Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

สร้างคุณภาพชีวิตสังคมไทย สร้างคนไทยประกันชีวิต


"สุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง" ประธานเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN) เคยกล่าวถึงการทำซีเอสอาร์ขององค์กรธุรกิจในปัจจุบันไว้ในพิธีมอบรางวัล SVN Award ประจำปี 2552 ว่า ที่ผ่านมาหลายองค์กรธุรกิจยังเข้าใจเรื่องการดำเนินงานด้านซีเอสอาร์ คือการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมเพียงเพื่อทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร แต่การใส่ใจในกระบวนการดำเนินธุรกิจที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเชิงลึกหรือใส่ใจในกระบวนการผลิต การตลาด การบริหาร และการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมของพนักงานนั้น ยังมีตัวอย่างให้เห็นน้อย

การขับเคลื่อนซีเอสอาร์แบบครบด้านนั้น มิใช่เพียงกิจกรรมค่ายหรืองานอาสาสมัครทางด้านสังคมสงเคราะห์เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการตระหนักในความรับผิดชอบแม้กระทั่งกระบวนการผลิต การทิ้งของเสีย การประหยัดพลังงาน การปฏิบัติต่อคู่ค้าอย่างเป็นธรรม และมีความรับผิดชอบต่อลูกค้า ไม่กลั่นแกล้งคู่แข่ง ฯลฯ รวมไปถึงความมีธรรมาภิบาลในองค์กรอันเป็น 1 ใน 7 ข้อหลักของซีเอสอาร์สากล ส่วนการทำงานอาสาสมัครเป็นเพียงภารกิจข้อสุดท้ายตามหลักซีเอสอาร์สากลเท่านั้น มิใช่ทั้งหมดของซีเอสอาร์

ส่วนองค์กรธุรกิจที่เป็นแบบอย่างของการดำเนินกิจการควบคู่กับการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งได้เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่ได้รับรางวัล SVN Award ประจำปี 2552 อย่าง บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้วยเหตุผลว่า องค์กรธุรกิจด้านการประกันชีวิตแห่งนี้ มีความโดดเด่นด้านการดำเนินยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่ การให้ด้วยการจัดทำโครงการ "หนึ่งคนให้ หลายคนรับ" การดูแลชีวิตคนไทยด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือกรมธรรม์และการบริการเพื่อดูแลชีวิตคนไทยในกลุ่มที่เคยถูกละเลย ไม่ว่าจะเป็นคนพิการ ทหาร หรือผู้สูงอายุ และการเติมเต็มคุณค่าแห่งชีวิตให้กับพนักงานระดับต่าง ๆ ผ่านการ ส่งเสริมการทำกิจกรรมจิตอาสา

ตามสิ่งที่ "ไชย ไชยวรรณ" กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด สรุปการทำงานด้านซีเอสอาร์ของบริษัทไว้ว่า คือการ giving, caring and fulfilling โดยการทำซีเอสอาร์ของบริษัทในธุรกิจการบริการด้านการประกันชีวิตแห่งนี้ มีทั้งโรดแมป แผนยุทธศาสตร์ที่ได้ว่าจ้างสถาบันไทยพัฒน์เป็นผู้จัดทำแผนและประเมินการทำงานมาตั้งแต่ปี 2551 เวลา 2 ปีที่ผ่านมามีหลักฐานพิสูจน์การทำงานตามแผนแม่บทปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้น

"เราทำโครงการซีเอสอาร์มาหลายสิบปี แต่วันนี้เราต้องการโรดแมปที่ชัดเจน เนื่องจากทุกวันนี้คนไทยประกันชีวิตมี เป็นหมื่นคน ถ้าไม่มีโรดแมปหรือแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เราก็ไม่สามารถจะมีทิศทางการทำงานซีเอสอาร์และสื่อสารให้กับทุกคนได้ทราบ และเมื่อมีโรดแมปแล้ว มันก็ทำให้เราสื่อสารกับทุกคนง่ายขึ้น เพราะมันมีขั้นตอน มีกราฟฟิก มีตัวชี้วัดที่คนทำงานเองก็เข้าใจได้ง่าย คนที่เราสื่อสารออกไปก็เข้าใจได้ง่ายว่า การให้ การดูแลชีวิต การเติมเต็มคุณค่าของชีวิตคืออะไร"

ความโดดเด่นของบริษัทประกันชีวิตแห่งนี้น่าจะอยู่ที่ตัวผู้บริหารซึ่งเห็นด้วยและต้องการสร้างทัศนคติความคิดเรื่องการให้ การดูแลและการเติมเต็มคุณค่าแห่งชีวิตเข้าไปทั้งในระบบวิธีการทำงาน และการคิดผลิตภัณฑ์ (กรมธรรม์) ซึ่งเกิดจากนโยบายของผู้บริหารและผู้ถือหุ้นที่ต้องการดำเนินธุรกิจเพื่อมุ่งแสวงหากำไรที่เหมาะสมมากกว่ากำไรสูงสุด และนำกำไรส่วนหนึ่งคืนกลับสู่สังคม โดยผ่านการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นสาธารณประโยชน์

ขณะเดียวกันก็เลือกทำงานที่เน้นในด้านการรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่าด้าน สิ่งแวดล้อม โดยไชยให้เหตุผลว่า ธุรกิจประกันชีวิตเป็นธุรกิจด้านการบริการ และแกนของธุรกิจอยู่ที่การให้ความสำคัญกับคุณค่าของชีวิตและคุณค่าของความรัก ดังนั้น การคิดผลิตภัณฑ์ การสร้างบุคลากร หรือการทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ ต่าง ๆ จึงเกิดจากแกนธุรกิจที่เน้นไปในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม มากกว่าด้านสิ่งแวดล้อม

เนื่องจากเขาเชื่อมั่นว่า ถ้าสังคมมีคุณภาพ สิ่งแวดล้อมที่ดีก็จะตามมา เพราะมนุษย์นั้นแหละเป็นผู้ทำลายสิ่งแวดล้อม ถ้าเราสามารถพัฒนาคุณภาพของคนในสังคมได้ สิ่งแวดล้อมก็จะดีขึ้นมาเอง


[Original Link]