Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

CSR ตื่นจากกระแส เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ

Special Report แวดวงตลาดทุนไทย

ที่ผ่านมา ยังคงมีการถกเถียงกันถึงเรื่องการทำ CSR ที่ย่อมาจาก Corporate Social Responsibility หรือที่เรียกเป็นภาษาไทยว่า ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ ว่าเป็นเพียงกระแสสังคม หรือแม้กระทั่งประเด็นที่ว่า กิจกรรมไหนคือ CSR ของจริง แต่มาวันนี้ CSR กลายเป็นเครื่องมือที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างเห็นตรงกันว่า จะช่วยสร้างความอยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังรุมเร้า

ไม่เฉพาะประเทศไทยที่มีการตื่นตัวเรื่อง CSR กันอย่างกว้างขวาง เพราะวาระในทุกๆ เวทีการประชุมระดับนานาชาติ นับตั้งแต่การประชุมเอเชีย-ยุโรป หรือ อาเซ็ม ครั้งที่ 7 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศจีน เมื่อเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว การประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค ที่สาธารณรัฐเปรู เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 และล่าสุดที่เพิ่งสิ้นสุดไปสดๆ ร้อนๆ คือการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 2552 ที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ล้วนแล้วแต่มีการหารือเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ CSR จนทำให้เรื่อง CSR มิได้เป็นเพียงวาระขององค์กร หรือวาระในอุตสาหกรรม หรือวาระแห่งชาติ แต่มันได้กลายเป็นวาระนานาชาติไปเรียบร้อยแล้ว

สำหรับความเคลื่อนไหวเรื่อง CSR ในประเทศไทยล่าสุด กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้จัดทำมาตรฐานความรับผิดชอบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อสังคม (CSR-DIW) ขึ้นมา เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจะได้พัฒนาตนเองเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐาน ISO 26000 ซึ่งมาตรฐานนี้ได้มีการร่างมาตั้งแต่ปี 2548 และจะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการในปี 2553 นี้

ดร.ไชยยศ บุญญากิจ รองประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ขยายความเพิ่มเติมว่า CSR ย่อมาจากคำว่า Corporate Social Responsibility ส่วน DIW มาจากคำว่า Department of Industrial Works ซึ่งเป็นร่างมาตรฐานที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้จัดทำขึ้นสำหรับผู้ประกอบการ โดยใช้ข้อมูลพื้นฐานจากร่างมาตรฐาน ISO 26000 เป็นตัวพื้นฐาน และได้มีการกำหนดเป็นเกณฑ์และมาประยุกต์ให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมไทย โดยได้มีคณะกรรมการร่างเกณฑ์ขึ้นมา สำหรับประโยชน์นั้นก็คือ เตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมไทยให้สามารถนำพื้นฐานตัวนี้ ISO 26000 ที่คาดว่าจะประกาศใช้ในปี 2553 เป็นการเตรียมตัวผู้ประกอบการ ซึ่งจะมีประโยชน์มากจากการที่เข้าไปร่วมร่าง พบว่าค่อนข้างจะครอบคลุมทุกๆคนเกี่ยวกับ CSR

CSR – DIW จึงเปรียบเสมือนใบเบิกทางในการค้าขายระดับสากล แม้ว่าขณะนี้อาจไม่ได้มีข้อกำหนด CSR เป็นมาตรการกีดกันทางการค้านอกเหนือจากเรื่องภาษีก็ตาม แต่ทั่วโลกก็เริ่อมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยล่าสุดกลุ่มประเทศในและนอก OECD หรือกลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม มีสมาชิกกว่า 30 ประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐและกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ได้ทำข้อตกลงด้าน CSR เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จึงไม่น่าแปลกใจที่หน่วยงานภาครัฐ จะร่วมกันผลักดันให้ ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมมีความรับผิดชอบต่อสังคม ได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้พื้นฐานความเข้าใจ รวมไปถึงความร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถพัฒนาและยกระดับ CSR ในกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศให้ก้าวเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐาน ISO 26000 ได้ก่อนกำหนด

“ความพร้อมทุกโรงงานเรียกว่าอยากจะทำ เพราะซักวันหนึ่งถึงแม้โรงงานไม่ทำเองก็จะถูกผลักดันไม่ว่าจะเป็นต่างประเทศหรือสังคมเองให้ทำ ถ้าเรารอถึงวันนั้นก็จะช้าเกินไป” ดร.สันติ กนกธนาพร ผู้อำนวยการสถาบันรับรองมาตรฐาน ISO ยืนยันหนักแน่นถึงความจำเป็น

นอกจากแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนก็ตระหนักถึงความสำคัญของ CSR ในการสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์ในการจัดโครงการ CSR Day ขึ้น เพื่อเป็นการรณรงค์ให้บริษัทจดทะเบียนและหน่วยงานต่างๆ ได้จัดกิจกรรมวัน CSR หรือ CSR Day ขึ้นในสถานประกอบการ

แม้รูปแบบโครงการจะเหมือนการจัดกิจกรรมทั่วๆไป คือ การบรรยายหัวข้อ CSR ที่เหมาะสมกับสถานประกอบการ จัดให้มีกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างพนักงาน การระดมความคิดกิจกรรม CSR ที่สร้างสรรค์ และการร่วมค้นหา CSR Agent เพื่อทำการขับเคลื่อนงาน CSR ขององค์กร แต่โครงการ CSR Day อยู่บนความคาดหวังว่า จะช่วยสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้แก่องค์กร ด้วยการใช้กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของโครงการ CSR ที่แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเน้นการสร้างความมีส่วนร่วมของพนักงานที่ถ่ายทอดออกสู่สังคม เป็นการสร้างจิตสำนึกในการดำเนินธุรกิจที่เล็งเห็นถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมมากกว่าปัจจัยด้านการเงิน

