Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ถอดรหัสการบริโภค"ยั่งยืน" ด้วยซีเอสอาร์

ศรัญยู ตันติเสรี


ความเสื่อมโทรมและความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่เกิดขึ้นจากผลผลิตในทศวรรษที่ผ่านมา ได้กลายเป็นต้นทุนการผลิตและการบริโภคในอนาคต จนท้ายที่สุดได้มีการรณรงค์เรื่องของ การผลิตที่ยั่งยืน (Sustainable Production) เพื่อให้กระบวนการผลิตสินค้าและบริการมุ่งตอบสนองความต้องการที่จำเป็น โดยไม่สร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นที่ผ่านมาเราจึงได้เห็นภาคธุรกิจมีการใช้วัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดความสิ้นเปลืองและกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และการผลิตที่ยั่งยืนนี้คือหนึ่งใน CSR (Corporate Social Responsibility) ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม กระบวนการของ CSR ในบริบทของภาคธุรกิจนี้จะสมบูรณ์แบบได้จะต้องมีการส่งเสริมให้เกิดแนวคิดของ การบริโภคที่ยั่งยืน (Sustainable Consumption) หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือต้องเกิดขึ้นควบคู่กับเรื่องการผลิตที่ยั่งยืนนั่นเอง ซึ่งแนวคิดของการบริโภคที่ยั่งยืนนี้เกิดขึ้นโดยองค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ที่ได้นิยามไว้ในเอกสาร Advancing Sustainable Consumption in Asia: A Guidance Manual ซึ่งเผยแพร่ในปี 2548 ว่าเป็นแนวทางของการบริโภคสินค้าและบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการที่จำเป็นอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล พร้อมไปกับการลดผลกระทบเชิงลบทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในปัจจุบันและอนาคต อันก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

ทั้งนี้เมื่อย้อนกลับมามองที่ประเทศไทยพบว่า การส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืนในภาคธุรกิจไทยระยะ 10 ปีที่ผ่านมา กลยุทธ์หลักอย่างหนึ่งที่ถูกนำมาใช้คือ การตลาดสีเขียว (Green Marketing) ทำให้มีสินค้าที่ออกสู่ตลาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Products) มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าถามถึงความสำเร็จด้านกลยุทธ์ Green Marketing ในประเทศไทยเป็นอย่างไรก็ต้องบอกว่า ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากผู้บริโภคไทยยังไม่ให้ความใส่ใจกับประเด็นนี้เท่าที่ควร

Green Marketing คือการบริโภคที่ยั่งยืน
ชวันรัตน์ จันสา นักวิจัยสถาบันไทยพัฒน์ บอกถึงสาเหตุดังกล่าวว่า สิ่งที่ Green Marketing ไม่ประสบความสำเร็จเป็นเพราะว่าผู้บริโภคคนไทยยังไม่ค่อยได้คำนึงถึง หรือไม่ได้นำเรื่องของสิ่งแวดล้อมมาเป็นปัจจัยหลักในการเลือกซื้อสินค้า ประกอบกับที่ผ่านมาการรณรงค์เรื่องนี้ยังมีน้อยเกินไป ดังนั้นความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้จะต้องเกิดจากความร่วมมือทั้งภาครัฐ ผู้ผลิต และ ผู้บริโภค โดยภาครัฐจะต้องมีการรณรงค์อย่างแข็งขัน เช่นเดียวกับผู้ผลิตซึ่งเป็นภาคเอกชนที่จะต้องทำการตลาดสีเขียวให้เข้มข้นขึ้น พร้อมกับสื่อไปยังผู้บริโภคให้เข้าใจ ขณะที่ผู้บริโภคก็ต้องมีจิตสำนึกร่วมกันไปด้วย

