Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

CSR ในสังคมอีสาน


ความตื่นตัวในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ Corporate Social Responsibility (CSR) ขณะนี้มิได้จำกัดวงอยู่เพียงในเขตกรุงเทพฯ หรือกับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ในเมืองเท่านั้น แต่ได้แผ่ขยายวงไปยังภูมิภาคสู่นักธุรกิจและผู้ประกอบการในท้องถิ่นที่ต่างก็ให้ความสนใจในเรื่อง CSR เช่นกัน ดูได้จากมาตรวัดจำนวนผู้ที่เข้าร่วมฟังการบรรยายและอบรมเชิงปฏิบัติการในโครงการส่งเสริมความรู้ CSR สู่ภูมิภาค (CSR Campus) ซึ่งได้จัดตระเวนไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีผู้สนใจร่วมเฉียดพันคนในภาคอีสานทั้ง 19 จังหวัด

ในห้องเรียน CSR Campus สัญจร นอกจากการบรรยายให้ความรู้ที่ถูกต้องเจาะลึกแล้ว ยังมีการพูดถึงเทคนิคการพัฒนา CSR ในกระบวนการธุรกิจ วิธีการดำเนินกิจกรรม CSR ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการดำเนินกิจการโดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินเป็นตัวตั้ง และการทำเวิร์คชอปเพื่อร่วมกันคิดค้นและพัฒนากิจกรรม CSR เชิงกลยุทธ์ทั้งขององค์กร รวมทั้งแนวทาง CSR ของจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสานทุกจังหวัด

ผลจากการระดมสมองในแต่ละจังหวัดผ่านโมเดล CSR Campus ทำให้สามารถรวบรวมประเด็น CSR ในสังคมอีสานได้ทั้งสิ้น 5 กลุ่ม ได้แก่ เรื่องข้าวและเกษตรอินทรีย์ การฟื้นฟูแหล่งผลิตและอารยธรรมดั้งเดิม การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น การพัฒนาเมืองและชุมชนน่าอยู่ และการแก้ไขภาวะโลกร้อน

CSR ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเกษตรอินทรีย์มีอยู่ด้วยกัน 5 จังหวัด ได้แก่ “เกษตรอินทรีย์ บุรีรัมย์นำชีวิตยืนยาวข้าวไทย” ของ จ.บุรีรัมย์ ที่มุ่งหวังให้มีความปลอดภัยในการบริโภค ลดค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพและทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น “เกษตรอินทรีย์ วิถีสุรินทร์สู่ครัวโลก” ของ จ.สุรินทร์ ที่ยกเรื่องอาหารซึ่งเป็นที่ยอมรับว่ามีรสชาติดี และข้าวหอมมะลิที่มีชื่อเสียงเป็นจุดเด่นมาพัฒนาให้ไปในทิศทางเดียวกัน “เกษตรอินทรีย์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” ของ จ.ร้อยเอ็ด เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพื่อรักษาสุขภาพอนามัยของตัวเกษตรกรเอง โดยจะอาศัยเกษตรจังหวัดเป็นผู้นำและมีการสนับสนุนโครงการโดยภาคเอกชน “การพัฒนาให้ความรู้การปลูกข้าวหอมมะลิ” ของ จ.ยโสธร ที่มุ่งหวังให้เกิดความปลอดภัยในการบริโภค เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น สิ่งแวดล้อมดีขึ้น “เกษตรอินทรีย์” ของ จ.ชัยภูมิ ด้วยการจัดตั้งกลุ่มเพื่อขยายเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ มีการฝึกอบรมให้ความรู้ในการทำปุ๋ยชีวภาพ สนับสนุนงบประมาณหรือช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งในและนอกพื้นที่ รวมถึงการส่งเสริมให้เป็นอาชีพ และพัฒนากลุ่มให้เป็นสหกรณ์ในอนาคต

แนวทาง CSR ที่เน้นคุณค่าของแหล่งผลิตที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด ได้แก่ “เศษไหมล้ำค่าแพรวาที่ระลึก” ของ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งมีจุดเด่นในเรื่องของผ้าไหมแพรวาที่มีชื่อเสียงและมีการผลิตที่แพร่หลาย “การเลี้ยงโคขุนเพื่อเกษตรและชุมชน” ของ จ.สกลนคร ที่ส่งเสริมให้ประชาชนในหมู่บ้านเลี้ยงโคขุนในรูปแบบของสหกรณ์ “อารยธรรมสร้างสุข” ของ จ.มหาสารคาม ที่จะระดมอาสาสมัครซึ่งมีความรู้ในเรื่องการปฏิบัติธรรม มาส่งเสริมการปฏิบัติธรรม ด้วยการจัดค่ายธรรมะแก่เยาวชนและประชาชนที่สนใจ เพื่อยกระดับให้ตักศิลาเป็นเมืองแห่งความสุข “การฟื้นฟูคุณภาพแหล่งทำมาหากินและแหล่งต้นน้ำลำธาร” ของ จ.เลย โดยส่งเสริมการให้ความรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูคุณภาพของดินซึ่งเป็นแหล่งทำมาหากินหลัก พัฒนาแหล่งน้ำที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของจังหวัด “การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อคุณภาพชีวิต” ของ จ.อำนาจเจริญ เพื่อหาแนวทางการพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำให้ใช้ประโยชน์ได้ทุกด้าน มุ่งหวังให้เกิดความยั่งยืนในเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

