Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

การเตรียมข้อมูลสำหรับรางวัล CSR


ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับองค์กรธุรกิจและรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่ดำเนินงานด้านบรรษัทบริบาล (Corporate Social Responsibility : CSR) มาอย่างต่อเนื่อง จะคำนึงถึงการเสนอชื่อหน่วยงานหรือโครงการเข้าประกวด เพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นวิสาหกิจดีเด่นในการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานผู้มอบรางวัล CSR Award ต่างๆ

คำถามที่เกิดขึ้นในองค์กรธุรกิจและรัฐวิสาหกิจที่มีความสนใจเข้าร่วมประกวดส่วนใหญ่คือ จะมีเกณฑ์อะไรในการคัดเลือกโครงการที่สมควรได้รับรางวัล หรือเรียกว่าเข้าตากรรมการผู้พิจารณามอบรางวัล CSR Award และมีความโดดเด่นกว่าโครงการขององค์กรอื่นๆ

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันทั้งฝั่งของผู้เสนอตัวเข้าประกวดและกรรมการผู้ตัดสินรางวัลว่า CSR เป็นความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ซึ่งหมายถึงการดำเนินงานขององค์กรที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่รวมทั้งงานหรือภาระหน้าที่ในกระบวนการ (CSR in process) และที่ทำเพิ่มเติมโดยสมัครใจ เพื่อช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อมนอกกระบวนการ (CSR after process) นับ ตั้งแต่การเยียวยาฟื้นฟูจากที่ติดลบให้กลับเป็นปกติ และจากปกติให้น่าอยู่หรือเป็นบวกมากขึ้น การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ จึงต้องถูกผนวกอยู่ในทุกกระบวนการงานขององค์กร มิใช่เป็นกิจกรรม/โครงการเพื่อสังคม เพียงกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง หรือโครงการใดโครงการหนึ่งเท่านั้น

ฉะนั้นหากองค์กรใดกำลังพิจารณาที่ตัวโครงการเพื่อส่งเข้าประกวดเป็นหลัก หรือในฝั่งกลับกัน หากหน่วยงานผู้มอบรางวัลพิจารณาตัดสินที่ตัวโครงการเป็นหลัก ก็ แสดงว่ายังไม่มีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างดีพอที่จะส่งเข้าประกวด หรือที่จะมาพิจารณามอบรางวัลกันทั้งสองฝ่าย ยกเว้นว่าเวทีการประกวดนั้น มีข้อกำหนดที่เฉพาะเจาะจงว่า เป็นการประกวดกิจกรรมเพื่อสังคมหรือโครงการเพื่อสังคม ซึ่งก็ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

นอกจากปัจจัยในเรื่องเนื้อหาการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการที่ต้องมีความเข้มข้น สามารถตอบโจทย์หรือปัญหาของสังคมได้ตรงตามต้องการ และก่อให้เกิดผลกระทบอย่างจริงจังแล้ว การให้ข้อมูลหรือการตอบแบบสอบถามเพื่อเข้ารับการพิจารณาคัดเลือกรับรางวัล ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ เพราะหลายครั้งที่องค์กรซึ่งดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมได้อย่างน่ายกย่อง แต่กลับไม่ได้รับรางวัล เนื่องจากขาดการเตรียมข้อมูลที่ดีพอ และมิได้หมายความว่า วิสาหกิจอื่นซึ่งได้รับรางวัลจะดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมได้ดีไปกว่าองค์กรเหล่านี้แต่อย่างใด

การตอบแบบสอบถามเพื่อเข้ารับการพิจารณาคัดเลือกรับรางวัลจะต้องประกอบด้วยความแม่นยำ (accuracy) ความครอบคลุม (coverage) ความมีนัยสำคัญ (materiality) และความชัดเจน (clarity) โดยประเด็นที่อยากจะกล่าวถึงในที่นี้คือ เรื่องความครอบคลุมและความมีนัยสำคัญของเนื้อหาการดำเนินงานด้านสังคมและ สิ่งแวดล้อม

