Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

6 ทิศทาง CSR ปี 2554

• ไทยพัฒน์วิเคราะห์แนวโน้มซีเอสอาร์ปีล่าสุด
• แนวโน้ม CSR Report จะเป็นเครื่องมือภาคธุรกิจในการสื่อสารกับสังคม
• ข้อมูลการวางแผนซีเอสอาร์ที่พลาดไมได้
• จับตา และเตรียมพร้อมกับแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นจากนี้เป็นต้นไป


การดำเนินงานซีเอสอาร์ของภาคธุรกกิจในปีที่ผ่านมาได้ขยายขอบเขตจากองค์กรของตนเองมาสู่การชักชวนคู่ค้าและสมาชิกในสายอุปทานให้ดำเนินการร่วมด้วย นับเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมตลอดสายกระบวนการ (CSR in Supply Chain) ที่เป็นรูปธรรมในประเทศไทย

ในปีที่แล้วกระแส “Green” ได้กลายเป็นประเด็นซีเอสอาร์ที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง เห็นได้จากคำประกาศของภาคธุรกิจที่มีต่อบทบาทการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งนโยบายภาครัฐที่ผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมสีเขียว และกฏหมายว่าด้วยการอนุรักษ์พลังงาน ที่ส่งเสริมให้เกิดโรงงานสีเขียว และอาคารสีเขียว ซึ่งได้ทำให้เรื่องความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ มิใช่ทางเลือกอีกต่อไป

การประกาศใช้มาตรฐานว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 : 2010 ขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐาน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 หลังจากการริเริ่มจุดประกายกระบวนการจัดทำร่างนี้นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2544 เป็นที่น่าจับตาว่าภาคธุรกิจอุตสาหกรรมจะขานรับมาตรฐานดังกล่าวนี้มากน้อยเพียงใด ด้วยเหตุที่มาตรฐานดังกล่าวไม่สามารถนำไปใช้ หรือนำมาพัฒนาเป็นข้อกำหนดอ้างอิงเพื่อรับรองได้เช่นเดียวกับ ISO 9000 ที่ใช้และมีการรองรับกันอยู่อย่างแพร่หลาย

แนวโน้มที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งคือ การจัดทำรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR Report) ที่จะกลายมาเป็นเครื่องมือของภาคธุรกิจในการสื่อสารกับภาคสังคมและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆของกิจการ ที่ซึ่งการประชาสัมพันธ์ซีเอสอาร์ไม่สามารถสร้างคุณค่าและความสัมพันธ์ได้เหมือนดังเดิม และนับเป็นครั้งแรกที่องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative : GRI) ได้เข้ามาจัดเวิร์กชอปแนะนำการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน หรือ Sustainability Report อย่างเนทางการในประเทศไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553

ในปีนี้การรายงานซีเอสอาร์ขององค์กรจะทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น เนื่องจากทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) กำลังดำเนินการจัดทำแนวทางการรายงานข้อมูลการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมที่คาดว่าจะมีการประกาศในปี 2554 ธุรกิจจึงควรต้องเริ่มสำรวจและเก็บบันทึกข้อมูล วางแผนการเปิดเผยข้อมูล ปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสีย คัดเลือกข้อมูลที่จะรายงานต่อผู้มีส่วนได้เสียในช่องทางที่เหมาะสมพร้อมรับต่อแนวโน้มของการรายงานด้านซีเอสอาร์ที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ไป

พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับสถาบันฯ ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่องบรรษัทภิบาลในเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นผู้ประเมินทิศทางซีเอสอาร์ของไทยเป็นประจำทุกปี จึงได้ทำการวิเคราะห์และประมวลแนวโน้มของซีเอสอาร์ในปี 2554 ภายใต้รายงานที่มีชื่อว่า “6 ทิศทาง CSR ปี 2554 : Reporting your CSR) สำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนดำเนินงานซีเอสอาร์ในปีนี้ รวมทั้งสามารถที่จะรายงานผลการดำเนินงานซีเอสอาร์ได้อย่างเป็นรูปธรรม

