Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ถึงเวลา “พนักงาน” ต้องมาก่อน


ที่ผ่านมา มีองค์กรหลายแห่งได้จัดตั้งคณะทำงาน หน่วยงาน หรือแผนกที่ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในการดำเนินเรื่องของ CSR โดยตรง ปัญหาหนึ่งที่พบบ่อย คือ มีพนักงานบางส่วนที่ยังไม่รู้ และไม่เข้าใจว่า CSR คืออะไร และเกิดคำถามขึ้นภายในใจว่า ทำไมจะต้องทำ CSR ทำ CSR แล้วจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง

ถึงแม้ว่าบางคนอาจจะเคยได้ยินเรื่อง CSR มาบ้างแต่ก็คิดว่า CSR เป็นเรื่องของการทำกิจกรรมเพื่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตนเองโดยตรง และเมื่อมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบอยู่แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่ตนเองจะต้องรับรู้ และเข้าไปมีส่วนร่วม

ยิ่งไปกว่านั้น หากหน่วยงานหรือแผนกที่ทำหน้าที่รับผิดชอบเรื่อง CSR ไม่ได้ให้ความรู้ความเข้าใจ และให้พนักงานเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำ CSR และรับรู้ถึงสิ่งที่องค์กรกำลังทำ ก็ย่อมจะส่งผลต่อความสำเร็จในการดำเนิน CSR ขององค์กร และต่อการบรรลุถึงเป้าประสงค์ด้าน CSR โดยรวม

แม้ว่าเงื่อนไขความสำเร็จของการดำเนินงาน CSR จะต้องเกิดจากการที่ผู้บริหารเกิดความตระหนักและให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนภารกิจด้าน CSR อย่างจริงจังและต่อเนื่อง แต่ความสำเร็จในงาน CSR ได้อย่างเต็มรูปแบบ จำเป็นที่จะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากพนักงานในทุกระดับอย่างแข็งขันด้วย

องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ที่ประสบปัญหาในการขับเคลื่อนงาน CSR มักมีสาเหตุมาจากการขาดช่องทางหรือพื้นที่สำหรับให้พนักงานได้เข้ามามีส่วนร่วม ข้อค้นพบในหลายกรณี ชี้ให้เห็นว่า แม้องค์กรธุรกิจหนึ่งๆ จะได้ดำเนินกิจกรรม CSR สู่ภายนอกจนได้รับรางวัลต่างๆ นานา หากแต่พนักงานในองค์กรมิได้มีความรู้สึกภาคภูมิใจหรือมีส่วนในความสำเร็จร่วมกับองค์กรนั้นๆ ด้วย

การคำนึงถึงกลยุทธ์การดำเนินงานในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม จากการทำเฉพาะแผนก สู่การปรับแนวการทำให้ขยายทั่วทั้งองค์กร หรือ From “Department” to “Alignment” จึงเป็นสิ่งจำเป็น การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมควรจะต้องเกี่ยวเนื่องอยู่ในทุกระดับ ทุกแผนก ตลอดจนถึงพนักงานทุกคนในองค์กร โดยการสื่อสารให้ผู้บริหารระดับสูงไปจนถึงพนักงานระดับล่างมีความรู้ ความเข้าใจไปในแนวทางเดียวกัน ตั้งแต่รวมทั้งเปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำ CSR ขององค์กรอย่างทั่วถึง

การพิจารณา CSR ในมิติที่เป็นระดับปัจเจกนี้ ก็คือเรื่องของการทำหน้าที่อย่างรับผิดชอบ หรือหากพิจารณาในระดับองค์กร ก็หมายถึง การดำเนินธุรกิจแสวงหากำไรอย่างรับผิดชอบ ดังนั้นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการที่แท้จริง จึงต้องเกี่ยวข้องกับทุกคนในทุกส่วนงาน ทุกแผนก ทุกฝ่ายขององค์กร

เมื่อพนักงานมีความรู้ ความเข้าใจ และได้มีส่วนร่วมในการทำ CSR ทั้งในเรื่องสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมถึงการปลูกฝังให้พนักงานมีคุณธรรม จริยธรรม มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การเคารพในสิทธิส่วนบุคคล และทำงานในหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มความสามารถ รวมไปถึงการช่วยเหลือชุมชน ดูแลสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ประโยชน์ที่ได้รับก็จะตกกับสังคม รวมไปถึงพนักงานไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ในขณะเดียวกันองค์กรก็จะได้รับประโยชน์ที่นอกจากการเป็นองค์กรที่ประสบผลสำเร็จในด้านการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังเป็นองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือ ความไว้วางใจ และเป็นที่ยอมรับของสังคมด้วย

ปัจจุบัน ได้มีสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสถาบันไทยพัฒน์ ร่วมกันรณรงค์ให้องค์กรธุรกิจได้จัดกิจกรรมวันซีเอสอาร์ หรือ CSR DAY ขึ้น “ในสถานประกอบการ” เพื่อมุ่งให้เกิด “กระบวนการมีส่วนร่วมของพนักงาน” ในกิจกรรม CSR ขององค์กร และมีเป้าประสงค์ที่จะทำให้ “ทุกๆ วันของการทำงาน เป็นวัน CSR”

โครงการนี้ ได้รับการสนับสนุนขององค์กรธุรกิจชั้นนำที่ดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน อาทิ ดีแทค บางจาก และแคท เทเลคอม และนับจนถึงวันนี้ได้มีสถานประกอบการต่างๆ เข้าร่วมดำเนินกิจกรรมแล้วกว่า 100 องค์กร โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมแล้วทั้งสิ้นราว 4,500 คน (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก www.csrday.com)

ที่สุด เมื่อการขับเคลื่อน CSR เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร ธุรกิจก็จะได้รับอานิสงส์จากการดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งในด้านของภาพลักษณ์องค์กร ความยอมรับจากชุมชนและสังคม ความไว้วางใจจากผู้บริโภค ความภาคภูมิใจในหมู่พนักงาน รวมถึงโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากที่สังคมจะได้รับประโยชน์จากกิจกรรม CSR เหล่านั้นโดยตรง


[Original Link]