Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ส่องปรากฏการณ์ CSR ปี 52 สะท้อน "ธุรกิจปรับตัวสู่อนาคต"


แม้แนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) จะค่อย ๆ เติบโตมาในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา แต่หากมองย้อนกลับไปในปี 2552 น่าสนใจว่าความเคลื่อนไหวเรื่องนี้คึกคักยิ่งในสังคมไทย ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยมีการคาดการณ์กันว่าในช่วงที่ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ความเคลื่อนไหวและการให้ความสนใจต่อเรื่อง CSR ขององค์กรธุรกิจจะมีจำนวนลดลง

ในรายงานของสถาบันไทยพัฒน์ระบุชัดเจนว่า "ภาพรวมของความเคลื่อนไหวเรื่องซีเอสอาร์โดยรวมในปี 2552 ไม่ได้มีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญตามการคาดการณ์ว่าจะปรับตัวลงตามสภาวะเศรษฐกิจ สังเกตได้จากการที่องค์กรธุรกิจมีการสื่อสารและรายงานการดำเนินงานซีเอสอาร์สู่สาธารณะโดยตลอดต่อเนื่องทั้งปี"

มากกว่านั้นในปีนี้ถือได้ว่าเกิดปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการพัฒนา CSR ไทยอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการถือกำเนิดขึ้นของ CSR Club เครือข่ายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยการรวมตัวกันขององค์กรธุรกิจจำนวน 27 องค์กร โดยการสนับสนุนของสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อดำเนินภารกิจในการสร้างเครือข่ายบริษัทจดทะเบียนให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่อง CSR และสร้างความร่วมมือในด้าน CSR ทั้งภายในเครือข่ายและสาธารณชน รวมทั้งส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนสร้างศักยภาพเพื่อพัฒนาไปสู่การปฏิบัติด้าน CSR ร่วมกันอย่างแท้จริง

ธุรกิจตื่น CSR
โครงการ CSR DAY ที่เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการรณรงค์ให้องค์กรธุรกิจได้จัดกิจกรรมวันซีเอสอาร์ หรือ CSR DAY ขึ้นในสถานประกอบการที่มุ่งเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจ และ ส่งเสริมบทบาทการมีส่วนร่วมของพนักงานต่อกิจกรรม CSR ขององค์กร โดยปัจจุบันมีองค์กรธุรกิจเข้าร่วมโครงการดังกล่าวแล้วทั้งสิ้น 78 แห่ง มีพนักงานที่เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 2,500 คน ทั้งจากบริษัทจดทะเบียน บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด และรัฐวิสาหกิจ

ขณะเดียวกัน ความคึกคักของการเข้าร่วมเสนอชื่อเพื่อพิจารณารับรางวัล CSR Award ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 3 โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่ส่งข้อมูลเข้าร่วมในปี 2549 จำนวน 29 ราย ปี 2551 จำนวน 38 ราย และปี 2552 จำนวน 82 ราย

แสดงให้เห็นถึงความสนใจของบริษัท จดทะเบียนที่มีต่อรางวัล CSR เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ต่างชาติรุมจีบไทย
ไม่เพียงแต่ฝั่งธุรกิจเท่านั้น สัญญาณหนึ่งที่สะท้อนว่าไทยยังมีโอกาสและอนาคตในการทำ CSR การเข้ามาจัดเวทีประชุมระดับภูมิภาคของบรรดาองค์กรนานาชาติในเรื่องซีเอสอาร์ในประเทศไทย อย่างเช่น องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (UN ESCAP) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) องค์การสหประชาชาติว่าด้วยข้อตกลงโลก (UN Global Compact) องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (GRI) แสดงให้เห็นถึงความสนใจของหน่วยงานเหล่านี้ที่มีต่อการขับเคลื่อนซีเอสอาร์ในประเทศไทย

ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม
สำหรับการดำเนินงานซีเอสอาร์ขององค์กรธุรกิจในปี 2552 ได้แผ่ขยายครอบคลุมในทุกสาขาอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน ยานยนต์ โทรคมนาคม พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ สินค้าอุปโภคบริโภค ฯลฯ โดยกิจกรรม ซีเอสอาร์ที่ดำเนินการสามารถแบ่งออกเป็น 2 จำพวกหลัก ได้แก่ ซีเอสอาร์จำพวกที่ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางธุรกิจ (CSR-after-process) กับซีเอสอาร์จำพวก ที่ผนวกอยู่ในกระบวนการทางธุรกิจ (CSR-in-process)

ภาครัฐยังไปไม่ถึงไหน
ผลกระทบจากการเมืองที่มีต่อเรื่อง ซีเอสอาร์ สามารถจำแนกได้ใน 2 มิติ คือ มิติเรื่องนโยบายสาธารณะที่มุ่งเน้นเรื่อง ซีเอสอาร์ยังไม่ถูกยกระดับให้เป็นวาระ สำคัญของการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อเทียบกับประเทศในประชาคมยุโรป (EU) ที่ส่วนใหญ่ได้มีการออกนโยบายซีเอสอาร์แห่งชาติเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนซีเอสอาร์ในระดับมหภาคเพื่อให้ดำเนินไปอย่างมีเอกภาพประสานสอดคล้องกันในแต่ละภาคส่วน และมิติเรื่องประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมที่ขาดความเฉียบขาด อันเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลสะท้อนกลับมาเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตัวอย่างเช่น ปัญหามลพิษที่มาบตาพุด หรือการปล่อยปละละเลยให้มีการทิ้งสารพิษในอ่าวไทย

เมื่อภาครัฐขาดการกำกับดูแลที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเปิดโอกาสให้ธุรกิจที่ขาดความรับผิดชอบสร้างผลกระทบทางลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง และภาระในการเยียวยาแก้ไขปัญหากลับถูกผลักให้ตกเป็นหน้าที่ของรัฐโดยใช้งบประมาณแผ่นดิน เช่น กรณีของการเสนอจัดสรรงบฯหลายพันล้านบาทในการเยียวยาประชาชนในพื้นที่มาบตาพุด

และทั้งหมดคือความเคลื่อนไหวที่สำคัญในปี 2552 ท่ามกลางความจริงของทั้งข่าวดีและข่าวร้าย


[Original Link]