Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ทิศทาง CSR ปี 2553 ปีแห่งมาตรฐาน ได้เวลาธุรกิจ Repositioning


ข้อกล่าวหาที่มีคนพูดถึง การที่ธุรกิจนั้นหันมาใช้การดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) มาเป็นเพียงเครื่องมือโฆษณาประชาสัมพันธ์ โดยมิได้มีจุดมุ่งหมายที่จะยังประโยชน์ให้แก่สังคมอย่างแท้จริง แต่เป็นไปเพื่อรักษา ผลประโยชน์ขององค์กรเป็นที่ตั้ง อาจจะไม่ใช่เรื่องที่กล่าวเกินจริง และนับวันจะยิ่งมีมากขึ้นและมากขึ้น

สำหรับนักวิชาการที่เคี่ยวกรำและติดตามความเคลื่อนไหวด้าน CSR ในไทยอย่าง ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ มองว่า

"ไม่ใช่ว่าธุรกิจไม่ทราบว่าซีเอสอาร์เป็นมากกว่าเครื่องมือในการสร้างภาพลักษณ์ แต่หากไม่สามารถอดทนรอผลที่จะตอบสนองคืนให้แก่ธุรกิจในระยะยาวได้ จึงต้องหยิบฉวยสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามาปั้นให้เกิดผล อย่างทันตาเห็น หรือในหลายกรณี ก็ใช้โดยเจตนาเพื่อจะกลบเกลื่อนการดำเนินงานขององค์กรที่ส่งผลกระทบเชิงลบแก่สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมิได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เนื่องเพราะมีผลกระทบสูงต่อผลประกอบการทางธุรกิจ"

"ผลที่ติดตามมาจากการดำเนินงาน ซีเอสอาร์ในลักษณะดังกล่าว จะสะท้อนกลับมาสร้างความเสียหายต่อความน่าเชื่อถือ (credibility) ทั้งขององค์กรและของอุตสาหกรรมโดยรวม"

CSR Repositioning
ดังนั้น เขามองว่า "แนวทางการขับเคลื่อนซีเอสอาร์ในปี 2553 ธุรกิจจะต้องสำรวจและทบทวนการวางตำแหน่ง (repositioning) ซีเอสอาร์ขององค์กรเสียใหม่ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของการประกอบการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมให้กลับคืนมา และเพื่อมิให้เกิดการลดทอนคุณค่าของการดำเนินงาน ซีเอสอาร์ในระยะยาว"

สำหรับประเด็นที่น่าจับตาในปี 2553 น่าจะเป็นเรื่องที่สังคมไทยจะคุ้นกับคำว่า "low carbon society" มากขึ้น เพราะเริ่มเห็นการตื่นตัวของภาคธุรกิจที่วางแผนจะปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานและการผลิตให้ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

"จากที่ได้พูดคุยกับองค์กรธุรกิจหลายแห่ง เริ่มที่จะเห็นกลไกในองค์กรที่จะทำเรื่องระบบการผลิต การจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์บางอย่างที่เป็นไปในเชิงการลดคาร์บอนไดออกไซด์ และจะมีมาตรการบางอย่างที่นำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะสอดคล้องกับทิศทางโลกที่พยายามจะสรุปให้ได้จากเวทีประชุมเรื่องโลกร้อนที่โคเปนเฮเกน ทุกคนก็คาดหวังว่าการประชุมครั้งต่อไปที่เม็กซิโกจะสรุปออกมาเป็นมาตรการที่มีผลทางกฎหมาย คาดว่านั่นเป็นแนวโน้มหนึ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีหน้า"

