Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ทำไมต้องมี "นโยบาย CSR" แห่งชาติ


"เคยมีคนบอกว่า การจัดทำนโยบายไม่จำเป็นอะไรเพราะเป็นแค่นโยบาย บอกไม่ได้ว่าจะมีการขับเคลื่อนหรือไม่" ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พูดถึงความเชื่อและมุมมองที่คนส่วนหนึ่งมีต่อการจัดทำนโยบาย CSR ในระดับประเทศ

ไม่ว่านโยบาย CSR ในโครงการส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคมในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและให้ความรู้ CSR ซึ่งสถาบันไทยพัฒน์ฯ ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม (CSR) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ดำเนินการตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา ในการลงพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อระดมสมองจากภาคส่วนต่างๆ กว่าจะมาเป็นข้อสรุปในวันนี้จะกลายเป็นนโยบายและมีการขับเคลื่อนได้จริงหรือไม่

แต่ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจกว่านั้นอยู่ที่ ความจำเป็นและเหตุผลในการต้องมี นโยบาย CSR ในระดับประเทศ

ในฐานะที่ศึกษาเรื่องนี้ ดร.พิพัฒน์มองว่า "หลายครั้งเราจะเห็นว่ามีวงที่ขับเคลื่อนเชื่อมเป็นเครือข่ายแล้วก็มานั่งถกกันว่าสำคัญ แต่พอหลังจากเครือข่ายนี้มันหายไป วาระที่พูดถึงกันก็จบ ก็ไม่มีการประมวลตัวข้อเสนอให้เป็นรูปธรรม ซึ่งตัวนโยบายก็เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เกิดเป็นรูปธรรมของการผลักดัน"

"ในประเทศที่มีนโยบายชัดเจนจะมีการตั้งเป็นกองทุน หรือมีการผลักดันให้สถานีโทรทัศน์หรือวิทยุจะต้องมีเวลาให้กับเรื่องนี้ มีกระทั่งการจัดทำหลักการให้มีความโปร่งใส รูปธรรมอีกอย่างของประเทศในยุโรป บางแห่งมีการพัฒนาเครื่องมือของการทำให้บริษัท จัดเตรียมเครื่องมือหรือวิธีการไว้ให้เพื่อทำ CSR ยกตัวอย่าง CSR index กลุ่มของสหราชอาณาจักร ซึ่งจะเป็นจุดที่จะทำให้คนที่ทำ CSR ในภาคธุรกิจมีแนวทางชัดเจนว่า ถ้าจะทำจะต้องมีตัวแปรอะไรบ้าง รวมไปถึงการจัดทำมาตรฐาน CSR เฉพาะในแต่ละประเทศ นั่นเป็นตัวอย่างของซีเอสอาร์ที่รัฐเข้ามามีบทบาท"

แม้ว่าในความจริงอาจจะคุ้นเคยเพียงว่า ภาครัฐมีบทบาทในด้านการกำกับดูแลให้องค์กรธุรกิจต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แต่หากมองในมุมของธนาคารโลกได้ระบุบทบาทของรัฐที่มีต่อเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ (CSR) ไว้ 4 ลักษณะ ได้แก่ 1.การใช้อำนาจ (mandating) ผ่านการบังคับใช้กฎหมาย วางกฎระเบียบ หรือใช้รางวัลในการจูงใจ 2.การอำนวยการ (facilitaing) ด้วยการใช้ตัวบทกฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษ การจัดหาแหล่งเงินทุนสนับสนุน การเพิ่มความตระหนัก รวมไปถึงการสร้างเหตุกระตุ้นทางการตลาด 3.การเป็นหุ้นส่วน (partnering) ในการควบรวมทรัพยากรที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคธุรกิจ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน รวมถึงการสร้างสัมพันธภาพกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย 4.การสนับสนุน (endorsing) ด้วยการสนับสนุนจากภาคการเมืองและการประกาศเกียรติคุณต่อสาธารณะ

