Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ธุรกิจเอสเอ็มอี ยังไงก็มี CSR


ในทุกองค์กรธุรกิจ ล้วนแล้วแต่มีการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่แล้วทั้งสิ้น จะต่างกันก็ตรงความเข้มข้นของการดำเนินงานที่มีมากน้อยไม่เหมือนกัน

องค์กรหนึ่งอาจมีความสำนึกรับผิดชอบสูงกว่า ขณะที่อีกองค์กรหนึ่งอาจมีการใช้ทรัพยากรในการดำเนิน CSR ได้อย่างมีประสิทธิภาพดีกว่า หรือองค์กรหนึ่งอาจสร้างให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมได้อย่างกว้างขวางกว่า หรือองค์กรอีกแห่งหนึ่งอาจส่งมอบผลลัพธ์จากการดำเนิน CSR ให้แก่สังคมได้ประสิทธิผลมากกว่า ทำให้การพิจารณาเรื่อง CSR ในองค์กรหนึ่งๆ จึงต้องคำนึงถึงทั้ง ‘กระบวนการ-ผลลัพธ์’ ควบคู่กันไป

ฉะนั้น อย่าเข้าใจผิดว่า องค์กรของท่านยังไม่มี CSR หรือยังไม่ได้ทำ CSR เพราะการที่องค์กรของท่านเติบโตและยืนหยัดอยู่ในทุกวันนี้ได้ แสดงว่า กิจการของท่านต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่แล้วไม่มากก็น้อย มิฉะนั้น สังคมคงไม่อนุญาตให้ท่านได้ทำธุรกิจอย่างที่เป็นอยู่ หรือไม่ยอมรับท่านให้เป็นสมาชิกหนึ่งของสังคมเช่นนี้

แน่นอนว่า การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการเอสเอ็มอี ย่อมต้องมีความแตกต่างจากธุรกิจขนาดใหญ่ นั่นก็เป็นเพราะขนาดของทรัพยากรที่มีในกิจการ ขีดความสามารถในการดำเนินงาน รวมทั้งผลกระทบที่ส่งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้นมีความแตกต่างกัน

การดำเนินงาน CSR ของเอสเอ็มอี จึงควรคำนึงถึงปัจจัยในเรื่องการปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม เรียบง่ายไม่ซับซ้อน ใช้ต้นทุนที่ได้ประสิทธิภาพ และไม่มุ่งเน้นเรื่องเม็ดเงินงบประมาณ

5 ข้อเสนอแนะต่อการวางกลยุทธ์ CSR ของเอสเอ็มอี
ด้วยความที่เป็นองค์กรขนาดเล็ก เอสเอ็มอีจึงมีศักยภาพในการใช้ความคล่องตัว และความคิดแปลกใหม่ตอบสนองต่อโอกาส หรือประเด็นปัญหาทางสังคมได้ดี อีกทั้งยังมีข้อได้เปรียบในการทำ CSR เมื่อเทียบกับองค์กรขนาดใหญ่ในแง่ของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับชุมชนท้องถิ่นและการที่ผู้บริหารสามารถชี้นำกิจกรรมขององค์กรได้อย่างทันทีทันใด ข้อแนะนำและข้อควรพิจารณาที่เรียบเรียงจากมาตรฐานว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (ISO 26000:2010) สำหรับเอสเอ็มอีในเรื่อง CSR 5 ประการ ได้แก่

1.เนื่องจากธรรมชาติในเรื่องการบริหารงานภายใน การรายงานต่อผู้มีส่วนได้เสีย และในกระบวนการอื่นๆ ของกิจการเอสเอ็มอี มักมีความยืดหยุ่นและลำลองกว่าองค์กรขนาดใหญ่ ความโปร่งใสในการดำเนินงานจึงควรได้รับความคาดหวังในระดับที่เหมาะสม และแตกต่างจากองค์กรขนาดใหญ่

2.การกำหนดขอบเขตของการดำเนิน CSR รวมถึงการตอบสนองต่อเรื่องหลัก (core subjects) และการระบุประเด็น (issues) ปัญหาทางสังคมที่เกี่ยวเนื่อง จะต้องคำนึงถึงบริบท เงื่อนไข และทรัพยากรขององค์กร ตลอดจนประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสีย โดยไม่จำเป็นว่า เอสเอ็มอี จะต้องสนองตอบในทุกๆ ประเด็น เพียงแต่ให้ครอบคลุมในทุกเรื่องหลัก และเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องก็ถือว่าเพียงพอแล้ว

3.มุ่งเน้นในประเด็นที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ โดยเฉพาะประเด็นที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี เอสเอ็มอี ควรมีแผนการดำเนินงานเพื่อสนองต่อประเด็นอื่นๆ ที่ยังมิได้ดำเนินการ ในห้วงเวลาที่เหมาะสม

4.แสวงหาความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐและองค์กรภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติด้าน CSR ที่เหมาะสมกับลักษณะธุรกิจ และตรงกับความต้องการของกิจการตลอดจนผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

