Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ซีเอสอาร์แคมปัส ผนึกธุรกิจ-ประชาคมอีสาน

แตกยอด 'ดอกคูน โมเดล'

ศรัญยู ตันติเสรี

แม้ว่าเรื่องของ Corporate Social Responsibility : CSR จะถูกเรียกหานำหลักการไปประยุกต์ใช้กับภาคส่วนต่างๆ แต่ที่ผ่านมากลับพบว่าความเข้าใจในแก่นแท้ของ CSR และการดำเนินการนั้นยังกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และที่โดดเด่นก็ยังเป็นขององค์กรระดับใหญ่ ขณะที่ในระดับภูมิภาคกลับพบว่า เรื่องของ CSR ยังดูห่างไกล และเป็นเรื่องที่ยังต้องทำความเข้าใจ ซึ่งบางองค์กรแม้ว่าจะมีการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นใช่ CSR หรือไม่ สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) : ดีแทค และ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ได้ร่วมมือจัดทำ "โครงการส่งเสริมความรู้ CSR สู่ภูมิภาค" หรือ "CSR Campus" ขึ้น

โครงการนี้เป็นการจัดการฝึกอบรมและจัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่อง CSR แก่ผู้ที่สนใจในจังหวัดต่างๆ ยกระดับความรู้ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการในประเทศไทย รวมถึงการหาแนวทางการพัฒนากิจกรรมเพื่อสังคมให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละจังหวัด ภายใต้โมเดล “THAI CSR” ซึ่งการทำครั้งนี้จะดำเนินการครอบคลุม 75 จังหวัดทั่วประเทศ

พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ บอกว่า เป้าหมายของการดำเนินโครงการนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อการให้ความรู้กับผู้ประกอบการในองค์กรภาคเอกชนเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงระดับของภาครัฐ ทั้งหน่วยงานระดับตำบล อำเภอ และ ระดับจังหวัด รวมถึงภาคประชาชนด้วย ซึ่งทางสถาบันไทยพัฒน์และพันธมิตรทั้งหมดได้นำทีมนักวิชาการ ไปเปิดเวทีสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นกับนักธุรกิจและประชาชน ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

"ทุกวันนี้ความเข้าใจเรื่อง CSR กระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ที่ผ่านมาเราพบว่าในระดับภูมิภาค หลายหน่วยงานมีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก หลายแห่งต้องส่งพนักงานเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาฝึกอบรม ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูง ดังนั้นหากเราเดินทางไปให้ความรู้กับเขาถึงที่ จะทำให้ทุกฝ่ายเกิดความเข้าใจในบริบทของ CSR ได้ลึกซึ้ง อีกทั้งยังได้รู้ว่า สิ่งที่เขาทำนั้นใช่ CSR หรือไม่ ขณะที่ในส่วนของประชาชนจากการที่เราได้ทำไปแล้ว 12 จังหวัด ก็ได้รับการตอบรับการเข้าร่วมงานมาก รวมถึงผู้ประกอบการในระดับเอสเอ็มอี ซึ่งการจัดงานแต่ละครั้งจะมีผู้เข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 50 คน"

มุ่งสร้างสรรค์ ซีเอสอาร์ เฉพาะจังหวัด
พิพัฒน์ ยังบอกอีกว่า การทำโครงการส่งเสริมความรู้ CSR สู่ภูมิภาค หรือ CSR Campus นั้น ไม่ได้เพียงแค่การสัมมนาเชิงวิชาการเพื่อให้ความรู้เท่านั้น แต่ยังมีการเวิร์คชอป การทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อนำไปต่อยอดที่จะทำต่อไปในระดับองค์กร และในระดับจังหวัด ซึ่งผลที่ได้จะทำให้แต่ละจังหวัดได้ร่วมนำเอาเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นไปพัฒนาในระดับจังหวัดต่อไป

พิพัฒน์ ยังได้ยกตัวอย่างของการทำกิจกรรมในภาคอีสาน ซึ่งกำลังเปิดเวทีในภาคอีสาน ขณะนี้ โดยล่าสุด ได้ โมเดล ซีเอสอาร์เฉพาะอีก 7 จังหวัด ซึ่งจะสอดรับกับบริบทแต่ละพื้นที่ เช่น ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ "โครงการเกษตรอินทรีย์ บุรีรัมย์นำชีวิตยืนยาวข้าวไทย" โดยยกจุดเด่นของจังหวัดที่เคยมีชื่อเสียงด้านการทำเกษตรอินทรีย์ให้กลับมาได้รับความนิยม ด้วยกระบวนการจัดตั้งกลุ่มนำร่องในการใช้ปุ๋ยอินทรีย์แบบครบวงจรให้ทั่วทุกพื้นที่ของจังหวัด โดยส่งเสริมแนะนำให้ความรู้ พร้อมสนับสนุนปัจจัยบางส่วน มีการติดตามผล และดูแลทางด้านการตลาดให้มีกลุ่มรับซื้อและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ โดยอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชน กรมวิชาการเกษตร รัฐวิสาหกิจ และประชาชนทั่วไป มุ่งหวังที่จะให้มีความปลอดภัยในการบริโภค ลดค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพและทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น

