Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ต่อยอด Campus ปี 2 สู่รูปธรรม CSR โคราช

ศรัญญู ตันติเสรี

วันนี้การทำ CSR หรือความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ (Corporate Social Responsibility) ได้แผ่ขยายวงกว้างไปสู่ระดับภูมิภาคอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการขับเคลื่อนให้ความรู้ทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติ

โครงการส่งเสริมความรู้ CSR สู่ภูมิภาค หรือ CSR Campus คือหนึ่งในโครงการขับเคลื่อนตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างเอกชนและภาควิชาการ ทั้ง บมจ. กสท โทรคมนาคม บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (ดีแทค) โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย และสถาบันไทยพัฒน์

สำหรับโครงการนี้เป็นการวางรากฐาน และสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องของ CSR แบบเบื้องต้น ซึ่งเป็นทั้งในรูปแบบของวิชาการและการทำเวิร์คชอป ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ ให้กับองค์กรและประชาชนทั่วไปที่สนใจ

มาถึงวันนี้ CSR Campus ได้ถูกต่อยอดและเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในหลายจังหวัด จนเกิดขึ้นในรูปแบบของ CSR ภูธร ซึ่งไม่ได้ขยายเฉพาะไปสู่องค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังขยายไปสู่เอสเอ็มอีและชุมชนทั่วไป

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ บอกว่า ปีที่ผ่านมาของการทำ CSR Campus ต้องยอมรับว่า โครงการนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี เพราะมีการต่อยอดและขยายผลจนออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ จ.นครราชสีมา ที่มีผู้ประกอบการรวมตัวกัน พร้อมกับมีการจัดตั้ง “CSR โคราช” ขึ้น

“CSR Campus เป็นเหมือนเวทีให้ทุกคนได้มารวมตัวและทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือซึ่งกันและกัน ไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการและชุมชนเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดเครือข่ายร่วมกับสถาบันการศึกษาด้วย เมื่อทุกฝ่ายมารวมตัวกัน จะทำให้เกิดความร่วมมือที่เข้มแข็ง”

ภารดี เกียรติภิญโญชัย ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสังคมโคราช (CSR โคราช) บอกว่า CSR โคราช เกิดจากการรวมตัวกันของหลายๆ ฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการภาคเอกชน ภาครัฐ นักวิชาการ เอ็นจีโอ และอาจารย์ ที่เล็งเห็นว่า การทำ CSR เป็นเรื่องที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วถึงประโยชน์ที่เกิดร่วมกัน ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย

“การรวมตัวกันและมีการก่อตั้งเป็น CSR โคราช เป็นผลมาจาก CSR Campus ซึ่งคนที่เข้าร่วมงาน โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจที่เข้าใจแล้วว่า การทำประโยชน์เพื่อสังคมไม่ใช่เป็นแค่การบริจาคเงิน สิ่งของ แต่เป็นการร่วมมือกันช่วยเหลือของหลายๆ ฝ่าย ที่ช่วยการสร้างประโยชน์ให้เกิดกับชุมชนและท้องถิ่น โดยที่ชุมชนจะต้องให้ความร่วมมือด้วยเช่นกัน”

โครงการหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจากการรวมตัวของ CSR โคราช และถือเป็นการต่อยอดของ CSR Campus ก็คือ การที่ทุกฝ่ายร่วมมือกันช่วยเหลือและฟื้นฟูชุมชนหนองลังกา ที่มีการร่วมกันทำกิจกรรม และพลิกฟื้นให้คนในชุมชนได้กลับมามีวิถีชีวิตตามแบบวัฒนธรรมดั้งเดิม พร้อมกับการสร้างอาชีพให้กลับคืนมา จนปัจจุบันชุมชนแห่งนี้สามารถฟื้นตัว และมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นการทำกิจกรรมด้านสังคมอย่างแท้จริง

“วันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมในท้องถิ่นของเราคือ เรามีการจัดตั้งเอง มีการช่วยเหลือกันเองโดยธรรมชาติ ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากส่วนกลาง ชุมชนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ เอ็นจีโอ เกิดการรวมตัวกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สิ่งนี้จะทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน”

ภารดี ตบท้ายว่า วันนี้การขับเคลื่อน CSR จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มจากตัวเรา แล้วขยายผลไปสู่คนอื่นๆ และเมื่อเกิดความร่วมมือกันแล้ว จะก่อให้เกิดประโยชน์สุขกับทุกฝ่าย เกิดเครือข่ายที่เข้มแข็ง และที่สำคัญก็จะทำให้เกิดความรักสามัคคี ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญในสังคมปัจจุบัน


[Original Link]