Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ส่องร่างยุทธศาสตร์ CSR ไทย

ระดมสมองตั้งกระทรวง CSR

การพัฒนาแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (corporate social responsibility : CSR) ของไทยในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าภาคส่วนที่มีความตื่นตัวที่สุดในสังคมยังกระจุกตัวอยู่ในภาคธุรกิจ ซึ่งมีความตื่นตัวในเรื่องนี้มาก ทั้งๆ ที่ภาคส่วนที่สำคัญในการขับเคลื่อนแนวคิดนี้ให้เกิดขึ้นในสังคม อย่างยั่งยืนนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าย่อมต้องอาศัยแรงหนุนของภาครัฐเช่นเดียวกัน อย่างที่หลายต่อหลายประเทศได้ทำมาก่อนหน้านี้

ที่สำคัญการส่งเสริมความรับผิดชอบของภาคธุรกิจในปัจจุบันนั้น มิได้จำกัดอยู่เพียงการใช้อำนาจรัฐ (mandating) ผ่านกฎหมายแบบบังคับและควบคุม วางระเบียบหรือใช้เพียงมาตรการทางภาษาที่ใช้เป็นแรงจูงใจเท่านั้น แต่หากมองจากมุมมองของธนาคารโลกจะเห็นว่า บทบาทของรัฐที่จะมีต่อเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ (CSR) นั้นยังประกอบด้วย มิติอื่นๆ ทั้งในเรื่องของการอำนวยการ (facilitating) ที่ใช้บทกฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษ ตลอดจนการเป็น หุ้นส่วน (partnering) ฯลฯ รวมไปถึงบทบาทในการสนับสนุนของภาครัฐ (endorsing) ด้วยการสนับสนุนจากภาคการเมือง และการประกาศเกียรติคุณต่อสาธารณชน

ในมิติที่กล่าวมา บทบาทรัฐของไทยนั้นยังแทบจะมองไม่เห็น แต่เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มีสัญญาณบางประการ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันไทยพัฒนา สถาบันศึกษาและวิจัยด้าน CSR และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มีโครงการระดมสมอง CSR ระดับภูมิภาค ซึ่งเดินคู่ไปกับโครงการให้ความรู้ด้าน CSR กับโครงการ "CSR Campus" ซึ่งกำลังจะปิดฉากลงในเร็ววันนี้ หลังจากเดินสายครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ

ผลส่วนหนึ่งทำให้นำมาสู่บทสรุปในการนำเสนอ การขับเคลื่อน CSR ในเชิงนโยบายที่จะนำไปสู่การกำหนดทิศทางและนโยบาย CSR ในระดับประเทศ

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒนา กล่าวถึงความคืบหน้าในเรื่องนี้ว่า โจทย์ของความร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ก็คือการระดมสมองจากภาคธุรกิจและสังคมจาก ทั่วประเทศเพื่อนำเสนอ CSR ในเชิงยุทธศาสตร์ว่า ภาครัฐควรจะขับเคลื่อน CSR อย่างไร โดยผ่านการระดมสมองจากผู้เชี่ยวชาญด้าน CSR ในโครงการ CSR Camp ก่อนที่จะผ่านการกลั่นกรองอีกชั้นหนึ่งในการระดมสมองในระดับภูมิภาคทั่วประเทศในช่วงที่ผ่านมา และคาดว่าจะสามารถทำนโยบาย CSR เสนอกระทรวงในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ ผลจากการกลั่นกรองพบว่า ควรแบ่งการทำงาน CSR ของภาครัฐออกเป็น 4 หมวด 1.การเป็นผู้ใช้อำนาจ 2.การเป็นผู้อำนวยความสะดวก 3.การเป็นหุ้นส่วน และ 4.การรับรอง

โดยในหมวด 1.การใช้อำนาจ ผลจากการระดมสมองระบุว่า บทบาทของรัฐในด้านชุมชนและสังคม ควรจะเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาเชิงสังคม ขณะที่ในด้านของการกำกับดูแลกิจการ ควรมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างกติกาตลาดเสรีที่เป็นธรรม และในด้านสิ่งแวดล้อม ควรมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน รวมไปถึงการกำหนดผังเมืองที่ชัดเจน มีการกำกับสื่อในการประชาสัมพันธ์ รวมทั้งการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการรักษา สิ่งแวดล้อม โดยภาครัฐต้องให้แนวปฏิบัติกับผู้ประกอบการ

