Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

หน้าที่พลเมืองขับเคลื่อน 'CSR'

โดย ชนิตา ภระมรทัต

องค์กรธุรกิจอเมริกาเริ่มพูดถึง Corporate Citizenship หลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์พิสูจน์ให้เห็นว่าแม้จะเก่งแต่ปฏิบัติไม่ดี ก็ไม่อาจอยู่รอดโดยลำพัง

คีย์ซัคเซสของการทำ CSR หรือ Corporate Social Responsibility ภายในองค์กรมีอยู่สองข้อ ข้อแรก ก็คือ ความสนับสนุนของผู้บริหาร ส่วนข้อที่สอง คือ ความร่วมมือของพนักงาน

นี่เป็นจุดค้นพบภายหลังที่ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ศึกษาเรื่อง CSR อย่างมุ่งมั่นตลอดระยะเวลา 4-5 ปี ที่ผ่านมาจนเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้

และเกิดเป็นความชัดเจนที่ว่าความสำเร็จของ CSR นั้นขึ้นอยู่กับ 'คน' โดยการปลูกฝังจิตสำนึกให้คน 'ตื่น' หรือตระหนักถึง CSR จากข้างในจิตใจเสียก่อน

"ที่ผ่านมาผู้บริหารมักจะตั้งทีมเฉพาะกิจรับผิดชอบ CSR ปรากฏว่ามันเฟล ด้วยธรรมชาติเรื่องนี้ต้องทำให้พนักงานทุกคนรู้สึกสำนึกในความรับผิดชอบ ต่อสังคมด้วยตัวของตัวเอง ภารกิจ CSR จำเป็นต้องเกิดทั่วทั้งองค์กร"

อย่างไรก็ดี ดร.พิพัฒน์บอกว่าคนไทยทุกวันนี้ยังไม่ค่อยรู้จักและเข้าใจในเรื่องของ CSR เท่าไหร่นัก ไม่น่าแปลกใจที่พนักงานส่วนใหญ่ในองค์กรธุรกิจจึงมักปฏิเสธภารกิจ CSR เพราะมองว่าเป็นความเหนื่อยที่เพิ่มขึ้นจากหน้าที่ที่ต้องทำเป็นประจำอยู่แล้ว

"คนมักคิดและเข้าใจเรื่อง CSR ในมิติเดียว คือมักจะนึกว่าเป็นเรื่องที่ต้องออกไปข้างนอกไปทำอะไรๆ ให้กับสังคม แต่จริงๆ แล้วมิติใหญ่ที่สำคัญของมันซึ่งไม่แพ้การไปออกไปช่วยสังคมภายนอก ก็คือ CSR in process ซึ่งเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมในหน้าที่ เช่น ในหน้าที่ของผู้สื่อข่าว ก็คือการเขียนข่าวอย่างถูกต้อง ตรงตามข้อเท็จจริง มีจรรยาบรรณทางวิชาชีพ "

ดังนั้นการทำงานอย่างเต็มที่ ทำงานด้วยความซื่อสัตย์และด้วยความมุ่งมั่นก็เป็น CSR เช่นกัน อีกทั้งความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายหลังนั้น ดร.พิพัฒน์บอกว่าจะมีความเบาสบายไม่ต่างกับอาการ 'บุญ' ที่ได้รับเมื่อยามที่ได้ไปทำบุญที่วัดหรือทำทานให้แก่คนที่ยากไร้

พร้อมได้นำเสนอทางเลือกใหม่ที่ว่า...จะดีกว่าหรือไม่ที่จะทำให้ทุกๆ ชั่วโมงทำงานเป็นชั่วโมงบุญ? ซึ่งถ้าหากองค์กรธุรกิจจุดประกายความคิดนี้ ให้พนักงานเป็นผลสำเร็จ สิ่งที่หวังคงไม่อยู่ไกลเกินหวัง

ซึ่งทุกประโยคบอกเล่าที่กล่าวมาข้างต้นนั้นโดยนัย ดร.พิพัฒน์ต้องการชี้ให้เห็นพลังของคำว่า 'ปัจเจกชน' ด้วยบทบาทของคนหนึ่งคนนั้นมีความ หมายอย่างมหาศาลต่อส่วนรวม เช่นเดียวกับหนึ่งองค์กรธุรกิจที่สามารถสร้างปรากฏการณ์ได้ทั้งดีและร้ายต่อสังคม คงคล้ายวลีที่ว่า "ผีเสื้อกระพือปีกก็กระเทือนทั่วโลก"

ทำให้เมื่อไม่นานมานี้เขาจึงได้ไปค้นคว้าเพื่อจะรื้อฟื้น "หน้าที่พลเมืองไทย" ที่เคยสอนในอดีตนำกลับเอามาพูดใหม่ ซึ่งเรื่องนี้ประกอบอยู่ในหลักสูตร 'ศีลธรรมจรรยา' วิชาที่สอนเด็กไทยในปี พ.ศ. 2478 (หลักการอยู่ในล้อมกรอบ)

