Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ไทยพัฒน์ชี้ซีเอสอาร์ผ่านนิวมีเดียมาแรง


สถาบันไทยพัฒน์ ชี้ สื่อออนไลน์มาแรง ระบุแนวโน้มการทำซีเอสอาร์ภาคธุรกิจใช้ออนไลน์สื่อสารมากขึ้น เผยผู้ประกอบการใช้กระแสสิ่งแวดล้อมยกระดับสู่ Greener เหนือกว่าคู่แข่งขันในตลาด และเพื่อสร้างการเติบโต

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยถึง แนวโน้มของ CSR ในปีนี้ว่า การจัดทำรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR Report) จะกลายมาเป็นเครื่องมือของภาคธุรกิจในการสื่อสารกับภาคสังคมและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ของกิจการ เพราะปัจจุบันการทำประชาสัมพันธ์ไม่สามารถสร้างคุณค่าและความสัมพันธ์ได้เหมือนเดิม

ทั้งนี้ จุดมุ่งหมายของการเปิดเผยรายงาน CSR คือ เพื่อสร้างให้เกิดการยอมรับและการรับรองจากสังคมต่อผลสำเร็จในการทำ CSR ขององค์กร โดยองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการที่เกื้อหนุนให้การรายงานเป็นที่ยอมรับ ได้แก่ บูรณภาพ (Inclusivity) โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียในทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง และความครอบคลุมการทำ CSR ในเรื่องหลักและประเด็นสำคัญได้อย่างครบถ้วน สารัตถภาพ (Materiality) ของตัวบ่งชี้สัมฤทธิ์ภาพในการทำ CSR ที่มีนัยสำคัญและเกี่ยวเนื่องกับองค์กรจริงๆ และทีฆภาพ (Sustainability) ของกิจกรรม CSR ที่ส่งผลต่อการดำเนินงานทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้บริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน

ขณะเดียวกัน แนวโน้มที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ คือ สื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียล มีเดีย จะมีอิทธิพลต่อการทำ CSR ขององค์กรธุรกิจมากขึ้น นอกจากการใช้เพื่อส่งเสริมการขาย สร้างภาพลักษณ์ และกระชับความสัมพันธ์กับลูกค้า เปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถวางกลยุทธ์การใช้สื่อสังคมออนไลน์ในเชิงรุก เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมทางสังคมในกิจกรรม CSR ขององค์กร ในลักษณะของการร่วม อาทิเช่น การตลาดเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาสังคม ที่เป็นการสนับสนุนการพัฒนาหรือการทำให้เกิดผลจากการรณรงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในด้านสาธารณสุข ด้านความปลอดภัย ด้านสิ่งแวดล้อม หรือด้านสุขภาวะ อันจะนำมาซึ่งคุณค่าร่วม ระหว่างองค์กรและสังคม

ขณะเดียวกัน กระแสเรื่องสิ่งแวดล้อมก็มีการพูดถึงกันอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายๆ ธุรกิจมีการยกระดับกลยุทธ์สีเขียวจากการทำเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย มาสู่การสร้างเม็ดเงินรายได้ใหม่ๆ ด้วยการปรับปรุงสายการผลิตใหม่ เพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในทิศทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อรักษาการเติบโตในตลาดด้วยการชูความเขียวเหนือกว่า หรือความเป็น Greener เหนือคู่แข่ง


[Original Link]