Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

สร้างพลังความดี ดึงซีเอสอาร์ตัวช่วยลดวิกฤติสังคม


แนวทางการทำ CSR (Corporate Social Responsibility) หรือความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ จะสามารถขับเคลื่อนได้อย่างกว้างขวางนั้น คงไม่สามารถพึ่งพาเพียงแค่ภาคเอกชนได้เท่านั้น แต่ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน เพื่อให้ขยายไปสู่วงกว้าง และเพื่อขับเคลื่อนสังคมและชุมชนให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

สถาบันไทยพัฒน์, บมจ.กสท โทรคมนาคม,บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค), โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย และมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกันจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ ในโครงการส่งเสริมความรู้ CSR สู่ภูมิภาค (CSR Campus) เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน ทั้งจากภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน โดยจัดขึ้นทั่วประเทศ 76 จังหวัด ด้วยการเปิดห้องเรียนให้กับบรรดาเจ้าของกิจการ หน่วยงานรัฐ และภาคประชาชนได้ร่วมระดมสมอง โดยที่ผ่านมาได้ภาพรวมเกี่ยวกับแนวคิดในการทำโครงการระดับภาคเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมในภาคอีสานและภาคเหนือครบแล้ว ส่วนช่วง สิงหาคมนี้ เปิดเวทีให้กับชาว 14 จังหวัดภาคใต้ได้เสนอโมเดลความรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมการระดมสมองระดับภาค 11 สิงหาคม ที่ โรงแรมถาวรแกรนด์พลาซ่าจังหวัดภูเก็ต

สำหรับการภาคเหนือนั้น ได้มีการจัดเสวนาเพื่อเปิดเวทีให้ภาคส่วนต่างๆ ขึ้นนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ " CSR กับพลังความดี เพิ่มพื้นที่กิจกรรมดีลดวิกฤติสังคม" สารภี ศิลา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา สำนักงานปลัดกระทรวงฯ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดประเด็นว่า เนื้อแท้ของ CSR ช่วยให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข และเชื่อว่าการจัดงานและให้ความรู้อย่าง CSR Campus จะช่วยให้ทุกคนเข้าใจในคำนี้ได้ถ่องแท้ ขณะที่ ณรงค์ ตนานุวัฒน์ รองประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ มองว่า CSR คือพลังความดี และช่วยลดวิกฤติให้กับสังคมได้จริงๆ

“ผมบอกได้เลยว่า CSR อาจจะเป็นคำใหม่ของชาวล้านนา แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในองค์กรธุรกิจมีการทำเรื่องของ CSR อยู่แล้ว เสน่ห์ของเชียงใหม่คือ คน ไม่ใช่แค่สถานที่ท่องเที่ยว เราต้องพยายามรักษามนต์เสน่ห์ของล้านนาไว้ นักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจที่เข้ามาต้องรักษาและกลมกลืนกับวัฒนธรรมล้านนา ไม่ใช่เข้ามาแค่สร้างความเจริญแล้ววัฒนธรรมดั้งเดิมหายไป ตรงนี้กำลังเกิดขึ้นที่นี่และในอีกหลายๆ จังหวัด ผมเชื่อว่า CSR จะเป็นการตีกรอบให้สังคมและชุมชนพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น CSR เป็นการทำความดีที่เข้ากับหลักพุทธ คือ การไม่เบียดเบียนตัวเอง การไม่เบียดเบียนผู้อื่น

ณรงค์ ยังได้ยกตัวอย่างของซีเอสอาร์ในระดับสังคมว่า การฟื้นฟูวัฒนธรรมล้านนาของชาวเชียงใหม่ที่เป็นคนมีอัธยาศัยไมตรีอ่อนน้อมถ่อมตนให้คงอยู่กับสังคมเชียงใหม่ เพราะจากผลการสำรวจหลายแหล่งพบว่า คนต่างถิ่นที่มาท่องเที่ยวเมืองเชียงใหม่นั้น ชอบคน ไม่ได้ชอบวัตถุ ทุกวันนี้ การท่องเที่ยวและการพัฒนามุ่งใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมจนสึกหรอไปมาก แต่ไม่ได้เติมเต็มวัฒนธรรมที่ถูกใช้ให้แข็งแรงขึ้นตามไปด้วย

เครื่องมือสร้างความเจริญของสังคม
ขณะที่ เฉลิมพล แซมเพชร ประธานภาคีคนฮักเจียงใหม่ ในฐานะขององค์กรภาคประชาชน ที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มองค์กรต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ 46 องค์กร ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากหลากหลายอาชีพ มีหน้าที่เฝ้าระวังและพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชนให้คงอยู่เป็นมรดกและขุมทรัพย์ของเชียงใหม่ มองว่า ความเจริญที่เกิดขึ้นของเชียงใหม่ ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้ศิลปวัฒนธรรมของถิ่นล้านนา ถูกกลืนหายไป เพราะการพัฒนาที่เกิดขึ้นคำนึงถึงแต่เรื่องเศรษฐกิจมากจนเกินไป

