Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

3 P กับความยั่งยืน

วรนุช เจียมรจนานนท์

(บางส่วน)

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ ผู้ดำเนินงานวิจัยเกี่ยวกับ CSR กล่าวว่า แนวคิดของ 3 P ได้แก่ People คนหรือสังคม , Planet โลกหรือสิ่งแวดล้อม และ Profit กำไร เริ่มเป็นกระแส CSR ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ในการทำธุรกิจสู่ความยั่งยืน

“ยิ่งองค์กรใส่ใจผลกำไรมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีผลทำให้คนหรือสังคมกับโลกหรือสิ่งแวดล้อมถูกทำลายมากขึ้นเท่านั้น หน้าที่ของบริษัทก็ต้องหันมามองสองประเด็นหลัง ยิ่งทำลายไปมากก็ต้องยิ่งเติมเต็มเข้าไปให้มาก ทำให้สมดุลกัน”

เพราะหนึ่งในหลักของความยั่งยืน คือการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างคุ้มค่า และเหลือพอสำหรับคนรุ่นต่อไป

แนวทางจากนี้องค์กรใหญ่ๆ จะมุ่งไปที่ความยั่งยืนเป็นเป้าหลัก และตอกย้ำให้สังคมเข้าใจ แต่ละบริษัทจะมีวิธีคิดคล้ายคลึงกัน แต่จะมีแนวทางที่ต่างกันออกไป

อย่างไรก็ดี สำหรับองค์กรที่ยังต้องมุ่งการอยู่รอดทางธุรกิจ การแสดงความรับผิดชอบสังคมสามารถทำได้ในมุมของการใส่ใจดูแลพนักงาน ให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ทุกคนมีสิทธิอันชอบธรรม มีทักษะในงาน สร้างเสริมคนให้มีคุณธรรม ซึ่งสุดท้ายก็จะไปสร้างความเข้มแข็งให้องค์กร และนำไปสู่การสร้างสรรค์ CSR ในมุมที่กว้างออกไป

รวมถึงกลยุทธ์ CSR ในการดูแลใส่ใจสินค้า และห่วงใยผู้บริโภค ก็ถือเป็นอีกประเด็นทางสังคมที่ทำได้ และถือเป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้ว

CSR เมืองไทยมาในจุดที่กำลังโตและจะยังพัฒนาต่อไปได้ไกลอีก ที่ผ่านมาธุรกิจมีการเรียนรู้และมีความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวหลายระดับด้วยกัน บางองค์กรทำได้ดีและพัฒนาไปถึงขั้นก้าวหน้า แต่บางองค์กรเพิ่งจะศึกษา หรือมีอยู่แต่ไม่รู้ว่าจะจัดแนวทางอย่างไร สิ่งเหล่านี้มีผลทำให้ CSR ยังเติบโตอย่างเป็นพลวัต

กรณีศึกษาซีพีเอฟถึงแนวทางการจัดการ CSR เขามองว่า แยกได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกอยู่ในกระบวนการธุรกิจ และกลุ่มหลังอยู่นอกกระบวนการ ซีพีเอฟเป็นธุรกิจที่อยู่ในกระบวนการผลิต ต้องมอง CSR ว่าเชื่อมต่อกับการปฏิบัติงานขนาดไหน หรือมีส่วนกระทบสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงไร

ซึ่งโดยภาพรวมแนวทางของซีพีเอฟ ทั้งการทำ CSR ในและนอกกระบวนการ จะมุ่งเน้นกับกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กรเป็นสำคัญ

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ หลายองค์กรมักมีข้อจำกัดในการสื่อความเรื่องของการทำ CSR ไม่รู้ว่าใช่หรือไม่ใช่ หรือไม่รู้ว่าจะส่งข้อความออกไปอย่างไร โดยไม่รู้สึกว่าเป็นการอวดตัว

เขาอธิบายว่า เหมือนกับการทำบุญ เราอาจรู้อยู่คนเดียวก็ได้ หรืออาจจะไปบอกต่อเชิญชวนคนอื่นให้มาอนุโมทนาบุญก็ได้ ไม่ใช่ไปบอกเพื่อโอ้อวดบุญ การสื่อสารในองค์กรต้องมอง 2 ระดับ ระดับแรกสื่อสารภายในให้พนักงานได้รู้กัน สามารถเป็นตัวแทนบอกต่อกับคนนอก เป็นการบอกบุญและเป็นเรื่องที่ดี ระดับสองการสื่อสารกับภายนอก เป็นจุดเปราะบางตรงที่ บางแห่งอาจทำจริงแค่ขั้นตอนการสื่อสาร ชวนเชื่ออวดอ้างความดี แต่เวลาทำจริงอาจไม่เหมือนกับที่พูดไว้

“อย่ามอง CSR เป็นสินค้า แต่ให้มองว่าเป็นกระบวนการต่อเนื่อง ที่จำต้องมีเทคนิคในการสื่อสารออกไป ทำด้วยความเรียบง่าย จริงใจ ถ่อมตัว สื่อสารให้สังคมรับรู้ แล้วสังคมได้เฉลี่ยกับสิ่งที่องค์กรทำ”

ก่อนหน้านี้เครือปูนซิเมนต์ไทยเพิ่งประกาศวาระแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือ SD : Sustainable Development ซึ่งคำนี้เป็นคำที่ใหญ่กว่า CSR เป็นการมองว่าองค์กรต้องมีพฤติกรรมอะไรที่เปลี่ยนไปบ้าง ถึงจะมีผลต่อการทำให้ยั่งยืน CSR จึงเป็นขอบเขตที่องค์กรจะต้องปฏิบัติกับสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม นอกจากหากำไร เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น

ดร.พิพัฒน์อธิบายเพิ่มเติมว่า ยังมีอีกคำหนึ่ง SCP : Sustainable Consumption, Sustainable Production ซึ่งเป็นอีกแนวทางยั่งยืน ที่มองครอบคลุมถึงเรื่องการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ฝั่งองค์กรต้องผลิตสินค้าและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ประหยัด ขณะที่ผู้บริโภคจะทำอย่างไรถึงจะสร้างพฤติกรรมการบริโภคสินค้า ที่ผลิตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นแนวคิดที่จะไม่ผลิตฟุ่มเฟือยเกินไป คำนึงถึงการบริโภค และไม่ก่อให้เกิดของเหลือตามมา

จากนี้ไปมุมมองของสังคม สิ่งแวดล้อม จะถูกผนวกเข้ากับธุรกิจมากขึ้นเป็นเนื้อเดียวกัน การทำ CSR ไม่ว่าจะมากหรือน้อย เขามองว่าเป็นการแสดงถึงเจตนาที่ดี แต่จะสอบตกหรือสอบผ่านต้องดูที่การกระทำซึ่งเป็น performance ว่าสิ่งที่พูดไว้ว่าจะทำ สุดท้ายแล้วได้ทำอย่างที่พูดไว้หรือไม่ และเป็นจริงขึ้นมาเพียงไร



[Original Link]