Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

โมเดลทำซีเอสอาร์เชิงระบบ ติวเข้มหน้าที่พลเมือง


รูปแบบธุรกิจในยุคนี้นอกจากมุ่งหวังกำไรสูงสุด บทบาทของการดูแลสังคมและชุมชนรอบข้างต้องมีคุณภาพเคียงคู่ไปกับอุตสาหกรรมด้วย เหล่านี้เรียกว่าซีเอสอาร์ (Corporate Social Responsibility : CSR)โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมทั้งในระดับใกล้และไกล ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในองค์กรหรือทรัพยากรจากภายนอกองค์กร ในอันที่จะทำให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข

5 ปีที่ผ่านมาบริษัทเอกชนหันเหเข้ามาทำซีเอสอาร์มากขึ้น ทำให้องค์กรเป็นที่รู้จักของสังคมมากขึ้น ขณะเดียวกัน มีบริษัทเล็ก ๆ ที่มุ่งมั่นทำซีเอสอาร์อย่างตั้งใจแม้ไม่มีงบโฆษณาประชาสัมพันธ์จำนวนมาก เพื่อยกระดับเนื้อหาของการทำซีเอสอาร์ในเชิงระบบที่มุ่งเน้นผลลัพธ์มาก กว่าผลผลิต

บมจ.กสท โทรคมนาคม บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (ดีแทค) และ บจ.โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดตัวโครงการซีเอสอาร์ แคมปัส (CSR Campus) เป็นปีที่ 2 ครอบคลุมพื้นที่การดำเนินงานในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หน่วยงานที่ดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่องซีเอสอาร์ในเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่าปัจจัยหนึ่งที่มูลนิธิมุ่งจะอบรมความรู้อย่างเป็นระบบ มาจากผลสำรวจว่าผู้ประกอบการรุ่นใหม่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ แท้จริงทุกบริษัททำซีเอสอาร์กันอยู่แล้ว เช่นการเสียภาษี การให้เป็นผลตอบแทนและสวัสดิการที่เป็นธรรม

แต่การทำซีเอสอาร์มีมากกว่านั้น เช่นต้องป้องกันไม่ให้มลพิษออกสู่ชุมชน คำนึงถึงวิถีชีวิต ขนบประเพณีของคนในท้องถิ่นด้วย ดังนั้นโครงการซีเอสอาร์แคมปัส จะมาช่วยเติมเต็มสะท้อนมิติของการทำซีเอสอาร์ที่กว้างขวางมากขึ้น ยกตัวอย่างภาคต่าง ๆ ของภูมิภาคมีปัญหาท้องถิ่นต่างกันเช่นภาคอีสานหัวข้อทำซีเอสอาร์ อาจมุ่งส่งเสริมอนุรักษ์แหล่งทำกิน ฟื้นฟูแหล่งน้ำ ภาคเหนือหัวข้อซีเอสอาร์มุ่งส่งเสริมเอกลักษณ์ท้องถิ่น เป็นต้น

“ซีเอสอาร์ของจริง เป็นสิ่งที่สังคมต้องการ ยอมรับมองประโยชน์ของสังคมเป็นหลัก”

ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ เปิดเผยถึงโครงการซีเอสอาร์แคมปัสปี 2 (CSR campus ปี 2) สำหรับกลุ่มเป้าหมายในโครงการ ซีเอสอาร์ แคมปัส ปี 2 นี้ จะเน้นไปที่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ทายาทนักธุรกิจ นักศึกษา และผู้ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการสังคม ภายใต้โมเดลยังซีเอสอาร์ (Young CSR) เพื่อสอดแทรกเรื่องหน้าที่พลเมืองก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานและโลกธุรกิจ อีกทั้งเพื่อให้สอดรับกับภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน และเป็นการสร้างโอกาสในการทำงานเพื่อสังคมภายใต้วิกฤติ เน้นนำเสนอเนื้อหาที่เจาะลึกเรื่องการทำซีเอสอาร์เชิงระบบ ที่คำนึงถึงตัวบ่งชี้ความสำเร็จทั้งในระดับปัจจัยนำเข้า ผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ ที่เป็นประโยชน์ต่อการวัดและประเมินผลกิจกรรมซีเอสอาร์ ขององค์กร

วุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวถึงโครงการ ซีเอสอาร์ แคมปัส ในปีนี้ว่า โตโยต้า ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เป็นหนึ่งในภาคีในการขับเคลื่อนโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนสังคมอย่างเป็นรูปธรรม และนำไปปรับใช้ให้ทันต่อสภาวการณ์การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม

ด้าน พีระพงษ์ กลิ่นละออ ผู้อำนวยการสำนักงาน ซีเอสอาร์ดีแทค กล่าวว่า เด็ก เยาวชน และครอบครัว เป็นพื้นฐานที่สำคัญของสังคม ซึ่งจะต้องผ่านเรื่องจริงของชีวิต ด้วยความขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน รู้จักสิทธิ หน้าที่พลเมืองของตนเองและต่อสังคม มีวินัยในความประพฤติ กิจวัตรประจำวัน การเรียน ทำงาน และควบคุมตนเอง ให้มีเมตตา กรุณา เสียสละ พ้นจากภัยปัจจุบัน ที่เป็นทั้งรูปแบบอบายมุขเดิมและยุคใหม่

รูปแบบกิจกรรมในโครงการปีนี้ จะแบ่งออกเป็นช่วงการเรียนรู้ ช่วงการฝึกหัด และช่วงการร่วมปฏิบัติใช้เวลา 6 ชั่วโมงต่อกิจกรรมหนึ่งครั้งในแต่ละจังหวัด โดยที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

สำหรับกำหนดการเดินสายในโครงการซีเอสอาร์ แคมปัส ปี 2 จะเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนในเขตภาคกลาง 25 จังหวัด เดือนสิงหาคมในเขตภาคอีสาน 19 จังหวัด เดือนกันยายนในเขตภาคเหนือ 17 จังหวัด และเดือนตุลาคมในเขตภาคใต้ 14 จังหวัด และจะกลับมารายงานผลการดำเนินโครงการที่กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดส่งท้าย

ผู้ที่สนใจเข้าร่วมในแต่ละจังหวัดสามารถติดตามตารางเวลาการอบรมและสมัครเข้าร่วมอบรมได้ทางเว็บไซต์ www.csrcampus.com หรือที่สำนักประสานงานโครงการ ซีเอสอาร์ แคมปัส โทรศัพท์ 0-2930-5227 โทรสาร 0-2930-5228 อีเมล info@csrcampus.com


[Original Link]