5.ดำเนินงานด้วยการร่วมมือกับองค์กรข้างเคียงและกับธุรกิจที่อยู่ในสาขาเดียวกัน แทนการดำเนินงานโดยลำพังเมื่อมีโอกาส ทั้งนี้ เพื่อการประหยัดทรัพยากรและการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงานด้าน CSR

ติดกระดุมเม็ดแรกผิด ก็หลงทิศทั้งกระบวน
การปรับทิศหรือแนวการดำเนินงาน CSR ให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ จะพิจารณาใน 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ (Product) กระบวนการ (Process) และโพรไฟล์ (Profile) ที่นำไปสู่สมการแห่งการสร้างกำไร (Profit) ให้แก่เอสเอ็มอี

เอสเอ็มอีสามารถปรับตัวผลิตภัณฑ์ โดยคำนึงถึงตั้งแต่เรื่องวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ เช่น การเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเลือกใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเพื่อลดการขนส่งและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ท้องถิ่นที่สถานประกอบการตั้งอยู่ การออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือการปรับบรรจุภัณฑ์ ที่ลดมลภาวะหรือขยะมูลฝอย หรือการเพิ่มสายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เจาะตลาดสีเขียวสำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่ห่วงใยเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และมีผลสำรวจยืนยันว่าเกือบครึ่งของผู้บริโภคกลุ่มนี้ ยินดีที่จะจ่ายแพงขึ้นเล็กน้อย แลกกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือดำรงอยู่ในวิถีชีวิตสีเขียว

การปรับตัวกระบวนการ โดยคำนึงถึงแนวโน้มทางการค้ายุคใหม่ต่างก็แสวงหาความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการทำธุรกิจกันทั้งนั้น การริเริ่มทำ CSR โดยต้องรอให้มีกำไรก่อน หรือให้พร้อมก่อนนั้น อาจจะไม่ทันการณ์กับความต้องการทางธุรกิจ ซึ่งในกรณีนี้ไม่ใช่ OPTION ที่เอสเอ็มอีจะเลือกว่าทำหรือไม่ทำ หรือรอก่อนได้ เปรียบเหมือนกับเรื่อง ISO 9000 ที่ในยุคสมัยปัจจุบัน หากกิจการใดไม่ได้รับการรับรอง ก็อาจจะไม่สามารถค้าขายกับบรรดาคู่ค้าที่อยู่ในสายอุปทานได้อย่างสะดวกโยธินเช่นเดิม

การสร้างข้อมูลเด่นหรือโพรไฟล์ทาง CSR ก็เป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญต่อจากเรื่องผลิตภัณฑ์และกระบวนการ เพราะบรรดาคู่ค้าที่มี CSR จะพิจารณาค้าขายกับกิจการที่มี CSR ด้วยกันเองก่อน เพราะไม่ต้องการที่จะเสี่ยงต่อความไม่รับผิดชอบของคู่ค้าที่เป็นได้ทั้งผู้ส่งมอบ (Suppliers) ในฝั่งต้นน้ำ และผู้กระจายสินค้า (Distributors หรือ Dealers) ในฝั่งปลายน้ำ แล้วทำให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนเสียหาย เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องให้เสียทั้งชื่อเสียงและเงินทอง

เอสเอ็มอีที่สนใจในการปฏิรูปบริบทธุรกิจด้วยสมการ Product + Process + Profile = Profit สามารถลงทะเบียนเข้าฟังสัมมนาฟรีในหัวข้อ “กลยุทธ์ CSR เข้มแข็ง-ธุรกิจมีกำไร” ซึ่งจัดโดย ผู้จัดการ 360o รายสัปดาห์ ร่วมกับ สถาบันไทยพัฒน์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ในวันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2553 เวลา 13.00 - 17.00 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ มิลเลนเนียม สุขุมวิท 21 (อโศก) กรุงเทพฯ

พิเศษสำหรับเอสเอ็มอีที่สนใจสร้างโพรไฟล์ทาง CSR ด้วยตัวเอง (รับเพียง 50 ท่านๆ ละ 2,000 บาท) สถาบันไทยพัฒน์จะเปิดห้องเวิร์คช็อปเรียนรู้วิธีการสร้างจุดขายด้วย CSR Profile เพื่อให้คู่ค้า/ลูกค้ารู้ว่าคุณมี CSR โดยการสร้างให้เป็นแคตตาล็อคทางธุรกิจที่ทรงคุณค่าของกิจการ โดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ในวันพฤหัสที่ 2 ธันวาคม 2553 เวลา 13.00 - 17.00 น. ณ ห้อง ฟังก์ชันรูม โรงแรมเดียวกัน สอบถามข้อมูลและสำรองที่นั่งได้ที่คุณภูษิตา, คุณกุลนารี โทร 02-6294488 ต่อ 1140, 1190 โทรสาร 02-2819918



[ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์]