Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

องค์กร CSR ดัชนีชี้วัดเหนือชั้นกว่า

สุวัฒน์ ทองธนากุล

การจัดสัมมนาของวงการผู้ใฝ่ดีมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในงาน International CSR Summit 2011 ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อเร็วๆ นี้ มีประเด็นที่น่ากล่าวถึงบางประการ


ผมสนใจหัวข้อที่นำขบวนเนื้อหาของการประชุมที่ว่าด้วยเรื่อง CSR & Shareholdder Value : Finnancial Incentive for CSR เพราะนี่คือการรวบยอดแนวคิดที่ยืนยันว่าหัวใจของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) ซึ่งหมายรวมถึงการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยนั้นต้องเริ่มจากยุทธศาสตร์องค์กร และนโยบายในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งก็คือต้องเริ่มจากภายในกระบวนการธุรกิจ (CSR-in process) นั่นเอง

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒนา ซึ่งไปร่วมงานนี้ด้วย ยืนยันกับผมว่า กระแสการให้ความสำคัญต่อการมี CSR ขององค์กร โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่สิงคโปร์ ก็เป็นแนวโน้มเช่นเดียวกับเมืองไทย

“การผลักดันเรื่อง CSR ในปัจจุบันจะมาจากนักลงทุน หรือผู้ถือหุ้นของบริษัทมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความยั่งยืน หรือ Sustainability จะเป็นเป้าหมาย หรือผลลัพธ์ของกิจการที่บริหารด้วยแนวทางการมี CSR”

ดังนั้น นักลงทุน หรือผู้ถือหุ้นมีแนวโน้มจะถามหา “การเติบโตอย่างยั่งยืน” ไม่ใช่แค่ต้องการกำไร และอัตราการเติบโตแบบไม่แน่นอน

สิ่งที่ ดร.พิพัฒน์ นำมาฝากก็คือ แผนภูมิเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนจากตัวชี้วัด 4 ประเภท ซึ่งประเภทที่ 4 คือความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก แสดงให้เห็นว่าแม้ตลาดจะผันผวนอย่างไรแต่ผลประกอบการของกิจการที่วัดด้วยหลัก “ความยั่งยืน” (เส้นสีเขียว) ก็ยังอยู่สูงกว่าระดับอื่น

ดัชนี QCRD Global Sustainability 100 ตามเส้นสีเขียว ประเมินจากผลการดำเนินงานของบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา โดยเข้มในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณที่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการเพื่อมุ่งหมายที่จะเห็นผลกระทบเชิงบวกต่อผู้คนขณะที่มีความเสี่ยงลดลง และผลดีทางการเงินเพิ่ม

นี่คือทิศทางของการลงทุนและการประกอบธุรกิจที่ดีจะไม่เพียงมุ่งสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ (Economic Value) แต่ยังเกิดคุณค่าต่อสังคม (Social Value) ด้วย

เรียกว่าต้องทั้งเก่งและดี

ดังนั้น เมื่อองค์กรชั้นนำของโลกให้ความสำคัญต่อการมี CSR ก็ย่อมมีเนื้อหาดีเด่นพอที่จะจัดทำ รายงานข้อมูล CSR ออกเผยแพร่ได้อย่างสง่างาม

ในการประชุมนานาชาติด้าน CSR ดังกล่าวจึงมีหัวข้อเรื่อง Reporting on CSR Performance ด้วย ซึ่ง ดร.พิพัฒน์ เล่าว่า ตลาดหลักทรัพย์ สิงคโปร์ ได้ประกาศแนวทางการรายงานข้อมูล CSR สำหรับบริษัทจดทะเบียนแล้ว ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2554 ซึ่งมี 6 หมวด ได้แก่

1. ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท
2. กรอบการบริหารความเสี่ยงโดยรวมของกิจการ
3. ระบบการวัดผลการดำเนินงาน
4. การรายงานความยั่งยืนของกิจการ
5. แนวทางดำเนินงานตามหลักสากล
6. หลักประกันรายงานความยั่งยืนที่ตรวจประเมินโดยบุคคลที่ 3

จะเห็นได้ว่าหลักทั้ง 6 นั้นส่วนใหญ่มุ่งให้เกิดธรรมาภิบาล

ในการกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance) ซึ่งตอบโจทย์นักลงทุนที่ต้องการเห็นความถูกต้องเป็นธรรมและโปร่งใส

แต่เมื่อเพิ่มเป้าหมายด้าน “ความยั่งยืน” ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีกระบวนการ CSR เกิดขึ้นในนโยบายและแนวปฏิบัติที่สร้างคุณค่าทั้ง 3 มิติ คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม


[Original Link]