Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ไทยพัฒน์เผยผลซีเอสอาร์ถิ่นแคนแดนอีสาน

เฮขอตัวช่วย ‘พัฒนาชุมชน-สังคม’ แก้วิกฤต
ด้านเจ้าภาพ จ.ขอนแก่น ชูซีเอสอาร์ฟื้น ‘จราจร-เยาวชน-ครอบครัว’



สถาบันไทยพัฒน์ แคท เทเลคอม ดีแทค และโตโยต้า ร่วมกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนของศูนย์ส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม และกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดการประชุมเชิงปฎิบัติการด้านซีเอสอาร์ (Corporate Social Responsibility: CSR) และการเสวนาเรื่อง “CSR ถิ่นแคนแดนอีสาน” ขึ้นที่ จ.ขอนแก่น โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งจากภาคธุรกิจเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคม นับร้อยคน

การประชุมดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ทางสถาบันไทยพัฒน์ แคท เทเลคอม ดีแทค และโตโยต้า เดินสายเปิดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ประกอบการและตัวแทนจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 19 จังหวัด โดยได้มาจัดประชุมใหญ่ภาคอีสานขึ้นที่ จ.ขอนแก่น เมื่อเร็วๆนี้

ในเวทีประชุมใหญ่นี้ ได้มีการสรุปภาพรวมผลการระดมสมองแนวนโยบายซีเอสอาร์ภาคอีสาน พบว่า การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม เป็นนโยบายซีเอสอาร์ที่ชาวอีสานเห็นว่ามีความจำเป็นต้องดำเนินการมากที่สุดถึง 44% รองลงมาคือ การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม (23 %) และอันดับ 3 คือการประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรม (17%) ที่เหลือเป็นเรื่องของการเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฎิบัติแรงงานอย่างเป็นธรรม (9%) และการกำกับดูแลกิจการหรือบรรษัทภิบาล (7%)


ทั้งนี้ ในการเปิดให้ทุกภาคส่วนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นตลอดจนการนำเสนอโมเดลซีเอสอาร์ เพื่อร่วมรับผิดชอบต่อสังคมของประชาคมอีสาน พบว่าปัญหาของการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนกำลังส่งผลกระทบต่อประชาชนคนท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ภาพสะท้อนดังกล่าวมาจากผู้ที่เข้าร่วมเสวนาเชิงปฏิบัติการ ตลอดจนข้อมูลที่น่าสนใจจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น คุณพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ซึ่งมีเนื้อหาสรุปได้ว่า ขอนแก่นเป็นศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีการพัฒนามุ่งสู่ความเจริญตามรอยของการพัฒนาเมืองใหญ่ จ.ขอนแก่น จึงถูกพัฒนาให้เป็นเมืองที่น่าลงทุน มีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมสรรพ เป็นแหล่งผลิตพลังงานที่สำคัญแห่งหนึ่ง มีเขื่อนอุบลรัตน์เป็นแหล่งพัฒนาพลังงานกระแสไฟฟ้าที่สำคัญ นอกจากนี้ ยังมีการขุดพบก๊าซธรรมชาติภาคพื้นดินที่ใหญ่สุดของประเทศอีกด้วย

การพัฒนาในหลายๆ ด้านนี้ ทำให้ขอนแก่นกำลังก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมเมือง ซึ่งนับจากนี้ไปการร่วมด้วยช่วยกันดูแลแก้ไขปัญหาสังคม จะกลายเป็นภารกิจของประชาคมชาวขอนแก่นทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ยังได้ยกตัวอย่างการใช้แรงงานเด็กที่ไม่เป็นธรรมของโรงงานแห่งหนึ่ง ซึ่งได้กลายเป็นปัญหาที่ซับซ้อน การแก้ปัญหาโดยภาครัฐลำพัง ทำได้ไม่สำเร็จทั้งหมด รองผู้ว่าฯ ได้เสนอแนะว่า หากคนท้องถิ่น ทั้งภาครัฐและเอกชน นำหลักการของซีเอสอาร์มาประยุกต์ใช้ จะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้อย่างจริงจังยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์กับประชาคมท้องถิ่นและกับประเทศโดยรวม

“อดีตสังคมไทยมีความเอื้ออาทรมาก แต่ช่วงหลังถดถอยไป ผมคิดว่า การดูแลสังคมจะต้องมาจากภาคประชาชนและภาคธุรกิจด้วย ลำพังภาครัฐคงทำได้ไม่ทั้งหมด เพราะสังคมเรามีปัญหาเพิ่มมากขึ้น เช่น ในบางพื้นที่ของภาคอีสานพบว่า เด็กครึ่งชั้นเรียนมีปัญหา เด็ก ม.1 เริ่มมีความสัมพันธ์ทางเพศ ปัญหาสำคัญจึงเป็นเรื่องเด็กและการศึกษา” รองผู้ว่าฯ ขอนแก่น กล่าวทิ้งท้าย

ในขณะที่ภาคเอกชนจากหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น มองว่า หากสังคมทุกระดับ นับตั้งแต่ระดับครอบครัว บริษัทห้างร้าน และหน่วยงานรัฐ ต่างใส่ใจในการนำเรื่องซีเอสอาร์ไปใช้อย่างจริงจัง สังคมไทยซึ่งมีพื้นฐานเรื่องของการให้และการทำบุญอยู่แล้ว ก็จะยิ่งได้ผลทวีคูณ