“ธุรกิจมีได้แต่ต้องคำนึงถึง 3 องค์ประกอบทั้งด้านเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของสังคม ให้มีความสมดุลซึ่งกันและกัน เพราะจะก่อให้เกิดความสุขที่ยั่งยืน ผมคิดว่า CSR จะต้องเกิดขึ้นจากความเจริญของสังคมที่ไม่ได้มาจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจโดยลำพัง แต่ต้องพัฒนาหรือรักษาทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาศิลปวัฒนธรรมด้วย จะต้องดำเนินไปพร้อมกันอย่างสมดุลในทั้งสามด้าน จึงจะเรียกว่าเป็นความเจริญโดยแท้”

คณบดีสื่อสารฯ มช.ระบุ CSR ไม่ใช่การสร้างภาพ
รศ.สดศรี เผ่าอินจันทร์ คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นเกี่ยวกับ CSR ว่า คำนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะภาคธุรกิจ แต่เป็นภารกิจของทุกภาคส่วน ไม่เว้นแม้แต่ภาควิชาการ ที่นอกจากจะต้องมีความรับผิดชอบในด้านการจัดการศึกษาและการทำวิจัยแล้ว ยังรวมถึงการให้บริการวิชาการแก่สังคมและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และที่สำคัญสื่อมวลชนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้องค์กรตื่นตัวในเรื่องการทำ CSR ซึ่งสื่อมวลชนเปรียบเสมือนกระบอกเสียงที่ช่วยกระจายการทำความดีให้เกิดขึ้นกับสังคม เพราะ CSR ก็คือการทำความดี และการทำความดีนี้ต้องเกิดขึ้นจากเนื้อแท้ที่อยู่ในใจ

คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มช. เสนอแนะภาคธุรกิจว่า องค์กรควรทำความเข้าใจว่าการทำ CSR ไม่ใช่เครื่องมือการตลาดและไม่ใช่การสร้างภาพเพื่อให้สินค้าขายดีหรือเพื่อให้เกิดการสร้างแบรนด์ไปต่างๆ นานา เพราะ CSR เมื่อเกิดขึ้นจากเนื้อแท้ในใจแล้ว จะก่อให้เกิดการริเริ่มที่จะแบ่งปันสิ่งดีๆ สู่สังคม และเมื่อผู้บริโภคได้เห็นถึงองค์กรนั้นๆ ว่ามีการทำ CSR อย่างจริงใจแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาเอง คือ ภาพลักษณ์ที่ดี ต่อแบรนด์และองค์กร

“การได้รับการยอมรับหรือการที่มียอดขายเพิ่มขึ้น เป็นเพียงผลพลอยได้ ไม่ใช่การคิดจะเอาประโยชน์ตั้งแต่แรกเริ่มของการทำ CSR ซึ่งการทำกิจกรรม CSR นั้นสามารถสื่อสารหรือประชาสัมพันธ์ได้ แต่ต้องเป็นไปในลักษณะของการสนับสนุนสิ่งดีๆ ให้เป็นที่รับรู้และเข้าใจแก่ประชาชน ซึ่งตรงกับหลักการสื่อสารมวลชน 4 ข้อคือ การทำหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสาร การให้ความรู้ รณรงค์ให้ผู้คนทำในสิ่งที่ดี และเชิญชวนให้คนในสังคมร่วมกันทำความดี”

พีระพงษ์ กลิ่นละออ ผู้อำนวยการฝ่าย CSR บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวในฐานะที่เป็นภาคเอกชนที่คอยขับเคลื่อนการทำ CSR บอกว่า ดีแทค ได้ทำ CSR มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการหลักคือสำนึกรักบ้านเกิด โดยเมื่อรวมแล้วแต่ละปีจะมีการทำ CSR ทั้งหมด 147 โครงการด้วยกัน ซึ่งดีแทคมี 2 แนวทางหลักในการทำ CSR คือ ทำด้วยตัวเองกับร่วมมือกับพันธมิตร

“ดีแทคทำโครงการที่เกี่ยวกับ CSR เป็นร้อยโครงการในแต่ละปี ซึ่งบางโครงการก็เป็นต้นแบบให้กับบริษัทอื่นก็มี เราถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะทุกคนจะได้ร่วมกันทำความดี และช่วยกันพัฒนาให้สังคม อันหมายถึงทั้งภาคองค์กรธุรกิจและชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข การทำ CSR ของดีแทคเราพยายามเริ่มจากโครงการเล็กๆ และมาสู่การประยุกต์แกนหลัก โดยทั้งหมดนี้ต้องเกิดขึ้นจากภายในจิตใจของเรา จึงจะถือว่าเป็น CSR ของแท้”


[Original Link]