สำหรับหมวด 2.การอำนวยการหรืออำนวยความสะดวก ในภาพรวมควรมีการยกระดับความเข้าใจของภาครัฐในเรื่อง CSR ด้วยองค์ความรู้จากทั้งในและต่างประเทศ โดยจัดทำองค์ความรู้แบบองค์รวม โดยให้ทุกส่วนสามารถทำงานเชื่อมโยงกันอย่างมีการบูรณาการ ขณะเดียวกันภาครัฐยังสามารถมีมาตรการจูงใจด้านภาษี ใช้มาตรฐานการเงินและการคลัง รวมทั้งมีมาตรการสนับสนุนกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคมสำหรับภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งปลูกจิตสำนึกสาธารณะและภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งใช้สื่อในการกำกับดูแลเพื่อการส่งเสริมการขับเคลื่อน CSR

หากโฟกัสบทบาทการอำนวยการของภาครัฐ ในด้านชุมชนและสังคม ผลจากการระดมสมองระบุว่า ควรมีการยกระดับความประพฤติสู่วัฒนธรรมองค์กร โดยสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วนแบบองค์รวม มีแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับวิถีของสังคมไทยในแบบเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งควรส่งเสริมให้มีการจัดการศึกษา CSR ในหลักสูตรระดับโรงเรียน

อย่างไรก็ตามในเรื่องการอำนวยการ ในด้านการกำกับดูแลกิจการ รัฐควรกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนองค์กรที่ทำดี ให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในกระบวนการทำ CSR มีการกำหนดหน่วยงาน CSR ในระดับจังหวัด และมีการนำหลัก CSR สากลมาใช้เป็นแนวปฏิบัติสำหรับกิจการเพื่อมุ่งสู่ความเป็นผู้นำในเอเชีย นอกจากนี้ควรมีการก่อตั้งหน่วยงานอิสระในกำกับของรัฐ และสร้างสิ่งจูงใจให้องค์กรที่ทำ CSR อย่างมีนวัตกรรม รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดต้นแบบ (role model) เพื่อเป็นแบบอย่าง สำหรับการอำนวยการในด้านสิ่งแวดล้อม รัฐควรมีนโยบายในการจัดซื้อ จัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวลด้อม มีการนำร่องในการใช้หรือปฏิบัติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวลด้อม การบริหารจัดการมลพิษ รวมไปถึงการส่งเสริมการออกแบบสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้เกิดหลักสูตรดังกล่าว

ส่วนหมวด 3.ที่ว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วน มีข้อเสนอว่าในด้านชุมชนและสังคม รัฐควรมีบทบาทในการบริหารจัดการที่ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจและสังคม โดยในด้านการกำกับดูแลกิจการ รัฐต้องมีบทบาทในการขยายผลและสร้างเครือข่าย โดยพัฒนาฐานข้อมูล CSR ให้มีความเชื่อมโยงและบูรณาการ รวมไปถึงการสร้างกลไกเชื่อมโยงเอกชนและท้องถิ่น ขณะที่ในด้านสิ่งแวดล้อม ควรให้หน่วยงานทำงานอย่างสอดคล้องและสนับสนุนกัน

ในหมวดสุดท้าย 4.การสนับสนุน ในด้านการกำกับดูแลกิจการ ภาครัฐควรส่งเสริมให้มีการผนวก CSR เข้ากับกระบวนการดำเนินธุรกิจ โดยกำหนดให้มีกระทรวง CSR ขณะที่ด้านสิ่งแวดล้อม ภาครัฐควรสนับสนุนในเรื่องของการอนุรักษ์เพื่อใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน รณรงค์ให้ผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมการออกแบบสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

และนี่เป็นข้อเสนอที่หากเป็นไปได้จริง น่าจะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ CSR ไทยก้าวไปอีกระดับ ส่วนจะถึงฝั่งฝันหรือไม่คงต้องรอลุ้นและเอาใจช่วย !!


[Original Link]