ขณะที่ของจังหวัดกาฬสินธุ์ แนวทาง CSR มุ่งไปที่ "โครงการเศษไหมล้ำค่าแพรวาที่ระลึก" เนื่องจากจุดเด่นของจังหวัดนี้คือเรื่องของผ้าไหมแพรวาที่มีชื่อเสียงและมีการผลิตที่แพร่หลาย ทำให้มีเศษผ้าไหมจำนวนมากถูกทิ้งโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ โครงการนี้จึงมุ่งส่งเสริมให้มีการนำเศษผ้าดังกล่าวไปแจกจ่ายให้แก่โรงเรียนต่างๆ ที่ทำการเรียนการสอนในเรื่องของดอกไม้ประดิษฐ์ พร้อมทั้งส่งผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของการออกแบบไปสอนนักเรียนเพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญและมีความสวยงามในการประดิษฐ์ จากนั้นก็จะรับซื้อและนำไปวางขายเป็นสินค้าโอท็อปประจำชุมชน มุ่งหวังให้เกิดการสร้างอาชีพและรายได้เสริมของครอบครัว ตลอดจนรักษาผ้าไหมแพรวาให้คงอยู่คู่เมืองกาฬสินธุ์สืบต่อไป

"อารยธรรมสร้างสุข" CSR เมืองตักศิลา
กิจกรรมฝึกอบรมให้ความรู้ CSR สู่อีสาน ที่ จ.มหาสารคาม ตักศิลานคร มีการเปิดเวทีระดมสมองเพื่อค้นหาธีม CSR ปรากฏว่าโครงการที่ได้รับคัดเลือก ได้แก่ "โครงการอารยธรรมสร้างสุข" ที่จะระดมอาสาสมัครซึ่งมีความรู้ในเรื่องการปฏิบัติธรรม มาส่งเสริมการปฏิบัติธรรม ด้วยการจัดค่ายธรรมะแก่เยาวชนและประชาชนที่สนใจ โดยอาศัยความร่วมมือจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอารยธรรมสลับกับการฝึกปฏิบัติธรรม ขณะที่ส่วนงานราชการจะสนับสนุนในเรื่องของสถานที่ และภาคธุรกิจจะสนับสนุนในเรื่องพีอาร์ โดยมุ่งหวังกล่อมเกลาจิตใจเพื่อยกระดับให้จังหวัดมหาสารคามเป็นเมืองแห่งความสุข

เดินหน้าอีก 12 จังหวัดอีสาน มิ.ย.นี้
นอกจากนี้ คณะวิทยากรได้เปิดเวบไซต์ csrcampus.com เพื่อติดต่อข้อมูลข่าวสารต่างๆ พร้อมกับออกเดินสายค้นหาโมเดล CSR ในอีก 12 จังหวัดอีสานที่เหลือ โดยในวันที่ 10 มิถุนายน จัดสัมมนาที่โรงแรมฝ้ายขิด จ.อำนาจเจริญ และ จ.หนองบัวลำภู ที่ โรงแรมณัฐพงษ์แกรนด์ ในวันพุธที่ 11 มิถุนายน จ.มุกดาหาร ที่โรงแรมมุกดาหารแกรนด์ และ จ.หนองคาย ที่ โรงแรมหนองคายแกรนด์ ในวันพฤหัสบดีที่ 12 มิถุนายน จ.ยโสธร ที่โรงแรม เจ.พี.เอ็มเมอรัลด์ และ จ.อุดรธานี ที่โรงแรมเจริญศรีแกรนด์ ในวันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน จ.นครราชสีมา ที่ โรงแรมสีมาธานี จัดขึ้นวันที่ 19 มิถุนายน และ 20 มิถุนายน โดยจะมีการนำเอาบทสรุปทั้ง 19 จังหวัด มาจัดงานสัมมนาใหญ่ปิดภารกิจการเดินสายภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่โรงแรมเจริญธานี ปริ๊นเซส จ.ขอนแก่น


[Original Link]