Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ซีเอสอาร์ แคมปัส 'ปั้นโมเดล CSR ฉบับเมืองไทย'


ใกล้บรรลุเป้าหมายขั้นตอนสุดท้าย สำหรับโครงการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทซีเอสอาร์ (CSR Master Plan) จากการริเริ่มของศูนย์ส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม(Corporate Social Responsibility: CSR) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มอบหมายให้ สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้ดำเนินการ

และได้รับการสนับสนุนจาก บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน)หรือ ดีแทค บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) และ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ร่วมกันจัดทำเป็นโครงการ CSR Campus เพื่อเดินสายส่งเสริมความรู้และระดมสมองเรื่องซีเอสอาร์ ไปทั่ว 4 ภูมิภาค ตลอดจนค้นหาโมเดลซีเอสอาร์ที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมแต่ละท้องถิ่น รวบรวมนำมาจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายด้านซีเอสอาร์ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนแผนงานรับผิดชอบต่อสังคมเชิงบูรณาการร่วมกัน

ซึ่งถึงขณะนี้การดำเนินงานผ่านโครงการข้างต้นได้ลุล่วงครบทั้ง 4 ภาค พร้อมกับได้ข้อสรุปแนวทาง ซีเอสอาร์ที่แต่ละภาคนำเสนอ คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือครอบคลุม 19 จังหวัด เสนอแนวทางการทำซีเอสอาร์ที่มุ่ง 5 กลุ่ม คือ ข้าวและเกษตรอินทรีย์ การฟื้นฟูแหล่งผลิตและอารยธรรมดั้งเดิม การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น การพัฒนาเมืองและชุมชนน่าอยู่ และการแก้ไขภาวะโลกร้อน

ขณะที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด เสนอ 4 กลุ่ม คือ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพื้นฟูคุณภาพชีวิตและศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และเกษตรปลอดภัย ส่วนภาคใต้ 14 จังหวัด แยกได้ 2 กลุ่ม คือเรื่องความสะอาด การจัดการขยะ และคุณภาพชีวิต-สิ่งแวดล้อม สำหรับภาคกลาง 25 จังหวัด (รวมภาคตะวันออก) เน้นเรื่องประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ ความเป็นอยู่และความปลอดภัยในการบริโภค การฟื้นฟูธรรมชาติ การเกษตร และแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งประเด็นเชิงนิเวศ ประวัติศาสตร์ และชุมชน

เกิดโมเดล CSR รูปแบบใหม่
ดร. พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูุปถัมภ์ ที่ดำเนินการศึกษาวิจัยการจัดทำแผนแม่บทดังกล่าว ได้กล่าวเปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการถึงวันนี้ว่า ได้ข้อมูลการจัดโต๊ะกลมรวมทั้ง 4 ภาค มาต่อเป็นจิ๊กซอว์เห็นภาพชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตามข้อมูลที่มีทั้งหมดยังต้องนำมาสังเคราะห์และประมวลผล เพื่อสรุปกันอีกครั้งในเวทีการประชุมร่วมกันระหว่างตัวแทนภาครัฐ เอกชน หน่วยงานต่างๆ ประมาณปลายเดือนตุลาคมนี้ เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอให้กับภาครัฐ ก่อนจะส่งมอบเป็นแนวนโยบายซีเอสอาร์ ให้กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่จะนำไปผลักดันเป็นซีเอสอาร์ระดับวาระแห่งชาติ เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเพื่อประกาศใช้เป็น"นโยบายซีเอสอาร์แห่งชาติ" ต่อไป

สำหรับข้อมูลองค์ความรู้ ที่ได้จากการจัดเวิร์กช็อป ซีเอสอาร์ที่แต่ละจังหวัดนำเสนอผ่านโครงการ CSR Campus มานั้น ดร. พิพัฒน์ ขยายความว่า ทางสถาบันไทยพัฒน์ฯ จะทำการรวบรวมและประมวลเพื่อนำไปเผยแพร่เป็นกรณีศึกษา โดยเฉพาะการสะท้อนมุมมองเรื่องของ creative CSR ที่จะนำไปใช้ในกระบวนการร่างหลักสูตรที่จะนำมาเป็นเกณฑ์ หรือต้นแบบให้สถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยต่างๆหยิบยกไปสอนในชั้นเรียนต่อไป

"ตรงนี้ต้องถือว่าจะเป็น การปฏิรูปการเรียนการสอน ในสถาบันการศึกษาของไทย เพราะที่ผ่านมาเรามักจะหยิบยกกรณีศึกษาจากเมืองนอกมาสอน ซึ่งบางครั้งไม่เข้ากับเมืองไทย แต่จากเวที CSR Campus ที่เราจัดทั่วประเทศได้เก็บรวบรวมกรณีศึกษามามากมายสามารถนำไปให้สถาบันการศึกษา ยกไปเป็นโมเดลต้นแบบใช้ได้เลย ทั้งประเด็นด้านสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย"