"ผมนึกขอบคุณบรรพบุรุษของเราที่เรียงหัวข้อหน้าที่พลเมืองไทยที่มีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ไว้ได้อย่างกระชับเหมาะสม มันจึงไม่เคยล้าสมัย และน่าจะถูกหยิบยกมาอ้างอิงได้ในทุกยุคทุกสมัย"

โดยเขาได้นำมาปรับใช้เป็นหลักการของ 'หน้าที่บรรษัทพลเมือง' ดร.พิพัฒน์ให้เหตุผลว่าหากโยงองค์กรธุรกิจมาอยู่ในมุม CSR ที่เป็นปัจเจกชนแล้วก็จะหมายถึง สมาชิกคนหนึ่งของเมือง ของสังคม และของชุมชน ซึ่งเรียกว่าเป็นบรรษัทพลเมือง ที่มีหน้าที่ยังประโยชน์ให้กับส่วนรวม (หลักการในล้อมกรอบ)

พร้อมอ้างถึงองค์กรธุรกิจฝั่งอเมริกาที่เริ่มยกฐานะสู่ความเป็น Corporate Citizenship กันอย่างมากมาย หลังจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เผยให้เห็นบทพิสูจน์ที่ว่าท่ามกลางความพังพินาศของธุรกิจในแวดวง ของชุมชน และสังคมที่ตั้งอยู่ แม้จะเก่ง (โกง) แค่ไหนก็ไม่อาจอยู่รอดเพียงลำพัง

องค์กร CSR เท่านั้นที่เป็นคำตอบที่ถูกต้อง
ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า ทุกวันนี้ตัวเขาได้ทำหน้าที่พลเมืองที่ช่วยจุดประกายความคิดให้คนไทยและองค์กรไทยตระหนักเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมให้หนักแน่นขึ้นเรื่อยๆ และมีสองกิจกรรมหลักที่กำลังผลักดันอย่างเต็มที่คือ CSR Campus (อบรมเอสเอ็มอีต่างจังหวัด) และ CSR Day (อบรมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์)

ซึ่งเมล็ดพันธุ์ที่หว่านไปก็กำลังออกดอกออกผล โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้มีการรวมตัวในรูปของคลัสเตอร์หรือเครือข่ายที่พร้อมจะขับเคลื่อน CSR ด้วยตัวของตัวเองนั้นก็เป็นผลลัพธ์ที่เหนือความคาดหมาย และสร้างอาการเบาสบายให้กับ ดร.พิพัฒน์..ยิ่งนัก

หน้าที่พลเมือง กับ หน้าที่บรรษัทพลเมือง ..เริ่มแผลงฤทธิ์เข้าให้แล้ว

หน้าที่ของพลเมือง
1.ต้องเป็นผู้ที่มีความพากเพียรแสวงหาเครื่องเลี้ยงชีพของตนโดยชอบธรรม
2.ต้องไม่ทำการเบียดเบียนคนผู้อื่น ด้วยกาย วาจา หรือแม้คิดด้วยใจ
3.ต้องเป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนในศาสนาที่เป็นหลักจรรยาของประเทศ บ้านเมืองที่ตนเป็นพลเมืองอยู่นั้นอย่างเคร่งครัด
4.ต้องเป็นผู้ที่เชื่อฟังยำเกรงต่อพระราชกำหนดกฎหมายของประเทศบ้านเมืองทุกเมื่อ
5.ต้องเป็นผู้ที่มีความสัตย์
6.ต้องมีความสวามิภักดิ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้เป็นประมุขแห่งชาติ
(ที่มา: หนังสือ “แนวสอนวิชาจรรยา” ว่าด้วยเรื่อง “ธรรมะเกี่ยวแก่หน้าที่” ซึ่งใช้สอนในช่วงปี พ.ศ.2478)

หน้าที่ของบรรษัทพลเมือง
1.ต้องประกอบธุรกิจเพื่อแสวงหากำไรโดยใช้หลักธรรมาภิบาล
2.ต้องไม่ดำเนินกิจการที่สร้างความเดือดร้อนเสียหายต่อส่วนรวม
3.ต้องส่งเสริมให้พนักงานมีศาสนธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ รวมทั้งใช้เป็นหลักในการทำงานและการดำเนินชีวิต
4.ต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบของท้องถิ่นโดยเคร่งครัด
5.ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลและรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานอย่างถูกต้องและโปร่งใส
6.ต้องสนับสนุนการดำเนินกิจการงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริตามบทบาทที่เอื้ออำนวย
(ที่มา: สถาบันไทยพัฒน์)


[Original Link]