ปีแห่งมาตรฐาน CSR
นอกจากนี้ ปีหน้ายังเป็นการมาถึงของมาตรฐาน ISO 26000 ที่ทุกคนตั้งตารอ ซึ่งก็คาดว่าจะประกาศใช้ในปลายปีหน้า แม้ว่าหลายฝ่ายจะมองว่าเมื่อประกาศใช้มาตรฐานดังกล่าวจะเป็นที่แพร่หลายและได้รับความนิยม แต่ ดร.พิพัฒน์ กลับมองว่ามีความเป็นไปได้ว่าเมื่อ ISO 26000 ถูกประกาศใช้อาจจะทำให้เกิดอีกมาตรฐาน ตามมาควบคุม

"เมื่อมาตรฐาน ISO 26000 ออกมาแล้ว แต่เนื่องจากไม่ได้เป็นการประกันคุณภาพก็ไม่สามารถที่จะให้ใครมารับรองได้ ทุกองค์กรก็จะมีช่องในการประกาศว่าองค์กรตนเองได้เข้าสู่กระบวนการทำ ISO 26000 เมื่อทุกคนออกมาทำหมดก็ไม่มีอะไร แตกต่างโดดเด่น ก็อาจจะทำให้เรื่องของซีเอสอาร์ลดความนิยมลงก็เป็นไปได้ นี่เป็นมุมที่หลายคนมองข้ามไป วันหนึ่งอาจจะต้องมีการออกมาตรฐานอีกอันเพื่อมารับรอง ISO 26000 และสุดท้ายคงกลายเป็นเรื่องการหารายได้ทางธุรกิจจากค่าธรรมเนียมเหมือนกับ ISO 9000"

Climate Change ยังมาแรง
ขณะที่มาตรฐาน OECD (Organization for Economic Cooperation and Development) ก็น่าจะถูกปรับในปีหน้าเพราะใช้มาแล้วกว่า 10 ปี และจะมีหลายประเด็นที่อัพเดตมากขึ้น ที่ชัดเจนอย่างเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพราะในฉบับปัจจุบันยังไม่มีการพูดถึงเท่าใดนัก และคงมีการพูดถึงประเด็นแรงงาน สิทธิมนุษยชนกับประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น เพราะประเทศเหล่านี้มีการพูดถึงซีเอสอาร์มากขึ้น ทั้งหมดเป็นเพียงการคาดการณ์ทั้งหมดขึ้นอยู่กับแนวปฏิบัติที่กำลังเริ่มคุยกันแล้วว่าจะทำอย่างไร หากประเทศไทยมีโอกาสก็น่าจะมีผู้แทนได้เข้าไปร่วมในการปรับปรุงมาตรฐานครั้งนี้ด้วย

ส่วนมาตรฐาน GRI (The Global Reporting Initiative) น่าจะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่สิ่งที่จะเห็นจากนี้ไปคือการจัดทำรายงาน อาจออกมาในเชิง เซ็กเตอร์มากขึ้น ส่วน UN Global Compact ก็ยังไปได้ระดับหนึ่งเพราะมีข้อจำกัดในการกำกับองค์กร เพราะแม้องค์กรที่รับรองมาตรฐานนี้มีคนออกมาร้องเรียนเรื่องสิทธิมนุษยชนแต่ก็ยังสามารถใช้เครื่องหมายการรับรองได้อยู่ ทำให้ความน่าเชื่อถือลดลง

อย่างไรก็ตาม ดร.พิพัฒน์แนะนำว่า ยังไม่ต้องตื่นตัวเพื่อตั้งรับกับมาตรฐานมากนัก สิ่งที่ควรทำคือการศึกษาและดูว่าอะไรที่เราสอดคล้องและไม่สอดคล้อง หากดูหลายมาตรฐานแล้วแนวปฏิบัติที่เราไม่สอดคล้องมีมากก็ค่อยมาปรับ แต่หากไม่สอดคล้องบางอันก็อาจจะไม่ต้องขยับอะไรมาก เพราะมาตรฐานแต่ละอันก็มีช่องว่างของมันอยู่ คงไม่มีมาตรฐานไหนสมบูรณ์แบบหรือครอบจักรวาล


[Original Link]