Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

5 คุณค่า CSR ให้ผลดีแน่ !

สุวัฒน์ ทองธนากุล

หากใครยังสงสัยว่า หลักคิดเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR นั้นเป็นแนวทางที่ "ต้องมี" จริงหรือ ?

คำตอบยืนยันว่าองค์กรต่างๆ ไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนต้องให้ความสำคัญ ก็ด้วยมูลเหตุที่ประจักษ์กันแล้วว่า กำลังเป็นปัญหาตัวอย่างเช่น วิกฤตพลังงาน วิกฤตแหล่งน้ำและปริมาณน้ำเพื่อการผลิตและหล่อเลี้ยงชีวิต มลภาวะทั้งในอากาศบนพื้นดินและแหล่งน้ำธรรมชาติ ภาวะโลกร้อน การขาดจริยธรรม ขาดคุณธรรมของนักการเมือง พ่อค้า นักลงทุน

ปัญหาล้วนเกิดจากการหาประโยชน์แต่ส่วนตนขาดความสมดุลโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ความเคลื่อนไหวของผู้ใฝ่ดีจึงเกิดขึ้นในระดับโลกและส่งแรงกระเพื่อมมายังกิจการชั้นนำของเมืองไทย ทั้งธุรกิจเอกชนและรัฐวิสาหกิจบางแห่ง

ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ CSR คือ คำว่า "รับผิดชอบ" นั้นมีลักษณะอย่างไร และต่อใครบ้าง ขณะเดียวกันการคำนึงถึง "สังคม" นั้นกว้างขวางแค่ไหน

ข้อความจากคำนิยมเกี่ยวกับ CSR ของสถาบันหรือองค์กรหลายแห่งน่าพอช่วยอธิบายและทำความเข้าใจได้ดีขึ้น

CSR หมายถึง...

"แนวคิดที่บริษัทผสานความห่วงใยต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมอยู่ในกระบวนการดำเนินธุรกิจและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย อันเป็นกระบวนการกระทำด้วยความสมัครใจ" The European Commission

CSR หมายถึง...

"ความมุ่งมั่นหรือพันธะสัญญาที่ธุรกิจมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ในการที่จะประพฤติปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม และมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน และครอบครัวของเขาด้วย อีกทั้งมีส่วนช่วยพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและสังคมวงกว้าง" Word Business Council for Sustainable Development

"การดำเนินกิจกรรมภายในและภายนอกองค์กรที่คำนึงถึงผลกระทบทั้งระดับใกล้และไกลเพื่อสร้างดุลยภาพอันเหมาะสม ในการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ระหว่างสังคม สิ่งแวดล้อมและธุรกิจ" สถาบันไทยพัฒน์

"คำนิยามเกี่ยวกับ CSR นั้นมีหลากหลาย แต่ภาพโดยรวมก็เป็นทิศทางเดียวกันคือ ประกอบธุรกิจอย่างซื่อสัตย์"

ผมจึงอยากเสนอคำนิยามของ CSR ดังนี้

"การดำเนินกิจการและกิจกรรมด้วยหลักคุณธรรม คำนึงถึงการสร้างคุณค่าต่อส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างดุลยภาพและความยั่งยืนของธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม"

เมื่อทำเช่นนี้ผู้มีส่วนได้เสีย ตั้งแต่วงใน คือ ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร พนักงาน วงใกล้ คือ ลูกค้า คู่ค้า คู่แข่ง ครอบครัวพนักงาน ชุมชนที่อยู่รอบองค์กร และวงไกล คือ สังคมและสิ่งแวดล้อม ทุกส่วนย่อมพอใจอยากคบค้า และพร้อมสนับสนุนก็จะเกิดความยั่งยืน

พลังคุณค่าของ CSR จะเกิดขึ้นจากค่านิยมที่ชี้นำโดยผู้นำองค์กรในการดำเนินกลยุทธ์และกลวิธีการทำธุรกิจอย่างมีธรรมมาภิบาล และช่วยเหลือสังคมและปกป้องส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดี

ผลก็คือ พนักงานทุกระดับจะได้รับการปลูกฝังให้มีจิตสำนึกที่ดีพร้อมอาสาช่วยสังคม

มีข้อมูลสถิติที่ทำดีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถจัดทำรายงานเปิดเผยต่อสังคมอย่างสง่างาม

ข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่สู่สังคมช่วยเสริมภาพลักษณ์ และช่วยยกระดับของแบรนด์

ความพอใจของผู้บริโภคและผู้เกี่ยวข้องทางการตลาดจะเป็นไปในทางที่อยากคบ-อยากค้าด้วย

ได้รับความเชื่อจากนักลงทุนว่า ผู้บริหารมีธรรมมาภิบาล เป็นผลให้ราคาหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีความมั่นคง
นี่แหละคือ อานิสงค์ของ CSR ในฐานะที่เป็นกิจการที่เก่งและดี และยังช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นคำตอบว่า CSR มีคุณค่าแน่นอน


[Original Link]