำก็อาจจะทำไม่ถูก หรือทำยังไม่ได้ผลดีมากนัก ตัวสถาบันจะเป็นตัวกลางในการประสานงาน อาจจะให้มาเจอกัน ให้ข้อมูลข่าวสาร เพื่อที่จะทำให้การทำ CSR เป็นรูปธรรมมากขึ้น

ความสำคัญของ CSR ในประเทศไทยล่าสุดนั้น ได้ถูกกำหนดเป็นวาระแห่งชาติแล้ว โดยคุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะประธานคณะที่ปรึกษาสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ได้กล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลในการให้ความสำคัญและพร้อมที่จะส่งเสริมให้เกิดจิตสำนึกและการปฏิบัติที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง รวมทั้งได้จัดตั้งหน่วยงานเพื่อผลักดันเรื่องการส่งเสริมให้มีการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม สิ่งแวดล้อมและชุมชนขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อร่วมทำงานพร้อมกับภาคเอกชนด้วย


[Original Link]