ดร. พิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ผลสรุปของ CSR Campus น่าจะจบเรียบร้อยได้ทันภายในสิ้นปี 2551 นี้จากเดิมคาดว่าจะต้องเดินสาย 4 ภาค ตลอดทั้งปี แต่เนื่องจากการเสนอแนะของภาคธุรกิจเอกชนที่เข้ามาร่วมกับพันธมิตร ทำให้สรุปผลได้รวดเร็วและน่าจะออกมาได้ทันไปบรรจุในหลักสูตรภาคการศึกษาปีต่อไปได้

เดินหน้า CSR in action
ขณะเดียวกัน ส่วนของรายละเอียดกิจกรรมซีเอสอาร์ที่แต่ละจังหวัดได้ระดมความคิดเห็นไว้ตลอดโครงการนี้นั้น ดร.พิพัฒน์ อธิบายต่อว่าถือเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญสำหรับนำไปพัฒนากิจกรรมซีเอสอาร์ในรายจังหวัดต่อไป ซึ่งที่ผ่านมามีหลายจังหวัด ได้เสนอขอที่จะทำ ซีเอสอาร์ระดับจังหวัดกันให้เป็นจริง และทางพาร์ตเนอร์หลัก คือ ดีแทค กสท และโตโยต้า ก็ได้ตอบรับที่จะให้การสนับสนุนต่อเนื่องเพื่อเป็นโครงการต่อยอดที่เรียกกันว่า "CSR in action" สำหรับทางสถาบันไทยพัฒน์ เองก็จะยังคงให้การสนับสนุนในเรื่องของการพัฒนาด้านวิชาการและดูแลเพื่อให้โครงการเดินต่อจนสำเร็จผล

พร้อมกับยกตัวอย่างโครงการที่ริเริ่มมาจากภาคชุมชน ในจังหวัดนครราชสีมา ที่จะนำมาเป็นโครงการนำร่อง ได้แก่ โครงการ จัด"ลานพื้นที่กิจกรรม" ให้เป็นเวทีประชาคมเกิดขึ้น เพื่อจัดกิจกรรมและแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ในชุมชม และร่วมสร้างสรรค์กิจกรรมระดับชุมชนและประชาคม

"อันนี้ถือเป็นความพยายามที่ก่อให้เกิด การทำซีเอสอาร์ในรูปแบบใหม่ ที่เกิดจากการประสาน ความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจในส่วนกลางกับธุรกิจในส่วนภูมิภาค และถือเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมอีกอันหนึ่งที่เกิดขึ้นจากผลของโครงการ CSR Campus"

อีกส่วนหนึ่งที่ ดร. พิพัฒน์ คาดหวังว่าจะเป็นนิมิตใหม่เกิดขึ้นตามมา คือ การร่วมมือกันระหว่างประชาสังคม ท้องถิ่น และพาร์ตเนอร์ที่ให้การสนับสนุนโครงการ CSR Campus และอาจจะขยายไปถึงเอกชนรายอื่นที่จะเข้ามาร่วมด้วยในอนาคต แทนที่จะต้องพึ่งพานโยบายและการผลักดันจากส่วนกลาง

ด้าน พีระพงษ์ กลิ่นละออ ผู้อำนวยการฝ่าย CSR ดีแทค ผู้ให้การสนับสนุนโครงการนี้ ให้มุมมองถึงกิจกรรมต่อยอดจากซีเอสอาร์แคมปัส มาสู่ CSR in action ว่า ทางดีแทคและพันธมิตร คือ กสท และโตโยต้า ได้หารือเรื่องนี้กันมาต่อเนื่องเพื่อที่จะก้าวไปสู่การเป็นแกนหลักในด้านการสนับสนุนเชิงวิชาการให้เกิดการเรียนรู้ ต่อเนื่องไปจากนี้ เนื่องจากที่ผ่านมากรณีศึกษาเรื่องซีเอสอาร์ที่พบเห็นและนำมาใช้นั้นส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ ซึ่งด้วยลักษณะ หรือเอกลักษณ์ของคนไทยแล้ว หลายๆคนมองว่า หากนำมาใช้กับเมืองไทยจะต้องปรับเปลี่ยนตลอดเพราะคนไทยมีคาแรกเตอร์ที่แตกต่างออกไป

"กรณีศึกษาที่ได้จากซีเอสอาร์แคมปัสจะเป็นเหมือนการสร้างรูปแบบให้เกิดขึ้นได้ และจะช่วยให้คนไทยได้เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของบ้านเราจริงๆ"


[Original Link]