Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

สพฐ.ใช้งบฯไทยเข้มแข็ง 542 ล. สร้างเด็กเก่ง ดี มีคุณธรรม


หลังจากรัฐบาลมีแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เกี่ยวกับการยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ทั้งระบบให้ทันสมัย ตามโครงการสร้างจิตสำนึกความเป็นไทยเพื่อพัฒนาเด็กไทยอย่างยั่งยืนในกิจกรรมเสริมสร้างคุณธรรมในสถานศึกษา

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมีสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) เป็น ผู้ปฏิบัติการในกิจกรรมเสริมสร้างคุณธรรมในสถานศึกษาทำงานร่วมกับผู้สนับสนุนหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, มูลนิธิสดศรี สนิทวงศ์, สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, โรงเรียนรุ่งอรุณ ฯลฯ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากโรงเรียนวิถีพุทธมาหลายปี อย่าง "ดร.บรรเจอดพร สู่แสนสุข" เป็นผู้จัดการโครงการ

จากแผนดังกล่าวภายใต้งบประมาณ ปี 2553 จำนวน 542 ล้านบาท ได้แตกออกเป็น 3 กิจกรรมใหญ่ 3 เรื่องที่ลงสู่การปฏิบัติในโรงเรียนสังกัด สพฐ.จำนวน 32,000 โรงเรียนทั่วประเทศ

โครงการแรก คือการตั้ง "ศูนย์การเรียนรู้พระพุทธศาสนาสร้างจิตอาสาชุมชน" หรือ (Give & Take Center) รูปแบบกิจกรรมจะให้ให้โรงเรียนเป็นแกนกลางในการพานักเรียนไปทำกิจกรรม ก่อนไปจะให้นักเรียนสำรวจในบริเวณรอบหมู่บ้านและโรงเรียนว่ามีใครพร้อมที่จะสนับสนุนกิจกรรมได้ รวมทั้งสำรวจว่ามีใครที่มี ความต้องการได้รับความช่วยเหลือบ้าง

เช่น บ้านผู้เฒ่าผู้แก่ หรือวัดที่ต้องการแรงงาน เมื่อสำรวจ เด็กและครูจะนำคนทั้งสองกลุ่มมาเจอกัน และมอบทั้งแรงกายแรงใจ หรือกำลังเงินให้แก่กัน สิ่งที่เด็กทำจะเป็นการสร้างจิตสำนึกให้เด็กหันกลับไปมองชุมชน สังคมรอบตัวรอบโรงเรียน ขณะนี้ศูนย์มีทั้งหมด 3,584 แห่ง ซึ่งใน 1 ศูนย์จะมี 8-10 โรงเรียน หมายความว่าโรงเรียนของ สพฐ.ทั้งหมดจะอยู่ภายใต้ศูนย์เหล่านี้

กิจกรรมต่อมา เป็น "โครงการคุณธรรมสำนึกดีซีเอสอาร์" เพราะมองเห็นว่าโรงเรียนของ สพฐ.มีผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากฝีมือเด็ก ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นขนม อาหาร หรืองานฝีมือ การเรียนรู้ในการ ผลิตของเด็ก ๆ จึงน่าจะต้องมีกระบวนการของคุณธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง และมีการรักษาสิ่งแวดล้อมที่เอื้อสำหรับผู้ผลิตและผู้บริโภคอย่างเต็มที่

"เช่น ถ้าเรามีการผลิตขนมขาย เขาจะต้องคำนึงถึงความสะอาด ทำด้วยความพยายามที่ดีที่สุด และขายด้วยราคาที่ยุติธรรม ระหว่างการผลิตต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม นี่เป็นตัวอย่างเล็ก ๆ ที่โรงเรียนจะทำกิจกรรมใดก็ตามกับนักเรียน ก็หวังว่าจะช่วยสอดแทรก การเรียนรู้ ความรับผิดชอบต่อสังคม ความรับผิดชอบต่อผู้อื่น การทำงานอย่างมีส่วนร่วมทั้งในโรงเรียนที่สอนและนับถือพระพุทธศาสนา โรงเรียนก็ควรสอดแทรกเรื่องเหล่านี้เข้าไป"

และ กิจกรรมสุดท้าย คือ "ค่าย พระ ครู ผู้ปกครอง" คือการดำเนินชีวิตของเด็กทุกวันนี้จะอาศัยการเรียนรู้จากโรงเรียน แห่งเดียว เด็กจะไม่เท่าทันสังคม ดังนั้น จึงคาดหวังว่าสังคมอื่น ๆ ที่มีส่วนดีอย่างวัดและชุมชนจะมาช่วยกันดูแล ปกป้อง คุ้มภัย และทำให้เด็กของเราฉลาดเท่าทันกับสิ่งที่ยั่วยุทั้งหลาย ถ้าโรงเรียนมีกำลัง ไม่พอที่จะดูแลเด็กได้ทั่วถึง

"บ้านกับวัด หรือมัสยิส โบสถ์ น่าจะเป็นส่วนช่วยกัน จะช่วยกันได้ต้องมีการ คุยกันทั้ง 3 ฝ่าย ว่าด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนขณะนี้ เราจะมีวิธีการแก้ไข หรือป้องกันอย่างไร ให้เด็กฉลาดเท่าทัน"

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่ทำต่อเนื่องมาโดยตลอด และทำให้กลมกลืนกับทั้ง 3 โครงการนี้ด้วย คือการส่งเสริมการทำงานของโรงเรียนวิถีพุทธ เพราะเชื่อว่าหากเด็กยึดถือการปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา เด็กจะสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างฉลาด

