Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ทบทวนบทบาท CSR ก้าวต่อไป ปี 2553


เมื่อย่างเข้าสู่ปีใหม่ 2553 กิจการต่างๆ ก็ยังต้องปรับแผนองค์กร และมีกลยุทธ์ที่เหมาะกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

“คุณภาพ ประสิทธิภาพ และคุณธรรม” ยังคงเป็นประเด็นที่ผู้เกี่ยวข้องและสังคมทุกระดับคาดหวังให้มีในบุคคล และองค์กรที่ติดต่อสัมพันธ์ด้วย

หลักปฏิบัติที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมที่รวมถึงสิ่งแวดล้อม เป็นความหมายของCSR หรือ Corporate Social Responsibility ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่นำองค์กรไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ซึ่งกำลังจะกลายเป็นกติกาโลกในการเลือกคบค้า หรือการลงทุนด้วยเกณฑ์มาตรฐานใหม่ ISO 26000 ในปลายปีนี้

การเปิดตัวโครงการ CSR DAY ระยะที่ 2 โดย ภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ชัยยุทธ ชำนาญเลิศกิจ กรรมการผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ตลาดหลักทรัพย์ฯ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ ร่วมด้วย พีระพงษ์ กลิ่นละออ ผู้อำนวยการสำนักงานสำนึกรักบ้านเกิด บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น วัฒนา โอภานนท์อมตะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. บางจากปิโตรเลียม สมพล จันทร์ประเสริฐ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะทำงานโครงการ CSR บมจ.กสท โทรคมนาคม เป็นการร่วมมือของบริษัทจดทะเบียนอีก 50 แห่งในปี 2553 หลังประสบผลสำเร็จในการจัดกิจกรรม CSR DAY ซึ่งมีบริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจร่วมจัดกิจกรรม รวม 78 แห่งในปี 2552

ด้วยเหตุนี้ แม้ปี 2552 อยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตโลก แต่กระแสความเคลื่อนไหวองค์กรแสดงบทบาทว่ามีจุดยืนที่ดีต่อการมี CSR ของวงการต่างๆ ได้ขยายแวดวงครอบคลุมไปทุกสาขาธุรกิจและอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ วงการต่างๆ เริ่มมีความเข้าใจที่ถูกต้องครบถ้วนมากขึ้น ว่าแนวทางของ CSR นั้นสำคัญที่สุด ต้องเริ่มจากภายในองค์กร และมีตั้งแต่ระดับนโยบายและกลยุทธ์ลงมา คือเป็นค่านิยมและแนวปฏิบัติในกระบวนการทำธุรกิจ (CSR-in-process) เช่น มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี การปฏิบัติชอบต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม การใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการจัดการของเสียที่ดี มีการประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน

ขณะเดียวกันก็มีจิตอาสาทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่อยู่นอกกระบวนการธุรกิจ (CSR-after-process) ซึ่งเป็นการสร้างกุศล สร้างคุณประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมลักษณะต่างๆ เช่น การบริจาคและกิจกรรมอาสาช่วยสังคมในโครงการต่างๆ

กิจการที่มี CSR จึงน่าชื่นชม เพราะมีทั้งความสามารถที่ดีในการบริหารกิจการด้วยคุณภาพและคุณธรรมพร้อมกับมีกิจกรรมช่วยสังคมและสิ่งแวดล้อม

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ยืนยันว่า ความเคลื่อนไหวเรื่องซีเอสอาร์โดยรวมในปี 2552 ไม่ได้มีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ตามการคาดการณ์ว่าจะปรับตัวลงตามสภาวะเศรษฐกิจ เพราะมีการสื่อสารและรายงานการดำเนินงานซีเอสอาร์สู่สาธารณะอย่างต่อเนื่องทั้งปี และมีโครงการเด่นในวงการธุรกิจที่น่าบันทึกไว้ ได้แก่

1.โครงการ CSR DAY ซึ่งสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย จัดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้องค์กรธุรกิจได้จัดกิจกรรม CSR DAY ขึ้นในองค์กร เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานต่อกิจกรรม CSR ขององค์กร

ปัจจุบัน มีบริษัทจดทะเบียน บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด และรัฐวิสาหกิจเข้าร่วมโครงการนี้ 78 แห่ง มีพนักงานที่เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 2,500 คน
2.การจัดตั้ง CSR Club เป็นเครือข่ายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะนี้มีสมาชิก 27 องค์กร โดยการสนับสนุนของสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ หวังเป็นกลไกสร้างความร่วมมือในด้าน CSR ทั้งภายในเครือข่ายและสาธารณชน รวมทั้งส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนสร้างศักยภาพเพื่อพัฒนาปฏิบัติการด้าน CSR ร่วมกัน
3.ประเทศไทยได้เป็นเวทีประชุมระดับภูมิภาคขององค์กรนานาชาติในเรื่องซีเอสอาร์ เช่น องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (UN ESCAP) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) องค์การสหประชาชาติว่าด้วยข้อตกลงโลก (UN Global Compact) องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (GRI) แสดงให้เห็นถึงความสนใจของหน่วยงานเหล่านี้ที่มีต่อการขับเคลื่อนซีเอสอาร์ในประเทศไทย
4.รางวัล CSR Award คึกคัก จัดเป็นปีที่ 3 จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากปี 2549 ซึ่งมีบริษัทจดทะเบียนที่ส่งข้อมูลเข้าร่วม 29 ราย ปีต่อมาเพิ่มเป็น 38 ราย และปี 2552 เพิ่มขึ้นเป็น 82 ราย แสดงว่าบริษัทจดทะเบียน สนใจรางวัล CSR เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และบริษัทที่ได้รับรางวัลในปี 2552 มี 4 บริษัท ได้แก่ โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ปูนซีเมนต์ไทย บางจากปิโตรเลียม และซีเอ็ดยูเคชั่น

