Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

เขียวทั้งแผ่นดิน


การขยายตัวของกิจกรรมการผลิตในภาคธุรกิจและแบบแผนการบริโภคในภาคครัวเรือนได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์อย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในรูปของความแปรปรวนทางสภาพภูมิอากาศ น้ำท่วม น้ำแล้ง และภัยธรรมชาติที่บ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น

ประเทศไทยมีปัญหามลพิษเพิ่มขึ้น คุณภาพอากาศและน้ำอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่ามาตรฐาน ปริมาณขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายมีมากถึงปีละ 22 ล้านตัน ขณะที่การนำเข้าสารอันตรายที่ใช้ในการผลิตมีมากขึ้น ขาดกลไกการจัดการทั้งการควบคุมกระบวนการผลิต การจัดเก็บ การขนส่ง ทำให้เกิดการแพร่กระจายในสิ่งแวดล้อมและปนเปื้อนห่วงโซ่อาหาร รวมทั้งการเกิดการระบาดและแพร่เชื้อโรคที่มีรหัสพันธุกรรมใหม่ๆ

การใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ทั้งความซ้ำซ้อน ช่องว่าง และการบังคับใช้ในทางปฏิบัติ ทำให้สถานการณ์ทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่ในสภาพที่กำลังเป็นปัญหาต่อการดำรงชีวิตของประชาชน

ภาคธุรกิจเอง ก็ต้องเผชิญกับผลกระทบของการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน ข้อตกลงระหว่างประเทศและสนธิสัญญาเพื่อให้มีการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโลกในประเด็นต่างๆ รวมทั้งการกีดกันทางการค้าที่เชื่อมโยงกับประเด็นด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

องค์กรธุรกิจจึงต้องยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ขณะเดียวกัน ก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการใช้พลังงานทางเลือกทดแทน เพื่อรับมือกับวิกฤติพลังงานที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก

ทางเลือกและแนวปฏิบัติด้าน CSR ต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมสามารถที่จะจำแนกออกได้เป็น 3 หมวดใหญ่ๆ ได้แก่ ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร (Resource Efficiency) ประสิทธิผลในตัวผลิตภัณฑ์ (Product Effectiveness) และภาระรับผิดชอบในกระบวนการ (Process Accountability)

ภายใต้หมวดประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร องค์กรธุรกิจสามารถพัฒนาการผลิตหรือการให้บริการที่มี CSR ด้วยการพิจารณาที่ปัจจัยนำเข้า (input) คือ การใช้ทรัพยากรทั้งที่เป็นวัตถุดิบและพลังงานในกระบวนการผลิตหรือการให้บริการ เพื่อการบริหารการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่ต้นทางและการลดของเสียและมลพิษที่เกิดขึ้นในปลายทาง

ตัวอย่างได้แก่ มาตรการประหยัดพลังงาน การนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ การจัดหาทรัพยากรจากหน่วยงานที่นำวัสดุที่หมดสภาพหรือที่ใช้แล้วมาปรับสภาพเพื่อนำมาใช้ใหม่ การซื้อวัตถุดิบเท่าที่จำเป็นต่อการผลิตหรือการให้บริการ การปฏิเสธการซื้อวัตถุดิบที่เป็นต้นเหตุในการทำลายธรรมชาติหรือเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างชัดแจ้ง การรณรงค์ให้ผู้ส่งมอบ (suppliers) จัดหาวัตถุดิบหรือทรัพยากรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ภายใต้หมวดประสิทธิผลในตัวผลิตภัณฑ์ องค์กรธุรกิจสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มี CSR ด้วยการพิจารณาที่ปัจจัยส่งออก (output) ในส่วนที่เป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นได้ทั้งสินค้า (goods) และบริการ (services) โดยคำนึงถึงความสามารถในการสร้างผลผลิต “ที่ใช้การได้” เมื่อเทียบกับของเสียจากการผลิต

ตัวอย่างได้แก่ การผลิตสินค้า/บริการที่ปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค การมีกระบวนการเรียกคืนสินค้า/บริการที่ไม่ปลอดภัย การให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอแก่ผู้บริโภค โดยคำนึงถึงสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้บริโภคเป็นสำคัญ เช่น ไม่โฆษณาเกินจริง ฉลากสินค้าควรมีข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ใช้ภาษาเรียบง่ายต่อการทำความเข้าใจ บอกวิธีการใช้สินค้าอย่างปลอดภัยรวมถึงการกำจัดซากขยะหลังการใช้งาน ฯลฯ

ภายใต้หมวดภาระรับผิดชอบในกระบวนการ องค์กรธุรกิจสามารถพัฒนากระบวนการดำเนินธุรกิจที่มี CSR ด้วยการพิจารณาที่ตัวกระบวนการ (process) โดยคำนึงถึงวิธีการที่ถูกต้องดีงามในการดำเนินธุรกิจ ในฐานะที่เป็นเหตุปัจจัย (cause) และคำนึงถึงความมุ่งหมายในการดำเนินธุรกิจในฐานะที่ก่อให้เกิดผลกระทบ (effect) สู่ภายนอกทั้งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ

ตัวอย่างได้แก่ การจัดให้มีระบบการทำงานที่มุ่งเน้นความปลอดภัยและสุขอนามัยในสถานที่ทำงานอย่างเหมาะสม เช่น การมีระบบป้องกันมลพิษที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติงาน การจัดให้มีสถานที่ทำงานที่สะอาดเพื่อความปลอดภัยจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นทั้งจากอุบัติภัยและโรคภัย การสำรวจตรวจสอบสภาพชุมชนและสังคมโดยรอบที่ตั้งของธุรกิจว่าได้รับผลกระทบในทางลบจากการดำเนินการของธุรกิจหรือโครงการที่จะดำเนินการในอนาคตมากน้อยเพียงใด การให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแก่พนักงานและสาธารณชน การจัดเตรียมแผนฉุกเฉินเพื่อจัดการกับปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น ฯลฯ

หากเรายังไม่ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยแนวทางการบริหารจัดการในเชิงยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม ฐานทรัพยากรซึ่งได้ชื่อว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอาจเสื่อมโทรมจนไม่สามารถใช้เป็นรากฐานที่มั่นคงของการพัฒนาและการดำรงชีวิตของชุมชนและสังคมอีกต่อไป


[Original Link]