“ช่วงนี้เป็นช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจกำลังผันผวน ธุรกิจเองก็ต้องอยู่รอด ต้องกระบวนการทำงาน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงในภาวะที่เศรษฐกิจการเงินในปัจจุบัน การที่เราคิดเรื่อง CSR Day หรือการที่นำกระบวนการเรื่อง CSR มาอยู่ในกระบวนการทำงาน ก็จะเป็นส่วนช่วยให้เกิดความร่วมมือในการทำงาน และเป็นการสร้างกระบวนการทำงานที่คำนึงถึงสังคมรอบด้านด้วย โดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องการใช้จ่ายเงิน ไม่ได้แปลว่าต้องมีเงินเพื่อทำ CSR แต่ถ้าเราสามารถที่จะทำกระบวนการนี้ โดยคำนึงถึงผู้ที่เกี่ยวข้องและสังคมรอบด้าน บุคลากรในองค์กร ความเข้าใจตรงกันว่า CSR Day ที่ดี สามารถใส่ในกระบวนการได้ และมีผลต่อความยั่งยืนของการทำธุรกิจต่อไปด้วยนะคะ” ภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกล่าว

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ให้ความเห็นที่สอดคล้องกันว่า “ผมคิดว่าโครงการ CSR Day ถูกรังสรรค์ขึ้นมาเพื่อเติมตรงนี้ ให้เต็ม ก็คือว่า มุ่งเน้นให้พนักงานในองค์กรนั้นๆมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม CSR Day ขององค์กร เพราะว่าที่ผ่านมาอาจจะมีการขับเคลื่อน CSR ขององค์กรโดยส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่ง ขององค์กรเท่านั้น เพราะฉะนั้นหลายครั้งกิจกรรม CSR ไม่ได้รับการตอบรับจากพนักงานเท่าที่ควร โครงการ CSR Day จุดที่เน้นก็คือว่า ต้องการเข้าไปจัดกิจกรรม CSR ในสถานประกอบการเพื่อให้พนักงานขององค์กรนั้นๆ ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการที่จะขับเคลื่อน CSR ได้ด้วย”

โครงการ CSR Day ที่เริ่มต้นจัดขึ้นได้รับการสนับสนุนจาก 2 บริษัทจดทะเบียน ได้แก่ บมจ. บางจากปิโตรเลียม และบมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC ที่ถือเป็นต้นแบบในการดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่อง CSR ที่ถูกต้องให้แก่พนักงานในทุกระดับ และยังเป็นการพัฒนา CSR ในสถานประกอบการทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ก่อนขยายผลไปยังบริษัทจดทะเบียนอื่นๆ

วัฒนา โอภานนท์อมตะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. บางจากปิโตรเลียม กล่าวว่า บางจากเห็นถึงความสำคัญเรื่องนี้มานานแล้ว และยินดีที่จะร่วมสนับสนุนและส่งเสริมให้มีโครงการ CSR Day

“ผมคิดว่าในแง่ของ บางจากเอง ทำเรื่องของ CSR มานาน เรามีองค์ความรู้ เรามีสถานที่ มีประสบการณ์ มีกิจกรรม เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราให้การสนับสนุนได้ก็คงเป็นแหล่งเรียนรู้อันหนึ่งในการที่จะให้บริษัทจดทะเบียน มีความสนใจในการที่จะเข้ามาทำ เราก็ยินดีที่จะให้องค์ความรู้นี้ เหมือนการแลกเปลี่ยน เข้าใจว่าโครงการ CSR ต้องการอาสาสมัครด้วยในการเป็นพี่เลี้ยง ในการทำกิจกรรม ผมคิดว่าในแง่ของพนักงานบางจากเอง สามารถที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นพี่เลี้ยงนะครับ” วัฒนากล่าว

ในขณะที่พีระพงษ์ กลิ่นละออ ผู้อำนวยการสำนักงาน CSR บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่นก็ยืนยันถึงความพร้อมของพนักงาน

“ก็จริงๆจะนำทั้ง 3 ส่วนที่โครงการทำดีทุกวันของ DTAC ทำไว้ก็คือ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเคโนโยลี มาใช้กับ CSR ได้นะครับ เรื่องของความรู้ซึ่งก็ตรงกับ CSR Day อยู่แล้ว และท้ายสุดแล้วทั้งองค์กรของ DTAC พนักงงานทุกคนก็ยินดีให้ความร่วมมือกับทำอะไรก็ได้ ที่จะก่อให้เกิดความสุขแบบยั่งยืน ทาง DTAC ก็จะดำเนินการช่วยสนับสนุนให้ครับ” พีระพงษ์กล่าว

CSR ที่พัฒนาจากกระแส จนกลายเป็นแนวทางปฏิบัติ จะเป็นคำตอบสุดท้ายที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับภาคธุรกิจหรือไม่ หรือกลายเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้ารูปแบบใหม่ที่จะเริ่มใช้ทันทีที่มาตรฐาน ISO26000 มีผลบังคับใช้ในปี 2553 อีกไม่นานคงได้รู้กัน

ติดตาม Special Report แวดวงตลาดทุนไทย ทุกวันศุกร์ ในรายการ Pre Opening ก่อนเปิดตลาดภาคบ่าย เวลา 14.00 น. ช่องทางการรับชม Money Channel: True Visions ช่อง 80 - เคเบิลทีวีท้องถิ่นทั่วประเทศ ช่อง 30 - จานดาวเทียม Samart DTH และ DTV ช่อง 08


[Original Link]