Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

สัมภาษณ์พิเศษ ดร. พิพัฒน์ ยอดพฤติการ (3)

ประเทศไทยจะเป็นต้นแบบ CSR ในภูมิภาคได้หรือไม่

• จำเป็นที่ไทยต้องมีบทบาทนำในเรื่อง CSR ด้วยหรือ
คือ ก็ต้องถามภาคธุรกิจว่า ท่านต้องการจะเป็นองค์กรธุรกิจชั้นนำในภูมิภาคหรือไม่ ถ้าคำตอบคือ ใช่ ซึ่งผมก็เห็นว่า วันนี้มีองค์กรธุรกิจไทยหลายแห่ง กำหนดวิสัยทัศน์ไว้อย่างนี้ การวางกลยุทธ์เรื่อง CSR ก็เป็นวาระสำคัญ เพราะการคิดเรื่อง CSR ในวันนี้ ไม่ใช่เรื่องของการสงเคราะห์สังคมอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้ากิจการของท่านต้องย้ายฐานการผลิตไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ไม่มีโมเดลหรือไม่รู้วิธีในการบริหารความสัมพันธ์กับชุมชนท้องถิ่น เขาก็อาจจะต่อต้านท่านได้ง่ายๆ อันนี้เป็นเรื่อง CSR หรือ การอาศัยแรงงานกับวัตถุดิบในซัพพลายเชนข้ามพรมแดน ถ้ากิจการของท่านไม่มีการวางมาตรฐานเรื่องแรงงาน เรื่องการจัดหา เรื่องความปลอดภัย เกิดปัญหาที รวนกันไปหมด มันก็แข่งขันลำบาก อันนี้ก็เป็นเรื่อง CSR เหมือนกัน

แล้วไม่ใช่ว่า การจะเป็นผู้นำเรื่องนี้ในอาเซียน ภาระจะต้องตกอยู่กับภาคธุรกิจอย่างเดียว ภาครัฐก็ต้องดำเนินบทบาทที่ส่งเสริมและสนับสนุนภาคธุรกิจด้วย อย่างเรื่องมาตรฐานแรงงาน เราส่งเสริมให้โรงงานมีมาตรฐานแรงงานไทย หรือ มรท.8001 หรือเรื่องมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม เราส่งเสริมเกณฑ์มาตรฐาน CSR-DIW ซึ่งก็เห็นว่าได้กันหลายโรง ทีนี้เวลาจะขึ้นไปแข่งในระดับอาเซียน เพื่อนบ้านเขารู้จักและยอมรับมาตรฐานของเราหรือเปล่า อันนี้เป็นโจทย์ที่หน่วยงานส่งเสริมต้องไปดำเนินการ เช่น การผลักดันเรื่องมาตรฐานแรงงานอาเซียนที่เข้ากันได้กับ มรท.8001 หรือการทำบันทึกข้อตกลงให้ ASEAN CSR Network ยอมรับเกณฑ์มาตรฐาน CSR-DIW ไม่อย่างนั้นแล้ว ภาคธุรกิจก็จะมีภาระเพิ่มในการศึกษาและปฏิบัติตามทั้งมาตรฐานไทยและมาตรฐานอาเซียนที่จะเกิดขึ้นใหม่

ส่วนในภาควิชาการก็สามารถดำรงบทบาทเกื้อหนุนได้เหมือนกัน ในฐานะที่ปรึกษาสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ผมพยายามผลักดันให้มีพื้นที่การทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคธุรกิจในเรื่อง CSR เพิ่มขึ้น โดยในปีนี้ CSRI มีแผนจะจัดทำ Guidelines for SR สำหรับองค์กรธุรกิจ เราได้เชิญเครือข่ายของคณะบริหารธุรกิจ 5 สถาบันที่รวมกลุ่มกันในชื่อ Thailand Consortium of Business Schools (TCOBS) ซึ่งประกอบด้วย จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เกษตรฯ นิด้า และหอการค้าไทย มาร่วมกันพัฒนาแนวปฏิบัติและทำเวิร์คช็อร์ปกับบริษัทจดทะเบียน ซึ่งในใจเรามิได้คาดหวังเพียงการได้เอกสารคู่มือที่เป็นแนวปฏิบัติ แต่มองไปถึงการนำเนื้อหาที่พัฒนาขึ้นไปใช้ต่อยอดในการจัดการเรียนการสอนในคณะบริหารธุรกิจต่างๆ ภายในเครือข่าย เพราะเมื่อภาคธุรกิจหวังจะเป็นผู้นำเรื่อง CSR ในระดับอาเซียน เราก็ต้องเตรียมสถาบันอุดมศึกษาให้พร้อมรองรับนักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านที่สนใจในเรื่อง CSR ด้วยเช่นกัน

• แล้วองค์กรธุรกิจที่ต้องการก้าวเป็นผู้นำในอาเซียน จะมีคำแนะนำอย่างไร
ต้องเข้าใจว่า วันนี้ธุรกิจกับ CSR จะคิดแยกส่วนไม่ได้แล้ว ถ้าเราเริ่มต้นด้วย mindset นี้ ก็จะคิดต่อได้ว่า การจะก้าวเป็นองค์กรธุรกิจชั้นนำในทศวรรษนับจากนี้ไป ไม่ว่าจะเป็นในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค หรือระดับโลก จะต้องคำนึงถึงการบรรลุเป้าหมายที่ไม่จำกัดเพียงทางธุรกิจหรือเศรษฐกิจ แต่ยังต้องบรรลุเป้าหมายทางสังคมและทางสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย เป็นเรื่องของ Triple Bottom Line

ทีนี้ ธุรกิจก็ต้องรู้ว่าในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค หรือระดับโลก เขาตั้งเป้าหมายทางสังคมและทางสิ่งแวดล้อมไว้อย่างไรบ้าง เราอยากจะก้าวสู่ผู้นำระดับไหน ก็พิจารณาเอาตามศักยภาพและความพร้อมของเรา ที่แนะนำอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่า ธุรกิจต้องไปทำหน้าที่แทนรัฐ แต่หมายความว่า ธุรกิจในฐานะภาคีหลักภาคีหนึ่งในสังคม จะมีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุตัวชี้วัดหรือเป้าหมายเหล่านั้นได้มากน้อยเพียงใด

ตัวอย่างของการนำเป้าหมายการพัฒนาในระดับประเทศจากร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) ในระดับภูมิภาคจากแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) และในระดับโลกจากเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษขององค์การสหประชาชาติ (MDGs) มาเป็นโจทย์ในการเข้ามีส่วนร่วมดำเนินงานของภาคธุรกิจ

ตารางเป้าหมายทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในระดับต่างๆ

หน่วยงานในลักษณะสมาคมหรือเครือข่ายธุรกิจ ที่สามารถระดมความร่วมมือจากองค์กรธุรกิจต่างๆ ในสังกัดของตน ควรจะต้องเป็นผู้ริเริ่มในการวางเส้นทางลักษณะนี้ แทนที่จะปล่อยให้แต่ละองค์กรธุรกิจดำเนินงานกันเองโดยลำพัง ถ้าหากเราทำงานร่วมกันในลักษณะนี้ได้ วลีที่ว่า “ประเทศไทยจะเป็นต้นแบบ CSR ในภูมิภาค” คงไม่น่าจะไกลเกินเอื้อม


หน้า    ก่อนหน้า    [1]    [2]    [3]