6 ทิศทางที่น่าจับตา
แนวทางแรก ในปีที่ผ่านมาเรียกได้ว่าทุกวงการได้นำ Green Concept มาใช้พัฒนากระบวนการดำเนินงานในกิจการให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกันอย่างถ้วนหน้า คำประกาศของภาคธุรกิจที่มีต่อบทบาทการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement) การพัฒนาผู้ค้าสีเขียว (Green Dealer) การคิดค้นนวัตกรรมสีเขียว (Green Innovation) รวมทั้งนโยบายของภาครัฐที่ผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) และกฏหมายว่าด้วยการอนุรักษ์พลังงาน ที่ส่งเสริมให้เกิดโรงงานสีเขียว และอาคารสีเขียว ซึ่งได้ทำให้เรื่องความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ มิใช่ทางเลือกอีกต่อไป

ด้วยกระแสสีเขียวที่แผ่ขยายอย่างกว้างขวาง ทำให้องค์กรธุรกิจต่างต้องปรับตัวขานรับเรื่องความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดสายกระบวนการ จากเรื่องพื้นฐาน อาทิ การปิดไฟประหยัดพลังงาน การลดการใช้น้ำ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิง ฯลฯ ซึ่งมุ่งที่การลดต้นุทนค่าใช้จ่ายเป็นสำคัญ

ในปีนี้องค์กรธุรกิจหลายแห่งจะใช้กลยุทธ์สีเขียวเพื่อวัตถุประสงค์ในการสร้างเม็ดเงินรายได้ใหม่ๆ จากการปรับปรุงสายผลิตภัณฑ์ที่สนองตอบต่อพฤติกรรมของผู้บริฑภคในทิศทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น และการสร้างความเติบโตด้วยการรุกคืบเข้าสู่ส่วนแบ่งตลาดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมกับกระแสสีเขียว และกลายมาเป็นผู้นำตลาดที่มีความเขียวเหนือกว่า (Greener) คู่แข่งขัน

แนวทางที่สอง กิจกรรมเพื่อสังคมในรูปแบบการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคมที่อยู่ในรายการอันดับต้นๆ ของสังคมไทย คือการบริจาคเพื่อการกุศล การปลูกป่า การสร้างฝาย และการมอบวัสดุอุปกรณ์และสิ่งของใช้สอยต่างๆ เช่น ผ้าห่ม ถุงผ้า ถังน้ำ เครื่องเขียน อุปกรณ์กีฬา เป็นต้น ซึ่งเป็นกิจกรรมซีเอสอาร์ที่ธุรกิจมักใช้เป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ การส่งเสริมการตลาด และการสร้างตราสินค้ามากกว่าที่จะใช้เป็นเครื่องมือการดำเนินงานภายใต้บริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้ธุรกิจจำต้องเตรียมตอบคำถามประเภทเหล่านี้อย่างจริงจัง และด้วยเสียงอันดังขึ้น อาทิ

ประการแรก ต้นไม้ที่เราไปปลูกในกิจกรรมลดโลกร้อนเมื่อสามปีที่แล้ว ตอนนี้เหลือรอดอยู่กี่ต้น (แล้วจะทำให้รอดมากกว่านี้ได้อย่างไร) ประการที่สอง ถุงผ้าที่เราเคยแจกให้ลูกค้าและพนักงานเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก วันนี้มีลูกค้าและพนักงานใช้อยู่กี่คน (แล้วจะดูแลให้ใช้การได้ดีต่อไปอย่างไร) ประการที่สาม ฝายที่เราเคยไปสร้างร่วมกับอาสาสมัครและชาวบ้านทุกวันนี้ยังใช้การได้ดีอยู่หรือไม่ (แล้วจะดูแลให้ใช้การได้ดีอีกต่อไปอย่างไร) ประการที่สี่ ห้องสมุดที่มอบให้แก่ชุมชนปีที่แล้ว มีหนังสือและผู้ใช้บริการตามที่เราคาดหวังไว้มากน้อยเพียงใด (แล้วจะไม่กลายเป็นห้องสมุดร้างได้อย่างไร) ประการที่ห้า เงินที่เราบริจาคเข้ากองทุนพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อม ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชาวบ้านได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยขนาดไหน (แล้วจะมีวิธีที่ดีกว่านี้หรือไม่)

ด้วยข้อจำกัดของการออกแบบกิจกรรมเพื่อสังคมที่ต้องการสร้างการมีส่วนร่วมในหมู่พนักงานแบบเปิดกว้าง ทำให้รูปแบบกิจกรรมอาสาช่วยเหลือสังคมที่ผ่านมา มิได้ใช้ศักยภาพและขีดความสามารถของพนักงานได้อย่างเต็มที่ กิจกรรมส่วนใหญ่จึงเป็นเพียงการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักหรือเพื่อแสดงเจตนารมณ์ และความมุ่งมั่นในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรโดยรวม

