Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ถึงคราวกราดเอ็ม 79 ในองค์กร


มาตรการ (Measure) 7 ขั้น 9 ข้อ หรือ M79 นำมาใช้ในการระบุกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม ที่องค์กรพึงกระทำ และไม่จำเป็นต้องเหมือนกันในแต่ละองค์กร

เมื่อถูกถามว่า “กิจการของท่านได้ทำ CSR หรือยัง” หรือ “องค์กรของเรามี CSR หรือยัง” อย่าไปหลงตอบใครเขาว่า องค์กรของเรายังไม่มีเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม เพียงเพราะเราไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อน จึงด่วนสรุปเอาว่า “ในเมื่อไม่เคยได้ยินคนในองค์กรพูดถึง ก็แสดงว่ายังไม่มี”

ทุกองค์กรที่ดำเนินธุรกิจยืนหยัดมาจนทุกวันนี้ได้ ต้องมีการดำเนินกิจกรรมที่มีความเกี่ยวเนื่องกับหัวเรื่องหลัก (Core Subjects) ของความรับผิดชอบต่อสังคมมาแล้วทั้งสิ้น เพียงแต่ความเข้มข้นในการดำเนินงานและความครอบคลุมในประเด็นต่างๆ (Issues) จะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพของแต่ละองค์กร

องค์กรสามารถระบุรายละเอียดของความเกี่ยวเนื่องในแต่ละหัวข้อหลัก และสามารถจำกัดประเด็นให้เหลือเฉพาะแต่ที่มีนัยสำคัญที่องค์กรควรดำเนินการเป็นอันดับแรกๆ ได้ด้วยมาตรการ (Measure) 7 ขั้น 9 ข้อ หรือ M79 ที่นำมาใช้ในการระบุกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมที่องค์กรพึงกระทำ และไม่จำเป็นที่จะต้องเหมือนกันในแต่ละองค์กร

กระบวนการค้นหาสิ่งที่เกี่ยวเนื่อง (Relevance) สามารถใช้มาตรการ 7 ขั้น ดังนี้
แจกแจงรายการกิจกรรม (Activities) ที่มีอยู่ทั้งหมด
แยกแยะระหว่างกิจกรรมที่องค์กรดำเนินการเอง กับกิจกรรมที่องค์กรร่วมดำเนินการ อย่าลืมว่า แม้เป็นกิจกรรมที่องค์กรมิได้ดำเนินการเอง แต่ก็สามารถสร้างให้เกิดผลกระทบเสมือนหนึ่งเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรได้
จำแนกให้เห็นว่า กิจกรรมที่ดำเนินอยู่ทั้งในฝั่งต้นน้ำและปลายน้ำ (Value Chain) นั้นจัดอยู่ในเรื่องหลักใด และครอบคลุมในประเด็นใด
ตรวจสอบทางเลือกที่องค์กรสามารถสร้างให้เกิดผลกระทบที่ดีต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนการยกระดับสังคมให้มีสุขภาวะและสวัสดิการที่ดี
ระบุพฤติกรรมที่แสดงถึงความรับผิดชอบตามที่สังคมคาดหวังว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบเหล่านั้น
วิเคราะห์เชื่อมโยงกับถิ่นที่ตั้ง ลักษณะของกิจการ วิสัยทัศน์ ค่านิยม และสไตล์การบริหารองค์กร
ที่ลืมไม่ได้คือ การให้ความสำคัญกับกิจกรรมรายวัน (Day-to-Day Activities) ที่สัมพันธ์กับเรื่องหลักและประเด็นต่างๆ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า กิจกรรมในโอกาสจำเพาะ เช่น การสร้างอาคาร หรือสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ๆ ซึ่งต้องคำนึงถึงประเด็นที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบสังคมในแง่ของประสิทธิภาพ การใช้พลังงานและทรัพยากรน้ำ หรือการออกแบบสำหรับผู้ทุพพลภาพ ตามแต่กรณี