ในเรื่องของความครอบคลุม การเตรียมข้อมูลการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ในส่วนแรกควรมีรายละเอียดที่ระบุถึงความมุ่งมั่นและเจตนารมณ์ขององค์กรที่เรียกว่าเป็น commitment หรือ engagement ในเรื่อง CSR ซึ่งจะปรากฏอยู่ในนโยบาย วิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยม หรือแผนการดำเนินงานด้านสังคมและ สิ่งแวดล้อมขององค์กร รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานด้าน CSR ตลอดจนการจัดทำแผนแม่บท แผนปฏิบัติการ หรือรายงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมประจำปี

ในส่วนที่สองเป็นรายละเอียดการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า practices ขององค์กรในเรื่อง CSR ซึ่งควรต้องครอบคลุมในเรื่องหลักๆ ตามแนวปฏิบัติหรือมาตรฐานทาง CSR ที่เป็นสากลหรือเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ได้แก่ การกำกับดูแลองค์กร (organizational governance) สิทธิมนุษยชน (human rights) การปฏิบัติด้านแรงงาน (labour practices) สิ่งแวดล้อม (the environment) การปฏิบัติดำเนินงานอย่างเป็นธรรม (fair operating practices) ประเด็นด้าน ผู้บริโภค (consumer issues) การมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน (community involvement and development) และนวัตกรรม (innovation) ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ในเรื่องของความมีนัยสำคัญ เนื่องจากเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาของแต่ละหน่วยงานผู้มอบรางวัลจะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ดีการพิจารณาสาระสำคัญของการดำเนินงานด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมจะมีเกณฑ์ที่คล้ายคลึงกันอยู่ 3 ประการ ได้แก่

การมุ่งเน้นหลัก (focus) โดยการพิจารณาว่าองค์กรให้การมุ่งเน้นในการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้นๆ มากน้อยเพียงใด มีการจัดสรรงบประมาณ ทรัพยากร และบุคลากรในการดำเนินงานอย่างเพียงพอหรือไม่ อย่างไร มีการเฝ้าติดตามวัดความก้าวหน้าของการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ และมีการประเมินผลการดำเนินงาน รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อมอย่างไร

ความต่อเนื่อง (continuity) โดยการพิจารณาว่าองค์กรมีความต่อเนื่องในการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้นๆ มากน้อยเพียงใด มีกำหนดวันเริ่มต้นและ วันสิ้นสุดการดำเนินงานในลักษณะใด มีการจัดทำคู่มือการดำเนินงาน เพื่อการมอบหมายและถ่ายโอนงานอย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่ และมีการต่อยอดขยายผลการดำเนินงานไปสู่พื้นที่ดำเนินงานอื่นๆ ด้วยหรือไม่ อย่างไร

การร่วมดำเนินงาน (collective action) โดยการพิจารณาการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้นๆ ว่าเปิดโอกาสให้ พนักงานและบุคคลภายนอกได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานมากน้อยเพียงใด ตั้งแต่กระบวนการคิดค้นและออกแบบการดำเนินงานไปจนถึงการมีส่วนร่วมในผลลัพธ์จากการดำเนินงาน หรือเป็นการดำเนินงานที่ร่วมกันระหว่างหลายหน่วยงาน และมีการแบ่งสรรทรัพยากรที่ใช้ในการดำเนินงานร่วมกันอย่างไร

หวังว่าข้อแนะนำข้างต้นคงจะเป็นประโยชน์ให้แก่วิสาหกิจที่ดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมมาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง แต่ไม่จัดเจนในเรื่องของการเตรียมข้อมูล สามารถที่จะให้ข้อมูลเพื่อเข้ารับการพิจารณาคัดเลือกรับรางวัล CSR จากหน่วยงานต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น


[Original Link]