สำหรับในปีนี้ธุรกิจที่มุ่งประสิทธิภาพในกิจกรรมเพื่อสังคมขององค์กรจะพัฒนากิจกรรมจากการอาสาในแบบทั่วไป มาสู่การอาสาที่ใช้ทักษะในวิชาชีพ (Professional Skill Volunteering) เช่น ครีเอทีฟบริษัทโฆษณทำแคมเปญฟรีให้แก่มูลนิธิสำหรับรณรงค์แก้ไขปัญหาสังคม นักการตลาดช่วยวางกลยุทธ์การตลาดให้แก่ผลิตภัณฑ์ของชุมชนที่บริษัทมีถิ่นที่ตั้งอยู่ นักออกแบบหรือสถาปนิกอาสาสร้างแบบอาคารประหยัดพลังงานให้ศาสนสถาน หรือสถานศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ พนักงานไอทีช่วยเหลือพัฒนาและดูแลเว็บไซต์ให้แก่องค์กรสาธารณประโยชน์ บริษัทลอจิสติกส์ให้บริการระบบข้อมูล การขนส่ง การบริหารวัสดุคงคลัง การจัดการวัตถุดิบ การบรรจุหีบห่อ แก่วิสาหกิจชุมชน โดยรูปแบบดังกล่าวนี้ถือเป็นการทำงานบริการสังคม (Pro Bono Engagement) ที่ไม่คิดค่าวิชาชีพในแบบธุรกิจปกติ

แนวทางที่สาม การจัดทำรายงานซีเอสอาร์ของหลายองค์กร มีสถานะเป็นเพียงหนังสือรายงานข้อมูลประจำปี ที่เป็นการวบรวมความเคลื่อนไหวของการดำเนินกิจกรรมด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในรอบปี โดยเนื้อหาของรายงานส่วนใหญ่เป็นข้อมูลจากโครงการ หรือกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ ขององค์กรที่เน้นการเปิดเผยผลการดำเนินงานในเชิงผลผลิตในรายโครงการ แทนที่จะเป็นผลลัพธ์ หรือผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้ออมของกิจการในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

ด้วยเหตุนี้กิจการหลายแห่งเมื่อได้ดำเนินการไปชั่วระยะเวลาหนึ่งก็เริ่มมีข้อสงสัยหรือคำถามตามมาว่า กิจกรรมซีเอสอาร์ที่องค์กรดำเนินอยู่นั้นก่อให้เกิดคุณค่าจริงหรือไม่ หรือการจัดทำรายงานซีเอสอาร์ขององค์กรก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไร เป็นที่แน่นอนว่าการแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการในทุกๆกิจกรรมนั้น ย่อมมีประโยชน์ต่อสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และย่อมจะส่งผลกระทบในทางใดทางหนึ่งแก่องค์กรด้วยเช่นกัน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่องค์กรไม่อยากทำซีเอสอาร์ หรือทำซีเอสอาร์อะไรก็ได้ย่อมดีทั้งนั้น แต่ทว่าองค์กรต้องการทำซีเอสอาร์ที่ก่อให้เกิดผลจริงๆ และเป็นซีเอสอาร์ที่เหมาะสมกับองค์กรจริงๆ

การวิเคราะห์ประเด็นและกิจกรรมซีเอสอาร์ที่ส่งผลต่อการดำเนินงานในหมวดเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืนจะนำไปสู่การค้นหาตัวบ่งชี้การดำเนินงานที่มีนัยสำคัญ และเกี่ยวข้องกับองค์กรจริงๆ ทำให้กิจการสามารถอธิบายถึงหลักการและเหตุผลในการเลือกประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่เหมาะสมและกิจกรรมที่องค์กรควรดำเนินการ รวมทั้งสามารถสร้างกระบวนการจัดทำรายงานให้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนงานซีเอสอาร์ขององค์กรตลอดทั้งปี มากกว่าที่จะให้รายงานเป็นจุดหมายในตอนท้ายปีเท่านั้น