อย่างไรก็ตาม การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แม้จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยสมัครใจ และจิตสำนึกที่ดีของผู้บริหารกิจการ แต่ด้วยระบบเศรษฐกิจเสรี บ่อยครั้งเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการที่เห็นแก่ได้ โดยขาดคุณธรรมได้สร้างพิษภัยแก่สังคมและสิ่งแวดล้อม

บทบาทของรัฐในการออกกฎหมายบังคับให้อยู่ในกรอบที่ดีจึงเป็นความจำเป็น แม้เป็นการบังคับให้เกิด CSR ก็ตาม

ดร.พิพัฒน์ มีความเห็นในประเด็น CSR กับบทบาทของรัฐ ว่ามิติเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะที่มุ่งให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคมยังไม่ถูกยกระดับให้เป็นเรื่องสำคัญในการบริหารราชการ เมื่อเทียบกับประเทศในประชาคมยุโรป (EU) ที่ส่วนใหญ่ มีการกำหนดเป็นนโยบายซีเอสอาร์แห่งชาติเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนซีเอสอาร์ในระดับมหภาคเพื่อให้ดำเนินไปอย่างมีเอกภาพประสานสอดคล้องกันในแต่ละภาคส่วน

โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมที่ขาดความเฉียบขาด เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลสะท้อนกลับมาเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตัวอย่างปัญหามลพิษที่มาบตาพุดหรือการปล่อยปละละเลยให้มีการทิ้งสารพิษในอ่าวไทย จึงเกิดขึ้น

เมื่อภาครัฐขาดการกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเปิดโอกาสให้ธุรกิจที่ขาดความรับผิดชอบสร้างผลกระทบทางลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง และภาระในการแก้ไขปัญหาก็ถูกผลักให้เป็นหน้าที่ของรัฐ อาจต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน เช่นมีการเสนอให้จัดงบหลายพันล้านบาทในการเยียวยาประชาชนที่รับเคราะห์ในพื้นที่มาบตาพุด

ดังนั้น แม้ภาคอุตสาหกรรมจะประกาศว่า โรงงานของตนเองได้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด มีการจัดการมลพิษที่เป็นไปตามกฎหมาย บางรายจะอ้างว่าได้ทำเหนือกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด หรือมาตรฐานสากล แต่ความเป็นจริงปรากฏก็คือ มีผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาบตาพุดเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดจากมลพิษสูงเกิดขึ้นจริง

ดร.พิพัฒน์ ชี้ว่า ธุรกิจที่ขาดความรับผิดชอบมักกล่าวถึงหลักสร้างภาพลักษณ์ และใช้กิจกรรมซีเอสอาร์เป็นเครื่องมือในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ โดยมิได้มีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างประโยชน์ให้สังคมอย่างแท้จริง แต่เป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของธุรกิจเป็นสำคัญ

“ไม่ใช่ว่าธุรกิจไม่ทราบว่าซีเอสอาร์เป็นมากกว่าเครื่องมือในการสร้างภาพลักษณ์ แต่เพราะไม่สามารถอดทนรอผลที่จะตอบสนองคืนให้แก่ธุรกิจในระยะยาวได้ ก็เลยหยิบฉวยสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามาปั้นให้เกิดผลทันตาเห็น หรือในหลายกรณี ก็เจตนาทำกิจกรรมเพื่อจะกลบเกลื่อนการดำเนินงานธุรกิจที่ส่งผลกระทบเชิงลบแก่สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมิได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ก็เพราะไม่ต้องการให้มีผลกระทบต่อผลกำไรธุรกิจ”

แนวทางการขับเคลื่อนซีเอสอาร์ในปีใหม่ ธุรกิจจะต้องทบทวนการวางตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์ (Repositioning) ด้าน CSR ขององค์กรเสียใหม่และปฏิบัติการด้วยความจริงใจต่อการสร้างคุณค่าต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งนี้ เพื่อสร้างเสริมความเชื่อมั่นของการประกอบการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมให้โดดเด่นและมีคุณค่า CSR อย่างยั่งยืน

จากข่าวสารในยุคโลกาภิวัตน์ ปัจจุบันเราได้รับรู้ตัวอย่างธุรกิจที่ขาดจริยธรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีผลกระทบอย่างหนักต่อ “ความน่าเชื่อถือ” ซึ่งมีความหมายต่อผู้บริโภค ต่อวงการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน


[ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์]