Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

CSR กับการบริโภคที่ยั่งยืน


ความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ได้กลายเป็นต้นทุนการผลิตและการบริโภคในอนาคต เนื่องจากคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว เช่น มลพิษในอากาศ น้ำเสีย ความเสื่อมโทรมของคุณภาพดินและสารพิษและกากของเสียที่สะสมขึ้นอย่างรวดเร็ว มีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อคุณภาพชีวิตของคนในสังคม

ทศวรรษที่ผ่านมาได้มีการรณรงค์เรื่อง การผลิตที่ยั่งยืน (Sustainable Production) เพื่อให้กระบวนการผลิตสินค้าและบริการที่มุ่งตอบสนองความต้องการที่จำเป็นดำเนินไปได้โดยไม่สร้างความเสียหายแก่สภาพแวดล้อม จนกลายเป็นข้อจำกัดของการผลิตและการบริโภคในอนาคตระยะยาว ในด้านอุปทานจึงเป็นการมุ่งเน้นที่จะปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมในการผลิต ทั้งในเรื่องของการเลือกใช้วัตถุดิบที่ไม่เป็นกากของเสียที่ทำลายสิ่งแวดล้อม การใช้วัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพและไม่สิ้นเปลืองทั้งจากการพัฒนาเทคโนโลยีและทรัพยากรมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการเลือกใช้เทคโนโลยีที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการบริหารจัดการกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิผลการผลิต

ขณะที่ในด้านอุปสงค์ ได้มีแนวคิดของการบริโภคที่ยั่งยืน (Sustainable Consumption) เกิดขึ้นควบคู่กับเรื่องการผลิตที่ยั่งยืน โดยองค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้นิยามไว้ในเอกสาร Advancing Sustainable Consumption in Asia : A Guidance Manual ซึ่งเผยแพร่ในปี 2548 ว่าเป็นแนวทางของการบริโภคสินค้าและบริการเพื่อสนองความต้องการที่จำเป็นอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล พร้อมไปกับการลดผลกระทบเชิงลบทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทั้งในยุคปัจจุบันและในอนาคต อันก่อให้เกิดผลเกี่ยวเนื่องสู่สิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

แนวคิดเรื่องการบริโภคที่ยั่งยืนได้รับการบรรจุไว้ในแนวปฏิบัติว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคของสหประชาชาติ (the United Nations Guidelines for Consumer Protection) เมื่อปี 2538 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการนำสาระสำคัญเรื่องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคใน “แผนปฏิบัติการ 21” (Agenda 21) เพื่อพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในศตวรรษที่ 21 ซึ่งได้รับการรับรองจากการประชุม Earth Summit ที่นครริโอ เดอ จาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ในปี 2535 มาผนวกไว้เพิ่มเติมจากแนวปฏิบัติฯ ฉบับเดิมที่ได้รับฉันทามติจากที่ประชุมใหญ่แห่งสหประชาชาติในปี 2528 แนวปฏิบัติฯ ฉบับปรับปรุงล่าสุดนี้ ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติในปี 2542

แนวทางการบริโภคที่ยั่งยืนได้ถูกพัฒนาขึ้นบนหลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ซึ่งนิยามโดย Brundtland Commission เมื่อปี 2520 ว่าเป็นการพัฒนาที่สามารถสนองความต้องการที่จำเป็นของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่กระทบต่อขีดความสามารถในการสนองความต้องการที่จำเป็นของคนในรุ่นต่อไป

แนวคิดหลักของการบริโภคที่ยั่งยืน จึงเป็นการบริโภคที่สามารถสนองความต้องการที่จำเป็นของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่กระทบต่อขีดความสามารถในการสนองความต้องการในการบริโภคที่จำเป็นของคนในรุ่นต่อไป

ประเด็นสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจคือ การบริโภคที่ยั่งยืนนั้น มิได้หมายถึง การบริโภคให้น้อยลง (less consumption) แต่มุ่งหมายถึงการบริโภคที่มีประสิทธิภาพ (more efficient) ด้วยความรอบรู้ (better informed) และผลาญทรัพยากรให้น้อยลง (less resource intensive) ฉะนั้น คนยากจนจึงสามารถที่จะบริโภคเพิ่มขึ้นให้เพียงพอต่อความต้องการที่จำเป็นตามแนวทางการบริโภคที่ยั่งยืนได้

การส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืนประเทศไทยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ได้มีการนำเอากลยุทธ์การตลาดสีเขียว (Green Marketing) มาใช้ในภาคธุรกิจ ทำให้ประเทศไทยเริ่มมีสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือสินค้าสีเขียว (Green Products) ออกสู่ตลาดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเติบโตของตลาดสีเขียวของประเทศไทยยังช้ากว่าประเทศอื่นๆ มาก เนื่องจากผู้บริโภคไทยไม่ค่อยผนวกเอาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นข้อพิจารณาในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ จึงทำให้การตลาดสีเขียวของไทยยังไม่ประสบความสำเร็จมากเท่าใดนัก การรณรงค์ให้ผู้บริโภคมีความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมหรือเป็นผู้บริโภคสีเขียว (Green Consumers) อย่างจริงจัง จึงเป็นภารกิจที่ต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง

เพื่อให้การขับเคลื่อนการบริโภคที่ยั่งยืนในสังคมไทยเกิดผลในเชิงรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ศูนย์ส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงได้ร่วมกับ สถาบันไทยพัฒน์ และหอการค้าไทย โดยได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จัดการประชุมโต๊ะกลมว่าด้วยการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ภายใต้หัวข้อ “สังคมไทยกับแบบแผนการบริโภคที่ยั่งยืน” ในวันพฤหัสบดีที่ 27 มี.ค. 2551 ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 3 อาคาร 60 ปี กรมประชาสงเคราะห์ (บ้านราชวิถี) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมุ่งเน้นที่กลุ่มผู้บริหาร ผู้แทนจากภาคเอกชนและองค์กรธุรกิจต่างๆ มาร่วมระดมความเห็น โดยมีการนำเสนอภาพรวมของการส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืนในประเทศไทย พร้อมกับการอภิปรายสถานการณ์การบริโภคในปัจจุบันที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการระดมสมองเพื่อค้นหาแนวทางปฏิบัติด้าน CSR ในการส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการร่วมกำหนดนโยบาย CSR และร่วมผนึกความรับผิดชอบต่อสังคม ในการส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม


[Original Link]