แนวทางที่สี่ จากการดำเนินงานซีเอสอาร์ที่มุ่งเน้นเฉพาะสำหรับองค์กรของตนเอง ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เองตามลำพังจะพัฒนามาสู่การจัดทำนโยบายการดำเนินงานซีเอสอาร์ร่วมกันระหว่างองค์กรในเครือและในสายอุปทาน เพื่อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อนทั้งในแง่ของพื้นที่และประเด็นกิจกรรม รวมทั้งมุ่งเน้นให้เกิดผลกระทบที่มีนัยสำคัญในลักษณะของการทำงานร่วมกันมากกว่าการดำเนินงานแบบต่างคนต่างทำ

องค์กรใดที่มีอำนาจต่อรองมาก และตระหนักในความสำคัญของซีเอสอาร์ตลอดกระบวนการก็จะแผ่ขยายเขตอิทธิพลในการชักจูงโน้มน้าวให้สมาชิกในสายอุปทาน มีการดำเนินงานซีเอสอาร์ตามแนวทางหรือข้อแนะนำขององค์กรนั้น หรือตามแนวปฏิบัติที่สากลยอมรับ บรรดาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เป็นคู่ค้า จึงจำต้องศึกษาและดำเนินงานซีเอสอาร์ให้ได้ตามเกณฑ์ที่ตกลงร่วมกันเป็นอย่างน้อย เนื่องเพราะแรงผลักดันนี้มาจากวงธุรกิจด้วยกันเอง ซึ่งถ้าเพิกเฉยหรือละเลยก็อาจส่งผลให้ค้าขายได้ยากลำบากยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้ความแตกต่างระหว่างชนชั้นของผู้ส่งมอบ รวมไปถึงคู่ค้าจะเกิดขึ้นจากหลักเกณฑ์ซีเอสอาร์ที่กำหนดให้คู่ค้าต้องแสดงให้เห็นได้ว่าองค์กรมีความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับที่ยอมรับได้จึงจะค้าขายด้วยได้ จากเดิมการจำแนกประเภทของธุรกิจในแบบที่เป็นต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ คงจะต้องเพิ่มการจำแนกเป็นธุรกิจจำพวกพ้นน้ำ (หรือที่ลอยตัวอยู่ใน Short -List) จำพวกปริ่มน้ำ (ที่ยังสามารถอยู่ใน List) และจำพวกใต้น้ำ (ที่ตกอยู่ใน Wailing List ต้องฝ่าฟันกันต่อ) กลายเป็นชนชั้นอุปทานในสายอุปทานที่แต่เดิมมีอยู่ก็จะทวีความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น

แนวทางที่ 5 การเกิดขึ้นของสื่อสังคมออนไลน์จนมีพัฒนาการมาถึงวันนี้ ได้เปิดพรมแดนการติดต่อสื่อสาร การเปิดเผยข้อมูลและข้อเท็จจริงในวงการต่างๆ ไม่พ้นวงธุรกิจ และโดยคนธรรมดาๆคนหนึ่งในสังคม จากฐานันดรที่สาม ซึ่งเป็นประชาชนที่ต้องอาศัยผู้แทน หรือไม่เข้าถึงสื่อสาธารณะก็จะยกระดับสู่การมีช่องทางสื่อสารแบบไม่ต้องอาศัยตัวกลางและเปิดกว้าง ขณะที่ฐานันดรที่สี่ซึ่งเป็นสื่อเดิมๆ ก็ต้องปรับตัวเพื่อสะท้อนความเห็นที่หลากหลายจากสังคม และยอมรับการขยายตัวของสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น การบรรจบกันของฐานันดรที่สามและฐานันดรที่สี่จึงกลายมาเป็น “ฐานันดร 3.5” คนพันธุ์ที่มีสื่อสังคมเป็นเครื่องมือขยายพิสัย

ในปีนี้ธุรกิจจะหยิบฉวยสื่อสังคมออนไลน์ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอื่นๆ มาเป็นเครื่องมือทางการตลาดเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากการที่องค์กรหลายแห่งต่างมีหน้าเฟซบุ๊ก และบัญชีทวิตเตอร์ในชื่อองค์กรหรือผลิตภัณฑ์ของตนเพื่อใช้ส่งเสริมการขาย สร้างภาพลักษณ์ และกระชับความสัมพันธ์กับลูกค้า ขณะที่สื่อสังคมออนไลน์เองก็มีผลต่อเรื่องซีเอสอาร์อย่างมาก มีกรณีการร้องเรียนของผู้บริโภคต่อสินค้าและบริการที่ไม่ได้คุณภาพที่หากองค์กรไม่ได้ให้ความสำคัญหรือละเลยศักยภาพของสื่อสังคมออนไลน์ หลายเหตุการณ์ขยายวงไปสู่การรวมกลุ่มของผู้บริโภคที่ประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน การบอกต่อประสบการณ์ที่สร้างให้เกิดภาพลบต่อองค์กรจนนำไปสู่ความเสียหายที่อาจยากเกินแก้ไข

ในบริบทของการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม ธุรกิจสามารถวางกกลยุทธ์การใช้สื่อสังคมออนไลน์ในเชิงรุกเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมทางสังคมในกิจกรรมซีเอสอาร์ขององค์กร ในลักษณะของการร่วมสร้าง (Co-Creation) อาทิ การตลาดเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาสังคม ที่เป็นการสนับสนุนการพัฒนาหรือการทำให้เกิดผลจากการรณรงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในด้านสาธารณสุข ด้านความปลอดภัย ด้านสิ่งแวดล้อม หรือด้านสุขภาวะ อันจะนำมาซึ่งคุณค่าร่วมระหว่างองค์กรและสังคม

แนวทางที่หก จากการเติบโตของธุรกิจสีเขียว ทั้งทางด้านพลังงานทางเลือก ผลิตภัณฑ์และบริการเชิงสุขภาพ สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ได้กลายเป็นตัวแปรที่ธุรกิจต้องคำนึงถึงในการดำเนินกิจกรรมทางการตลาดที่ต้องมีส่วนประสมของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โลกร้อน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเรื่องหลักของซีเอสอาร์ด้วยเช่นกัน

สำหรับธุรกิจที่ต้องการเกาะกระแสสีเขียว แต่ทำไม่ได้จริง หรือมิได้คำนึงถึงการปรับใช้วัตถุดิบ การเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตและบริการ หรือการดูแลผลิตภัณฑ์และกากของเสียอย่างจริงจัง จะใช้วิธีการฟอกเขียว (Green Washing) เพื่อทำให้ผู้บริโภคหรือสังคมเข้าใจไปว่าผลิตภัณฑ์ของตนหรือกระบวนการธุรกิจของตนมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพียงเพื่อวัตถุประสงค์ในการตลาดหรือการขาย แต่มิได้ทำจริง

ในปีนี้ ผู้บริโภคจึงควรตรวจสอบและศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์และข้อมูลองค์กรอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ อาจมีราคาไม่ถูกไปกว่าผลิตภัณฑ์ในแบบปกติทั่วไป การยอมจ่ายเงินสูงขึ้น แต่กลับได้ผลิตภัณฑ์ย้อม (แมว) สีเขียว จึงเป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะการบริโภคข่าวสารอย่างระมัดระวังกับธุรกิจฟอกเขียวที่ใช้วิธีโฆษณาชวนเชื่อย่างแยบยล ตัวอย่างของการฟอกเขียวธุรกิจ ได้แก่

ประการแรก การติดฉลากรับรองคุณภาพทั้งที่มิได้มีคุณภาพตามสมอ้าง หรือโดยปราศจากการตรวจสอบรับรองใดๆ ประการที่สอง การโฆษณาว่าผลิตภัณฑ์ประกอบด้วยสารจากธรรมชาติล้วนๆ ซึ่งในความเป็นจริง สารมีพิษ เช่น สารหนู สารปรอท สารกันเสียฟอร์มัลดีไฮด์ (ที่มักใช้ผสมในเครื่องสำอาง แชมพู น้ำยาเคลือบเล็บ น้ำยาบ้วนปาก ยาระงับกลิ่นผ้า) ก็เป็นสารที่พบได้ตามธรรมชาติทั้งสิ้น ประการที่สาม การประกาศว่าได้รับการรับรองตามมาตรฐานหรือข้อกำหนดที่อ้างอิงจาก ISO 26000 ทั้งที่มิใช่มาตรฐานสำหรับนำไปใช้หรือนำมาพัฒนาเป็นข้อกำหนดอ้างอิงเพื่อการรับรอง ประการที่สี่ การแสดงให้เห็นถึงการลงทุนในเทคโนโลยีระดับบำบัดของเสียที่เหนือกว่ามาตรฐาน แต่กลับมิได้เปิดใช้ง่าน หรือมิได้บำบัดให้ได้ดีกว่าดังที่ประกาศ ประการที่ห้า การบิดเบือนข้อมูลในรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตลอดจนรายงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ปรากฏเฉพาะส่วนที่ส่งผลบวกต่อองค์กร


[Original Link]