แม้องค์กรอาจรับรู้และเข้าใจความคาดหวังของสังคมในเรื่องต่างๆ ที่องค์กรต้องแสดงความรับผิดชอบ แต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้มีส่วนได้เสียเหล่านั้นจะคำนึงถึงประเด็นต่างๆ ที่สมควรดำเนินการได้อย่างครบถ้วนทั้งหมด ฉะนั้นองค์กรจึงควรต้องทำความเข้าใจและชี้แจงกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ถึงประเด็นกิจกรรมที่องค์กรดำเนินการอยู่ และมีนัยสำคัญต่อสังคม ซึ่งอาจถูกละเลยหรือมองข้ามไป

อีกกรณีหนึ่ง ที่องค์กรมักเข้าใจผิดว่า การปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายแรงงาน กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค หรือกฎหมายสิ่งแวดล้อม นั้น เพียงพอแล้วต่อการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรในเรื่องนั้นๆ แต่หากองค์กร ได้พิจารณาเรื่องหลัก และประเด็นด้านความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างรอบคอบ จะพบว่า ยังมีอีกหลายประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับองค์กรซึ่งมิได้ถูกระบุไว้ในกฎหมาย หรือมิได้มีการบังคับตามกฎหมายอย่างจริงจัง และมีผลกระทบกับการดำเนินงานขององค์กร

แม้เรื่องหลักหรือประเด็นด้านความรับผิดชอบต่อสังคม จะถูกบัญญัติไว้เป็นข้อปฏิบัติทางกฎหมาย เช่น การจำกัดปริมาณของมลพิษที่ปล่อยสู่บรรยากาศไม่ให้เกินขีดค่าๆ หนึ่ง สำหรับองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม จะไม่เพียงปฏิบัติตามข้อกฎหมาย แต่จะปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ด้วยการแสวงหาวิธีการที่ดีที่สุดในการลด หรือกำจัดการปล่อยมลพิษ ให้มีปริมาณหรือค่าที่ต่ำที่สุด

เมื่อองค์กรสามารถระบุรายละเอียดของประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินงานขององค์กรได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมา คือ การคัดเลือกประเด็นซึ่งมีนัยสำคัญ (Significance) ที่องค์กรควรมุ่งเน้นดำเนินการ ด้วยการพิจารณาตามมาตรการ 9 ข้อ ดังนี้
โอกาสในการต่อยอดขยายผลกระทบของประเด็นนั้นๆ ต่อเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงสุขภาวะ และเรื่องสวัสดิการสังคม
ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการ หรือจากการละเว้นการดำเนินการ ในประเด็นนั้นๆ
ระดับความห่วงใยของผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับประเด็นนั้นๆ
ผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นนั้นๆ เทียบกับทรัพยากรและความทุ่มเทที่ใส่ลงไปในกิจกรรมนั้นๆ
ความง่ายในการคุมอุปสรรค และแต้มต่อทางโอกาสในการเข้ามีส่วนร่วมในเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงเรื่องสุขภาวะ และเรื่องสวัสดิการสังคม
ขีดสมรรถนะปัจจุบันขององค์กร ที่มีต่อการปฏิบัติตามกฎระเบียบ มาตรฐานนานาชาติ หลักประพฤติปฏิบัติที่เป็นบรรทัดฐานสากล แนวปฏิบัติที่ทันสมัยและดีที่สุด
สมรรถนะการดำเนินงานขององค์กรในเครือ
อานุภาพในการชี้นำองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในสายอุปทาน (Supply Chain)
การตอบรับจากพนักงานและศักยภาพในการมีส่วนร่วมที่มีต่อกิจกรรมนั้นๆ อย่างต่อเนื่อง

การนำมาตรการ 7 ขั้น 9 ข้อ (M79) ในการตรวจสอบกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมก่อนการดำเนินงานจริง จะช่วยให้ทิศทางการทำ CSR ขององค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลจริง ไม่สุ่มเสี่ยงต่อการยุบแผนกหรือฝ่าย

หรือต้องมาปฏิวัติ เลือกตั้งผู้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนงาน CSR ขององค์กรกันใหม่ทุกปี


[Original Link]