จังหวัดที่เน้นแนวทาง CSR ในเรื่องท่องเที่ยว ได้แก่ “การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น” ของ จ.นครพนม ที่มุ่งหวังจะพัฒนาเมืองให้มีชุมชนที่เข้มแข็งและสังคมที่น่าอยู่ รวมทั้งสร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน “ท่องเที่ยวทุ่งกุลา กินปลาเผา เล่าตำนานอาณาจักรเจนละ” ของ จ.ร้อยเอ็ด ที่เน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เรียนรู้วัฒนธรรมพื้นบ้าน ทำกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกัน โดยอาศัยความร่วมมือจากภาคธุรกิจและภาคเอกชน “ยลอุบลชมวัฒนธรรม ไปได้ชิวๆ” ของ จ.อุบลราชธานี ที่มุ่งหวังให้เกิดการคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ดั้งเดิมของจังหวัด เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวและเป็นการส่งเสริมรายได้ของจังหวัด “ท่องเที่ยววนเกษตร (เที่ยวไปชิมไป) เชิงอนุรักษ์ (มรดกโลก)” ของ จ.ศรีสะเกษ ที่ต้องการให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สร้างวิถีเกษตรแบบปลอดสารพิษ นำมาซึ่งสุขภาพที่ดีและชื่อเสียงมาสู่จังหวัด “เส้นทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ภูหินลาดช่อฟ้า” ของ จ.หนองบัวลำภู ซึ่งเป็นเส้นทางความเป็นอยู่ของสหายที่ยังมีชีวิตอยู่ นำมาพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ในการต่อสู้ทางความคิด ปลูกฝังให้เกิดความรักความผูกพันในถิ่นกำเนิด

ส่วนจังหวัดที่ต้องการใช้ CSR ในการพัฒนาเมืองและชุมชนให้น่าอยู่ ได้แก่ “เมืองน่าอยู่อันดับหนึ่งของภาคอีสาน” ของ จ.หนองคาย ด้วยการฟื้นฟูและสืบสานประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น พัฒนาสภาพแวดล้อมและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ พัฒนาการคมนาคมขนส่ง และพัฒนาประชาชนให้ยึดมั่นในหลักธรรมคำสอนตามหลักพระพุทธศาสนา “พัฒนาคนชุมชนเข้มแข็ง” ของ จ.นครราชสีมา ที่หวังให้มีลานกิจกรรมสำหรับการแสดงออกอย่างอิสระและการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเยาวชนและครอบครัวในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมและด้านจริยธรรม “กินอยู่ในมุกดาหารปลอดภัย” ของ จ.มุกดาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคได้กินอยู่อย่างปลอดภัย ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีและบรรลุยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวเชื่อมโยงสู่อินโดจีน “การแก้ปัญหาการจราจรในจังหวัด” ของ จ.ขอนแก่น ที่เสนอให้มีการใช้รถร่วม (Car Pool) หรือรถสาธารณะในการเดินทาง มีการให้ความรู้เรื่องวินัยการจราจร จัดให้มีรายการวิทยุรายงานสภาพจราจรเพื่อหลีกเลี่ยงจุดที่มีรถติดหรือรถหนาแน่น เพื่อการประหยัดเวลาและค่าเชื้อเพลิง

แนวทาง CSR ของจังหวัดที่เกาะกระแสโลกร้อนและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ “ลดโลกร้อนด้วยตัวคุณ” ของ จ.ร้อยเอ็ด ที่เน้นการรณรงค์ปลุกจิตสำนึกให้คนในครอบครัวและองค์กรคัดแยกขยะที่สามารถนำบางส่วนกลับมาใช้ใหม่ โดยอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการดำเนินงาน “รวมพลังวัยใสล้างภัยสิ่งแวดล้อม” ของ จ.อุดรธานี ที่ต้องการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของชุมชนและการเสริมสร้างจริยธรรมแก่เยาวชน

นักธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่อยู่ในภาคเหนือ เดือนกรกฎาคมนี้ คณะวิทยากรจากสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะร่วมกับ บมจ. กสท โทรคมนาคม บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (ดีแทค) บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จับมือเดินสายเปิดห้องเรียนและค้นหาโมเดล CSR ใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ csrcampus.com


[Original Link]