คุณสุรพล ทวีแสงสกุลไทย ประธานหอการค้า จ.ขอนแก่น กล่าวว่า แนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคม หรือซีเอสอาร์ เป็นหลักการที่สอนให้ทุกคนเป็นคนดี หากคนในสังคมช่วยกันคนละเล็กละน้อยในการดูแลชุมชนหรือสังคมรอบตัว ก็จะทำให้ปัญหาลดน้อยลง เช่น ลูกจ้างเรียกร้องนายจ้างเสียสละ ลูกจ้างก็ต้องเสียสละด้วย มีความเอื้ออาทรต่อกัน ในสังคมไทยนับถือพุทธ ต้องมีธรรมะ ในหลักธรรมบอกว่าให้ลดละเลิกในสิ่งที่ผิดทั้งหลาย ซึ่งหากยึดหลักธรรมะก็เท่ากับมีซีเอสอาร์ในตัวอยู่แล้ว ยิ่งคนอีสาน ชอบงานบุญ เป็นเรื่องของสายเลือด เป็นวัฒนธรรม ทำให้คนอีสานทำซีเอสอาร์ได้ดี ฉะนั้น การทำความดีหรือซีเอสอาร์ จึงควรเริ่มที่ครอบครัว หากครอบครัวปลูกฝังดี คนในสังคมก็จะดีด้วย

ขณะที่ คุณวิฑูรย์ กมลนฤเมธ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรม จ.ขอนแก่น มองว่า ปัญหาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในระดับภูมิภาคมีค่อนข้างมาก ในสังคมโรงงานต่างจังหวัด การนำหลักซีเอสอาร์มาใช้ นักธุรกิจจะต้องรู้จักเสียสละ ต้องมีคำว่าพอให้เป็น

“อย่างเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ มีปัญหาตลอด นายจ้างต้องยอมเสียสละ ยอมเฉือนเนื้อตนเอง เอากำไรน้อยลง ให้ลูกน้องอยู่ได้ ขณะเดียวกันนายจ้างก็ต้องอยู่ได้ด้วย แม้ลูกจ้างอาจจะไม่พอใจ แต่ก็ต้องยอมลดความต้องการของตัวลงด้วย เพื่อให้องค์กรอยู่ได้ โดยที่นายจ้างต้องเสียสละก่อน” คุณวิฑูรย์ กล่าว

สำหรับการระดมสมองซีเอสอาร์ระดับจังหวัด พบว่าประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุดของชาวขอนแก่น คือ เรื่องของวิกฤติจราจรและแนวทางแก้ไข ซึ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมสัมมนากลุ่มย่อยได้เสนอถึงปัญหาการจราจรที่กำลังรุกรานความสงบสุขของผู้ใช้รถใช้ถนนในจังหวัดขอนแก่น จึงมีการเสนอทางแก้โดยให้เข้มงวดในเรื่องวินัยจราจร ให้มีการจัดโครงการคาร์พูล จัดให้มีสถานีวิทยุรายงานสถานการณ์จราจรประจำจังหวัด ให้บริษัทเอกชนจัดรถรับส่งพนักงานเพิ่มขึ้น ตลอดจนการปลูกฝังเรื่องวินัยจราจรตั้งแต่ในระดับโรงเรียน เป็นต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า ได้มีการนำประเด็นเรื่องจราจรมาเชื่อมโยงกับเรื่องซีเอสอาร์ ก็เพราะปัญหาการขยายตัวของเมืองแบบไร้ขอบเขต ลัทธิการบริโภคนิยมที่เข้ามาเกาะเกี่ยวพฤติกรรมคนอีสานมากขึ้นเช่นเดียวกับในเมืองหลวง ทำให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเห็นถึงปัญหาที่ตามมาเป็นลูกโซ่จากเมืองใหญ่สู่สังคมใกล้ตัวพวกเขามากขึ้นทุกที

แนวทางซีเอสอาร์ของ จ.ขอนแก่น อีกเรื่องหนึ่งที่มีการนำเสนอไว้อย่างน่าสนใจ คือ โครงการเยาวชนต้นกล้า โดยปลูกฝังให้เยาวชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการเกษตร การปลูกพืชพันธุ์ต่างๆ เพื่อย้ำเตือนเยาวชนให้ตระหนักในอาชีพดั้งเดิมของคนไทยได้สืบต่อถึงคนรุ่นหลัง อีกทั้งยังช่วยให้เยาวชนได้เรียนรู้การพัฒนาชุมชนและสังคมจากโรงเรียนในท้องถิ่นที่จะต้องบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอ โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว โดยแบ่งกลุ่มการพัฒนาคน 3 วัย ได้แก่ วัยเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ มีการจัดกิจกรรมไว้ 5 ระดับ ได้แก่ กิจกรรมเตรียมความพร้อมก่อนครองคู่ กิจกรรมเตรียมกระบวนการเรียนรู้ตั้งแต่ในครรภ์ กิจกรรมการคิดสร้างสรรค์แต่เยาว์วัย กิจกรรมครอบครัวเสริมกายใจ และกิจกรรมผู้สูงวัยสายใยรัก ซึ่งจะส่งผลดีต่อคนทั้งสามวัยหากทำได้สำเร็จและทำให้ครอบครัวอบอุ่นและเข้มแข็ง

สำหรับการลงพื้นที่ทั้งหมด 19 จังหวัด โดยคณะวิทยากรจากสถาบันไทยพัฒน์ เพื่อสร้างจิตอาสาพัฒนาสังคม ตลอดจนการระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ในภาคอีสานที่ได้สิ้นสุดไปแล้วนี้ จะมีการรายงานสรุปเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายซีเอสอาร์ อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนแผนงานความรับผิดชอบต่อสังคมเชิงบูรณาการร่วมกับแนวทางซีเอสอาร์ในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศต่อไป


ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
คุณปิยเลขา ไหล่แท้ และ คุณจินตนา จันสน
โทรศัพท์ 02 930 5227 โทรสาร 02 930 5228