Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

มุม (ที่ไม่ได้) มองใหม่ของ CSR


ภารกิจความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ Corporate Social Responsibility (CSR) ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ทางเลือกขององค์กรว่าจะลงมือทำหรือไม่เท่านั้น วันนี้ CSR ได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่องค์กรต้องลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพราะมันได้กลายเป็นหนึ่งในคุณลักษณะ (Attribute) ของกิจการที่ดีที่พึงมีไปเรียบร้อยโรงเรียนธุรกิจซะแล้ว

มาถึงเวลานี้ การริเริ่มทำ CSR ที่ต้องรอให้องค์กรพร้อมทั้งองคาพยพ หรือให้ก่อเกิดด้วยความสมัครใจอย่างถ้วนหน้านั้น อาจจะไม่ทันการณ์กับความต้องการทั้งทางสังคมและทางธุรกิจ ซึ่งอย่างหลังนี้ไม่ใช่ OPTION ที่องค์กรจะเลือกว่าทำหรือไม่ทำ เปรียบเหมือนกับเรื่อง ISO 9000 หรือ ISO 14000 ที่ในยุคสมัยปัจจุบัน หากกิจการใดไม่ได้รับการรับรอง ก็อาจจะไม่สามารถค้าขายกับบรรดาคู่ค้าที่อยู่ในสายอุปทานของหลายอุตสาหกรรมอย่างสะดวกโยธินเช่นเดิม

ที่ผ่านมา องค์กรส่วนใหญ่ที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่อง CSR มักมีมุมมองว่าการทำ CSR เป็นการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อมิติทางสังคม และก็มักมีข้อสรุปตามมาว่ากิจกรรม CSR เหล่านั้นถือเป็นภาระหรือค่าใช้จ่ายที่องค์กรต้องจัดสรรคืนกลับสู่สังคมผ่านทางกิจกรรมเพื่อสังคมในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบกับกำไรที่ได้จากการดำเนินงานและผู้ถือหุ้นของกิจการไม่มากก็น้อย ทัศนคติที่ว่านี้ แสดงให้เห็นว่าเป้าหมายหรือเข็มทิศการดำเนินงาน ระหว่างเรื่องธุรกิจและเรื่องสังคม มิได้ชี้ไปในทิศทางเดียวกัน การพิจารณาดำเนินงาน CSR จึงเป็นเรื่องที่แปลกแยกไปจากการดำเนินธุรกิจโดยอัตโนมัติ

ในหลายกรณี กิจการที่เข้าใจบริบทของ CSR อย่างรอบด้าน สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่า การทำ CSR เป็นการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อมิติทางธุรกิจ และมิได้เป็นภาระหรือค่าใช้จ่ายขององค์กร แต่กลับเป็นปัจจัยที่เสริมหนุนขีดความสามารถทางการแข่งขัน และการเติบโตของกำไรที่มั่นคง

กิจการที่ก้าวมาสู่ขั้นนี้ได้ มักจะมีเข็มทิศการดำเนินงานในเรื่องธุรกิจและเรื่องสังคม ชี้ไปในทิศทางเดียวกัน การพิจารณาดำเนินงาน CSR ขององค์กรเหล่านี้ จึงผสมผสานกลมกลืนกับการดำเนินธุรกิจได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน โดยมิได้ถูกปฏิเสธจากผู้ถือหุ้นด้วย

การปรับทิศหรือแนวการดำเนินงาน CSR ให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ จะพิจารณาใน 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ คน (People) ของ (Product) และกระบวนการ (Process) ในองค์กร หรือที่เรียกว่าเป็น Triple Alignment

การปรับทัศนคติและพฤติกรรมของคนในองค์กรนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญสุด แต่ยากสุดในบรรดาองค์ประกอบทั้งหมด ในแวดวง CSR ศาสตร์แห่งการสร้าง Employee Engagement จึงเป็นเรื่องใหญ่ คำว่า Engage นั้นมีดีกรีที่แตกต่างจากคำว่า Participate หรือ Involve คือสูงกว่าขั้นการมีส่วนร่วมหรือการเข้าร่วมในระดับการกระทำ แต่ยังเป็นเรื่องของ emotional and intellectual commitment ในระดับจิตใจและสติปัญญาร่วมด้วย

การสร้างความผูกพันของพนักงานส่งผลสำคัญต่อสมรรถนะ (Performance) ในการทำงาน ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการสร้างความพึงพอใจในงานหรือความสุขในการทำงาน โดยพนักงานซึ่งพอใจหรือมีความสุขในงานที่ทำ อาจไม่ได้ส่งมอบผลงานที่ดีหรือมีสมรรถนะสูงให้แก่องค์กรก็เป็นได้

เงื่อนไขสำคัญของการปรับแนวการดำเนินงาน CSR ให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจอย่างประสบผลสำเร็จ คือ การปรับจูนบุคลากรในระดับจิตสำนึกและความรู้ความเข้าใจที่มีต่อเรื่อง CSR เพื่อสร้างให้เกิดความผูกพันรับผิดชอบของพนักงานในงานที่ทำ ไม่ว่าจะอยู่ในฝ่ายใด แผนกใด หรือส่วนงานใดก็ตาม

การปรับที่ตัวผลิตภัณฑ์นั้น เป็นเรื่องที่ง่ายสุดในบรรดาองค์ประกอบทั้งหมด โดยคำนึงถึงตั้งแต่เรื่องวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ เช่น การเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเลือกใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเพื่อลดการขนส่งและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ท้องถิ่นที่สถานประกอบการตั้งอยู่ การออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือการปรับบรรจุภัณฑ์ ที่ลดมลภาวะหรือขยะมูลฝอย การเพิ่มสายผลิตภัณฑ์ในตลาดล่าง (Bottom of Pyramid Market) ในราคาที่ชนชั้นฐานรากเข้าถึงได้ หรือการเลิกสายผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือสุขภาวะของคนในสังคม

การปรับที่กระบวนการในองค์กร เป็นเรื่องที่มีความหลากหลายที่สุดในบรรดาองค์ประกอบทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การจัดให้มีระบบการทำงานที่มุ่งเน้นความปลอดภัยและสุขอนามัยในสถานที่ทำงาน การสำรวจตรวจตราและแก้ไขผลกระทบจากการดำเนินงานที่มีต่อชุมชนรอบถิ่นที่ตั้งของธุรกิจ การจัดให้มีระบบการรายงานการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อสาธารณชน หรือการเปิดเผยนวัตกรรมที่ค้นพบในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

เมื่อทิศทางการดำเนินงานในเรื่องธุรกิจและเรื่องสังคมขององค์กร ชี้ไปในทิศทางเดียวกัน การขับเคลื่อนภารกิจเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ก็จะเป็นเรื่องที่ทั้งผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร และพนักงานในองค์กร ต่างสามารถร่วมไม้ร่วมมือกันทำ โดยไม่เกิดสุญญากาศแห่งความรับผิดชอบอีกต่อไป

[Original Link]