"แน่นอนว่า ถ้าเด็กมีเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจ ก็จะสามารถเผชิญปัญหาอย่างเท่าทัน และแก้ปัญหาได้ นี่คือสิ่งที่โรงเรียนวิถีพุทธพยายามสอน"

อีกกิจกรรมที่เห็นผลสำเร็จแล้ว คือ โครงงานคุณธรรมเยาวชนไทยทำดี ถวายในหลวง ที่เริ่มในปี 2549 โดยมีจุดมุ่งหมายในการจัดการกับปัญหาที่รุมเร้าทั้งโรงเรียน ครอบครัว สังคม หลายฝ่ายคิดว่า ต้องให้ผู้ใหญ่มาช่วยแก้ อย่างปัญหาง่าย ๆ ว่าเด็กไม่ส่งการบ้าน

หรือปัญหายาก ๆ อย่างเด็กติดการพนัน ผู้ใหญ่บางครั้งก็เข้าไม่ถึงต้นตอของปัญหา และแก้ปัญหาผิดทาง เราจึงให้ เด็ก ๆ คุยกันเอง ให้เขามองสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา และร่วมกันคิดหาทางออก เมื่อเด็กได้ทดลอง หาวิธีการค้นหาข้อมูล มีที่ปรึกษาเป็นอาจารย์ และลองดูว่าเด็กมีวิธีการคิด และแก้ปัญหาอย่างไร จนถึงขณะนี้ได้มีโครงงานดี ๆ กว่า 1,000 โครงงาน ที่เป็นความคิดของเด็กเอง

ขณะนี้ทุกโครงการเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว กิจกรรมทั้งหมดลงอยู่ในพื้นที่เรียบร้อย และเร็ว ๆ นี้จะมีการสร้าง "ค่ายพัฒนาสื่อวีดิทัศน์คุณธรรม" เพื่อให้การอบรมนักเรียนของ สพฐ.ทั่วประเทศให้รู้จักการสร้างสื่อที่สร้างสรรค์และกระจายข่าวสารแห่งความดีออกไป

"การที่เด็กทำความดี น่าจะต้องมีการสื่อสารให้คนรับรู้ เราจะอบรม ออกไปยังโรงเรียนของ สพฐ.ทั่วประเทศ ให้เด็กนำเรื่องดี ๆ ในโรงเรียนมาเขียนข่าว ทำภาพยนตร์ คลิปวิดีโอ ไม่ใช่นำเครื่องมือที่มีไปใช้อย่างไม่สร้างสรรค์"

แม้จะการันตีไม่ได้ว่าเด็กทุกคนจะได้ร่วมกิจกรรมทุกอย่างทั่วถึง แต่หากผู้บริหารสถานศึกษามีวิสัยทัศน์ ก็ไม่ใช่ เรื่องยากที่จะทำให้เกิด เพราะใน พ.ร.บ.หลักสูตรแกนกลางขั้นการศึกษา พื้นฐานปี 2551 มีกิจกรรมที่เรียกว่า กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ ซึ่งเด็กทุกคนจะต้องทำกิจกรรมนี้ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หากผู้บริหารสถานศึกษาสามารถจับคู่ เชื่อมกับโครงการได้ ก็หมายความว่า เด็กทุกคนได้ทำและเป็นไปตามเงื่อนไขของหลักสูตรด้วย

จากโครงการทั้งหมด ดร.บรรเจอดพรหวังว่า เด็กวันนี้จะเป็นอนาคตของสังคม ที่มีความสามารถในการรู้เท่าทัน แก้ปัญหาด้วยวิจารณญาณ ยุติปัญหาด้วยความดีและธรรมมะ พิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบและฉลาด

"ถ้าเราอยากเห็นสังคมแบบนั้น เราต้องเริ่มแต่เด็ก ในขณะเดียวกัน ก็ต้องทำสังคมให้ดีด้วย เด็กจะได้ไม่สับสน ถ้าทำแบบนี้ 12 ปี เชื่อว่าเด็กจะเท่าทัน ไม่ว่าจะเจอกิเลสอะไร ก็ไม่หลง จะมีสติกับการดำรงชีวิต ถ้ารัฐบาลสามารถลดงบฯการพัฒนาโครงสร้างลง และนำมาพัฒนาเรื่องจิตวิญญาณครูมากขึ้น เพราะครู 6 แสนคน ต้องดูแลเด็กถึง 6 ล้านคน จึงต้องพัฒนาครูให้เป็นตัวอย่างได้ รวมถึงสังคมภายนอกต้องช่วยกัน ด้านสื่อก็ต้องทำสาระดี ๆ มานำเสนอ โรงเรียนจะทำงานง่ายขึ้น"

ดร.บรรเจอดพรกล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องนี้เป็นปัจจัยสำคัญของการมีชีวิตอยู่คนเราถ้าไม่ทำคุณงามความดี ไม่สอนให้เด็กเป็นคนดี มุ่งสอนแต่ให้เก่งทางวิชาการอย่างเดียว อีกไม่นานประเทศชาติจะล่มจมจากคนฉลาดที่เลว จึงอยากฝากให้สังคมช่วยกัน รวมถึงรัฐบาล ไม่ว่ายุคไหนขอให้เห็นความสำคัญ เพราะการสร้างจิตใจ ต้องมีการทำอย่างต่อเนื่อง จึงจะประสบผลสำเร็จ


[Original Link]