Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

เปิดแผนแม่บท ซีเอสอาร์ กฟภ.

โฟกัส 3 กลุ่มยุทธศาสตร์หลัก "ไฟฟ้า เที่ยงธรรม-ทั่วถึง-ทดแทน"

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ The Provincial Electricity Authority (PEA) เป็นรัฐวิสาหกิจด้านสาธารณูปโภค มีภารกิจจัดหาและให้บริการพลังงานไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งในและต่างประเทศ ให้บริการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับประชาชนใน 73 จังหวัด ยกเว้น กทม. นนทบุรี และ สมุทรปราการ บริการผู้ใช้ไฟฟ้ากว่า 14 ล้านราย เรียกได้ว่าเป็นองค์กรที่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคหรือลูกค้ามากที่สุดแห่งหนึ่ง

กลยุทธ์องค์กร กฟภ. จึงไม่ได้แค่กำหนดกลยุทธ์ในการขยายตัว บริหารความเสี่ยง และบริหารความเปลี่ยนแปลง แต่จะต้องบริหารระบบบรรษัทภิบาล (Corporate Governance : CG) ยึดหลักการกำกับดูแลองค์กรที่ดี รวมถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Corporate Social Responsibility : CSR)

ล่าสุด กฟภ. ได้มีการทบทวนแผนยุทธศาสตร์ (2552-2557) ในแผนยุทธศาสตร์ฉบับปรับปรุงครั้งใหม่ ได้นำเอายุทธศาสตร์การจัดการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมาไว้เป็นหัวข้อแรก จากเดิมอยู่ในหัวข้อสุดท้ายแสดงให้เห็นว่า กฟภ. ได้ให้ความสำคัญเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Corporate Social Responsibility : CSR) มากขึ้น

นายนริศ ศรีนวล รองผู้ว่าการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า ทาง กฟภ. ทำ CSR มานานนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2503 โดยดำเนินการทั้งในกระบวนการธุรกิจ (csr in process) และนอกกระบวนธุรกิจ (after process) มาในยุคนี้ ทาง กฟภ. ได้เพิ่มความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้นตลอดเวลา เนื่องจาก กฟภ. ต้องการให้บริการสาธารณูปโภคที่ดีต่อประชาชน ขณะที่กระทรวงการคลังยังได้กำหนดตัวชี้วัดด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของรัฐวิสาหกิจคิดเป็นสัดส่วน 15% ของคะแนนประเมินรวม

ล่าสุด กฟภ. จึงได้จัดทำแผนแม่บทเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นแผน 3 ปี เริ่มตั้งแต่ ปี 2552-2554 เพื่อใช้เป็นแนวทางและกรอบการดำเนินงาน ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมอบหมายให้สถาบันไทยพัฒน์ เป็นผู้ดำเนินการ และขณะนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ในแผนแม่บทดังกล่าว กฟภ. ได้กำหนด ยุทธศาสตร์ (Strategic Theme) ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ยุทธศาสตร์ CSR ภายในองค์กร หรือ "ไฟฟ้าเที่ยงธรรม" ยุทธศาสตร์ CSR ภายนอกองค์กร หรือ "ไฟฟ้าทั่วถึง" และการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่ยั่งยืน หรือ "ไฟฟ้าทดแทน"

ซึ่งทั้งหมดนี้ กฟภ. คำนึงถึง 3 P คือ Personal People และ Planet

รองผู้ว่าการ กฟภ. กล่าวว่า ในส่วนของไฟฟ้าเที่ยงธรรม หรือ การคำนึงถึงพนักงาน องค์กรภายใน หรือ Personal หลักๆ คือ การพัฒนาระบบการบริหารจัดการให้มีความโปร่งใส เป็นธรรม เสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมให้แก่พนักงานด้วยมาตรการที่เป็นรูปธรรมใช้ระบบการประเมินผลที่เที่ยงตรง มีคุณธรรมเพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ตลอดจนการปลุกจิตสำนึกด้านการบริการที่ดีทั้งกับคนภายในและภายนอก เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ "ไฟฟ้าทั่วถึง" ขยายขอบข่ายความรับผิดชอบไปยังสังคมวงกว้าง เน้นที่ลูกค้า ประชาชน (People) ขยายขอบเขตการบริการไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่ รวมถึงการรณรงค์ให้ ประชาชนใช้ไฟฟ้าอย่างปลอดภัย การมีส่วนร่วมในกิจกรรมกับท้องถิ่น และสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมขององค์กร เพิ่มช่องทางบริการทันสมัยเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคที่สูงขึ้น ตลอดจนการปรับปรุงคุณภาพไฟฟ้าให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่

