Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

มีจุดยืน (กลยุทธ์ CSR) เพื่อให้ยั่งยืน


เรื่อง CSR หรือบรรษัทบริบาล ได้กลายเป็นประเด็นที่หน่วยงานในทุกภาคส่วนให้ความสนใจ และได้มีการนำมาบรรจุไว้เป็นพันธกิจที่องค์กรต้องปฏิบัติโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากการดำเนินงานในทางธุรกิจที่มุ่งเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแต่เพียงด้านเดียว

การดำเนินงาน CSR ของหลายกิจการ ยังมีลักษณะเชิงกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในแบบแยกส่วน ที่มิได้เชื่อมโยงไปสู่ยุทธศาสตร์การดำเนินงานขององค์กร ทำให้ความสำเร็จในการดำเนินกิจกรรม CSR ที่มีอยู่ มิได้ตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ระยะยาวของกิจการได้อย่างที่ควรจะเป็น

ประกอบกับการจัดสรรทรัพยากรสำหรับการดำเนินงาน CSR ที่ขาดการบูรณาการในเชิงนโยบายด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เกิดข้อคำถามว่า ภารกิจ CSR ขององค์กรนำไปสู่ความยั่งยืนได้จริงหรือไม่ และจะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรในการขับเคลื่อนงาน CSR ให้เกิดผลสัมฤทธิ์มากกว่าที่เป็นอยู่ได้อย่างไร

เพื่อที่จะตอบคำถามข้างต้น องค์กรจำต้องมีการประเมินสถานภาพด้านบรรษัทบริบาลที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้ทราบถึงทุนทางสังคมที่องค์กรมีอยู่ (What we have) สามารถใช้เป็นข้อมูลในการระบุถึงวิสัยทัศน์ที่องค์กรต้องการจะเป็นในวันข้างหน้า (What we want to be) ที่จะนำไปสู่การวางนโยบายด้านบรรษัทบริบาลที่เหมาะสม (What we should follow) และการกำหนดจุดยืนทางยุทธศาสตร์ความรับผิดชอบต่อสังคม (What position we take) ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในระยะยาว

การพิจารณาเพื่อกำหนดจุดยืนทางยุทธศาสตร์ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (Strategic Positioning on CSR) เป็นสิ่งที่องค์กรควรดำเนินการเพื่อให้ทราบถึงทุนทางสังคมที่กิจการสามารถใช้ในการดำเนินงาน CSR อย่างมีอัตลักษณ์ (Identity) มีการพัฒนาวิสัยทัศน์ นโยบาย และจุดยืนทางกลยุทธ์ CSR อย่างมีเอกลักษณ์ (Unique) เพื่อสร้างให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่สังคมและองค์กรได้อย่างยั่งยืน


ขั้นตอนของการค้นหาตำแหน่งหรือจุดยืนทางยุทธศาสตร์ CSR ขององค์กร สามารถแบ่งออกเป็น 4 กิจกรรมหลัก คือ 1) Assessing เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลสถานภาพด้านบรรษัทบริบาลในปัจจุบัน 2) Visioning เป็นการระบุวิสัยทัศน์ที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการโดยคำนึงถึงทุนทางสังคมที่องค์กรมีอยู่ 3) Defining (Policies) เป็นการวางนโยบายด้าน CSR ที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม และ 4) (Strategic) Positioning เป็นการกำหนดจุดยืนทางยุทธศาสตร์ความรับผิดชอบต่อสังคมที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ สำหรับใช้เป็นกรอบในการดำเนินงาน CSR ของกิจการ

ตำแหน่งหรือจุดยืนทางยุทธศาสตร์ความรับผิดชอบต่อสังคมที่ได้ สามารถใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานด้านบรรษัทบริบาลให้มีความเชื่อมโยงสอดคล้องกันอย่างมีกลยุทธ์ และเป็นข้อมูลในการจัดทำยุทธศาสตร์ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการให้มีความเป็นเอกภาพ รวมทั้งสามารถใช้สื่อสารเพื่อสร้างให้เกิดการรับรู้ทั้งภายในและภายนอกองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

[Original Link]