“Green Marketing เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการบริโภคที่ยั่งยืน และเป็นองค์ประกอบหลักของ CSR ลองสังเกตดูว่าสินค้าที่ขายได้อยู่ที่การตลาดและประชาสัมพันธ์ ถ้าผู้ผลิตประชาสัมพันธ์ให้มากเหมือนกับสินค้าอื่น สินค้าที่เป็น Green Products ก็จะขายได้เช่นกัน ทุกวันนี้ผู้บริโภคซื้อสินค้าดูที่แพ็คเกจจิ้ง ถ้าสวยงามดูโดดเด่นสะดุดตาก็ซื้อเลย โดยไม่ได้ใส่ใจในประสิทธิภาพของสินค้าหรือใส่ใจเรื่องกรีน ถ้าเป็นเช่นนี้การบริโภคอย่างยั่งยืนก็จะไม่เกิด เราต้องดูที่คุณค่าของผลิตภัณฑ์”

ชี้บริโภคยั่งยืนไม่ใช่บริโภคน้อยลง
ชวันรัตน์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้าน CSR ยังให้ความเห็นอีกว่าทุกวันนี้ผู้บริโภคยังมีความเข้าใจเรื่องของการบริโภคที่ยั่งยืนไม่ถูกต้อง โดยเข้าใจว่าการบริโภคที่ยั่งยืนนั้นเป็นการบริโภคให้น้อยลง (less consumption) ซึ่งถือเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะการบริโภคที่ยั่งยืนนี้หมายถึงการบริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ (more efficient) โดยอยู่บนความรอบรู้ (better informed) และมีการทำลายทรัพยากรให้น้อยลง (less resource intensive) ซึ่งแนวคิดหลักของการบริโภคที่ยั่งยืนนั้น จึงเป็นการบริโภคที่สามารถตอบสนองความต้องการที่จำเป็นของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่กระทบต่อขีดความสามารถในการสนองความต้องการที่จำเป็นของคนในรุ่นต่อไป

ภาครัฐกลไกขับเคลื่อน
นักวิจัยจากสถาบันไทยพัฒน์ ชี้ให้เห็นว่าการก่อเกิดของการบริโภคที่ยั่งยืนจะสามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม ภาครัฐจะต้องเป็นหัวเรือใหญ่ในการผลักดัน เพราะภาครัฐทั้งหน่วยงานส่วนกลางและท้องถิ่น ถือเป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่ง ที่สามารถสร้างแรงขับเคลื่อนให้ภาคการผลิตมุ่งไปสู่การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนให้เกิดการบริโภคที่ยั่งยืนได้ ไม่เพียงแค่งบประมาณที่ใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมีสัดส่วนที่สูงตั้งแต่ร้อยละ 11-17 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) แต่ภาครัฐยังมีการจัดซื้อจัดจ้างที่ครอบคลุมผลิตภัณฑ์หลากหลายตั้งแต่สินค้าทั่วไป จนถึงการก่อสร้างและบริการต่างๆ

ดังนั้นภาครัฐจึงเป็นกำลังสำคัญที่จะสนับสนุนให้เกิดความต้องการในสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Demand ในตลาด เพื่อให้เป็นกลไกขับเคลื่อนให้ผู้ผลิตและผู้ให้บริการใส่ใจรักษาสิ่งแวดล้อม หรือกลายเป็น Greening the Supply Chain ด้วยการออกข้อกำหนดสำหรับสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ยังไม่มีมาตรฐานฉลากเขียว การปรับปรุงกฎระเบียบให้หน่วยงานที่ภาครัฐต้องจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีการเลือกซื้อและใช้สินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

“ที่ผ่านมาเราได้เห็นการประกาศนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสินค้า และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐแล้ว โดยจะมีสัดส่วนถึงร้อยละ 50 ในปี 2554 ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามตรวจสอบ และปรับปรุงระบบและกลไกการจัดซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพและดำเนินการได้อย่างยั่งยืน” ชวันรัตน์ บอกพร้อมกับทิ้งท้ายว่า

ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดการบริโภคที่ยั่งยืนได้ก็คือ จิตสำนึกของผู้บริโภค แล้ววันนี้คุณให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากแค่ไหน



[Original Link]