ส่วน ยุทธศาสตร์ "ไฟฟ้าทดแทน " เพิ่มความรับผิดชอบไปยังสังคม สิ่งแวดล้อมในวงกว้าง (Planet) เน้นรณรงค์ให้ใช้ฟ้าสาธารณะอย่างรับผิดชอบ การทำโครงการพลังงานทดแทน ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย และมุ่งเน้นการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เป็นต้น

ทั้งนี้ ในส่วน ไฟฟ้า ทดแทน ทาง กฟภ. มีโครงการตั้งโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก เพิ่มขึ้น เพื่อลดการผลิตไฟฟ้าจากการใช้น้ำมัน ช่วยลดการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวมวล และของเสียที่ได้จากกระบวนการกลั่นน้ำมันปาล์ม โดยขณะนี้ ได้ลงนามร่วมงานกับชุมนุมสหกรณ์ ที่จังหวัดกระบี่ โรงไฟฟ้าพลังลม ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.สะทิงพระ จ.สงขลา และที่อื่นๆ จะตามมาอีกในอนาคต เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน เป็นผลดีต่อโลกและสิ่งแวดล้อม

รองผู้ว่าการ กฟภ. กล่าวต่อไปว่า กฟภ. ยังมีโครงการ csr after process โดยเน้นโครงการสาธารณประโยชน์อีกจำนวนมากโดยให้พนักงาน ที่มีอยู่ 2.5 หมื่นคนทั่วประเทศ มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน ในส่วนนี้ ทาง กฟภ. ได้จัดสรรงบประมาณไว้กว่า 200 ล้านบาท เพื่อใช้ในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในปี 2552 นี้

สำหรับ โครงการ CSR ที่สำคัญๆ ประกอบด้วย โครงการ เยาวชนรักษ์โลก ลดภาวะโลกร้อน โครงการ บันทึกนักประหยัดตัวน้อย การปรับปรุงระบบไฟฟ้า ตาม วัด โรงเรียน การฟื้นฟูซ่อมแซมอุปกรณ์ไฟฟ้ากับผู้ประสบภัยธรรมชาติ โครงการ กฟภ. ร่วมใจต้านภัยยาเสพติด เป็นต้น

วัด OUTCOME ผลลัพธ์จากซีเอสอาร์แท้ สังคมได้ชัวร์
การวัดผลจากการดำเนินโครงการ ซีเอสอาร์ นั้น มีการวัดทั้ง out put และ out come แต่การวัด out come นั้นแม้จะทำได้ยากและมีขั้นตอนที่ต้องได้รับความจริงใจและจริงจังจากผู้ทำโครงการ ซีเอสอาร์ และย่อมเกิดประโยชน์ต่อสังคมที่ชัดเจนกว่า

การวัด out come จาก โครงการ ซีเอสอาร์ ของ กฟภ. กำลังเริ่มขึ้นในโครงการ "บันทึกนักประหยัดตัวน้อย" ที่ต้องการให้เกิดการประหยัดพลังงานของชาติ โดยมุ่งเน้นให้นักเรียน ที่เข้าร่วมโครงการ มีความรู้ ความเข้าใจ ในการประหยัดพลังงานจริงๆ รวมถึงมุ่งให้นักเรียนได้ใช้ไฟฟ้าอย่างถูกต้อง และถ่ายทอดไปยังผู้ปกครอง อีกด้วย

"โครงการนี้เราจะไม่ได้วัดแค่จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ เพราะการเข้าร่วมมากๆ ไม่ได้ทำให้เป้าหมายที่สังคมควรได้รับบรรลุผล เราจึงวัดจากพฤติกรรมของนักเรียน เช่น ให้ทำแบบทดสอบเพื่อเทสต์ความรู้ ความเข้าใจเรื่องการประหยัดพลังงาน ยังไม่พอ เราจะต้องไปสำรวจและสอบถามจากครู จากผู้ปกครอง ว่าเด็กที่เข้าร่วมโครงการ มีพฤติกรรมประหยัดไฟฟ้าจริงหรือไม่ อย่างไร และต้องวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าในชุมชน หรือ โรงเรียนนั้นๆ ว่า ลดลงจริงหรือไม่" รองผู้ว่าการ กฟภ. กล่าว และว่า วิธีการแบบนี้ เป็นการทำ ซีเอสอาร์ ที่ ชุมชน และสังคม ได้รับประโยชน์จริง คือการลดการใช้ไฟฟ้าได้จริง ซึ่งโครงการนี้ นอกจากประหยัดในระดับชุมชนแล้ว ในภาพกว้าง การใช้ไฟฟ้าที่ลดลง เท่ากับช่วยลดภาวะโลกร้อน เรียกว่า WIN-WIN ทุกฝ่าย ได้ประโยชน์ร่วมกันจริงๆ


[Original Link]