Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

From Standalone to Standard


[Previous] ... < Scope < Platform > Structure > ... [Next]


ธุรกิจที่ดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมมาระยะหนึ่ง อาจมีคำถามเกิดขึ้นว่า CSR ที่ทำอยู่นั้น ดีพอแล้วหรือยัง ครบถ้วนแล้วหรือยัง หรือจะทำให้ดีขึ้นกว่านี้ได้อีกหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับองค์กรที่แสวงหาการพัฒนาปรับปรุงตนเองอย่างสม่ำเสมอ เมื่อองค์กรเดินเรื่อง CSR มาถึงจุดนี้ อาจจะต้องศึกษาแนวปฏิบัติหรือมาตรฐานการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป สำหรับนำมาปรับใช้กับการทำ CSR ขององค์กร ตัวอย่างเช่น ในมาตรฐานว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (ISO 26000) ระบุว่าหลักการของความรับผิดชอบต่อสังคม มีอยู่ด้วยกัน 7 ประการ ได้แก่ ภาระรับผิดชอบ (Accountability) ความโปร่งใส (Transparency) ความประพฤติที่มีจริยธรรม (Ethical behavior) การเคารพในประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย (Respect for stakeholder interests) การเคารพในหลักนิติธรรม (Respect for the rule of law) การเคารพในพฤติกรรมที่เป็นบรรทัดฐานสากล (Respect for international norms of behavior) และการเคารพสิทธิมนุษยชน (Respect for human rights)

มาตรฐาน ISO 26000 ฉบับนี้ ได้กำหนดหัวข้อที่บ่งชี้ถึงความรับผิดชอบต่อสังคมไว้ 7 เรื่อง ได้แก่ การกำกับดูแลองค์กร (Organizational Governance) สิทธิมนุษยชน (Human Rights) การปฏิบัติด้านแรงงาน (Labour Practices) สิ่งแวดล้อม (The Environment) การปฏิบัติดำเนินงานอย่างเป็นธรรม (Fair Operating Practices) ประเด็นด้านผู้บริโภค (Consumer Issues) การมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน (Community Involvement and Development)

ในมาตรฐานฉบับนี้ ยังได้กล่าวถึงการบูรณาการเรื่อง CSR ทั่วทั้งองค์กร (Integrating social responsibility throughout an organization) ไว้ 7 แนวทาง ได้แก่ ความสัมพันธ์ของคุณลักษณะองค์กรกับเรื่อง CSR (The relationship of an organization’s characteristics to SR) ความเข้าใจในเรื่อง CSR ขององค์กร (Understanding the social responsibility of an organization) การสื่อสารเรื่อง CSR (Communication on social responsibility) การเพิ่มความเชื่อถือได้ในการดำเนินงาน CSR ขององค์กร (Enhancing credibility regarding social responsibility) การทบทวนและปรับปรุงการปฏิบัติดำเนินงานขององค์กรที่เกี่ยวกับ CSR (Reviewing and improving an organization’s actions and practices related to social responsibility) และการเข้าร่วมในความริเริ่มทาง CSR โดยสมัครใจ (Voluntary initiatives for social responsibility)

ปัจจัยผลักดันอีกสาเหตุหนึ่งที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการทบทวนการดำเนิน CSR คือ มาตรฐานและข้อปฏิบัติด้าน CSR จะถูกถ่ายทอดจากผู้ประกอบการหนึ่งไปสู่อีกผู้ประกอบการหนึ่งในสายอุปทานต่างๆ เป็นทอดๆ ทำให้ธุรกิจที่ต้องพึ่งพิงอยู่กับสายอุปทาน โดยเฉพาะผู้ส่งออกนำเข้า ต้องถูกบังคับใช้หรือถูกเรียกร้องให้ใช้มาตรฐานและข้อปฏิบัติด้าน CSR เหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นี่จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต่างต้องปรับตัวและรับมือกับมาตรฐานเหล่านั้น หากยังต้องการที่จะค้าขายหรือดำเนินธุรกิจในสายอุปทานนั้นๆ ต่อไป


[Previous] ... < Scope < Platform > Structure > ... [Next]