"ในสหภาพยุโรปในแง่ของการจัดเตรียมวิธีการหรือนโยบายในการทำ CSR จะมีลักษณะอยู่ มีการให้เรตติ้ง สมมติว่าประเทศอิตาลีเพิ่งเริ่มก็อาจจะมีคะแนนน้อย ถ้าอังกฤษที่ขับเคลื่อนไปมากแล้วก็จะมี เรตติ้งสูง ซึ่งจะเป็นการกำหนดเป็นเกณฑ์มาตรฐานกันทำให้เกิดความต่อเนื่องไปเรื่อยๆ และที่ทำอย่างนี้ได้เพราะมีการกำหนดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน"

"ขณะที่บ้านเราอาจจะคิดว่า เรื่องนี้ควรทำ เรื่องนี้ควรจัด แต่เป็นลักษณะของการต่างคนต่างทำ จึงคิดว่าพัฒนาการของยุโรปน่าจะเป็นตัวอย่างหรือบทเรียนที่จะให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แต่ต้องหมายเหตุไว้ว่า บางอย่างก็อาจจะต้องมีการปรับให้เข้ากับบริบทไทย อย่างเราเห็นว่าที่ยุโรปมีการตั้งกระทรวง CSR พอเรามีพูดในส่วนของเราเอง ปรากฏว่าคนที่นำไปปรับใช้ไม่ได้เข้าใจก็เกิดปัญหาเหมือนกัน อย่างวันนี้ถ้าผมโยนประเด็นว่าจะทำกระทรวง CSR คนก็จะบอกว่าตั้งกระทรวงอีกแล้ว ต้องใช้ งบประมาณ แต่ไม่ได้ดูเนื้อหาว่าทิศทางจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร"

แม้โดยส่วนตัว เขาจะมองว่า "กระทรวง CSR" นั้นมีความจำเป็น โดยบทบาทที่มีในต่างประเทศปัจจุบัน คือ การส่งเสริม การทำให้เกิดเครื่องมือการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม รวมไปถึงการนำ CSR เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายด้านต่างๆ ของประเทศ เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการพัฒนาคนของกระทรวงแรงงาน เป็นต้น

แต่จะอย่างไรถึงวันนี้ เขาเชื่อว่า "เราต้องยอมรับว่าบริบทของเมืองไทยยัง ไม่พร้อม"

"ที่ผ่านมามีการเสนอว่าน่าจะมีส่วนที่เป็นองค์กรมหาชนเพื่อขับเคลื่อนเรื่อง CSR แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะการที่เราจะบูรณาการงาน CSR โดยที่กระทรวงต่างๆ ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจตรงนี้ สิ่งผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นคือ มีองค์กร CSR แล้วก็ทำงานไปคนเดียวจบ เหมือนกับการก่อตั้งศูนย์อะไรสักอย่างหนึ่งในเมืองไทย และดูเหมือนว่ามีตัวตนชัดเจน แต่จริงๆ แล้วงานไม่สามารถบูรณาการได้ ฉะนั้นในเมืองไทยสิ่งที่จะต้องมีไม่ใช่องค์กร แต่น่าจะเป็นคณะกรรมการซีเอสอาร์แห่งชาติ ซึ่งเกิดจากการเชิญตัวแทนของกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 7 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข เข้ามาจัดทำแนวทางบางอย่างเพื่อจะเตรียมพร้อม และต้องทำให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างทางเพื่อเดินไปในทิศทางเดียวกัน"

ถึงวันนี้หลังจากจบโครงการ สิ่งที่สถาบันไทยพัฒน์ฯในฐานะผู้รับผิดชอบในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย CSR จะทำต่อไปคือการส่งมอบข้อเสนอสู่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหากมีการเดินหน้าต่อ จากนโยบายจะถูกแปลงไปสู่ยุทธศาสตร์

โดยเป็นการทำงานร่วมกันของแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะนำไปสู่แผนปฏิบัติการ ที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนเป็นภาพใหญ่ และแก้ปัญหาเรื่องต่างคนต่างทำ รวมไปถึงการทำงานที่ซ้ำซ้อนกันเช่นที่ เป็นอยู่

แต่จะเป็นจริงได้แค่ไหนคงต้องติดตามในระดับห้ามกะพริบตา !!


[Original Link]