Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

โลกคึกคัก รายงาน CSR สู่ความยั่งยืน

สุวัฒน์ ทองธนากุล

กระแสการยอมรับเรื่องแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) ได้พัฒนาไปถึงขั้นมีการจัดทำรายงานบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR Report)

ขณะเดียวกัน เมื่อดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งหมายถึงการสร้างคุณประโยชน์และไม่สร้างความเสียหายต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ก็เป็นเหตุให้เกิดผล คือ “ความยั่งยืน” (Sustainability)

ดังนั้น กระบวนการขับเคลื่อนองค์กรอย่างมี CSR คือ คำนึงถึงการเกิดผลเชิงบวกทั้งด้านเศรษฐกิจ (Profit) สังคม (People) และ สิ่งแวดล้อม (Environment) ก็เท่ากับว่ากำลังพัฒนาสู่ความยั่งยืน (Sustainable Development)


มาตรฐานสากลในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมที่มุ่งให้มีการบริหารจัดการอย่างมีคุณภาพ ประสิทธิภาพและคุณธรรม เพื่อให้เกิดผลดีทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงให้พิสูจน์ความจริงจัง จริงใจด้วยการเปิดเผยข้อมูลด้านต่างๆ ให้สังคมรับรู้

ก็ด้วยการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainable Development Report) ซึ่งนิยมใช้แนวทางการทำรายงานแห่งความยั่งยืนขององค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากลที่รู้จักกันในนาม GRI (Global Reporting Initiative)

รายงานที่ว่านี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งขององค์กรที่มี CSR และมุ่งมั่นสู่ความยั่งยืน ก็จะใช้สื่อสารข้อมูลสำคัญของผลการดำเนินงานที่กิจการได้คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า ชุมชน และสิ่งแวดล้อม)

GRI เป็นองค์กรอิสระ ก่อตั้งขึ้นโดยเครือข่าย Ceres ร่วมกับสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) มีสำนักงานอยู่ที่เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ การทำงานในลักษณะเครือข่ายที่มีผู้มีส่วนได้เสียมากกว่า 30,000 ราย และที่เป็นองค์กร (Organizational Stakeholders) ทั่วโลกมีมากกว่า 600 องค์กรจากทั้งภาคธุรกิจเอกชน ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา รวมทั้งสมาคมการค้าต่าง ๆ ที่ช่วยเหลือร่วมมือกันพัฒนากรอบและแนวปฏิบัติในการจัดทำรายงานความยั่งยืน

กรอบการรายงานความยั่งยืนที่ประกอบด้วยแนวปฏิบัติหลัก สำหรับการจัดทำรายงานความยั่งยืน ที่เริ่มใช้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2543 เรียกว่า ฉบับ G1 และเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ได้ปรับปรุงเป็นฉบับ G3.1 ที่ใช้ในปัจจุบัน


ทุกวันนี้ปัจจุบัน มีองค์กรธุรกิจเกือบ 5,000 แห่งทั่วโลกได้จัดทำรายงานความยั่งยืนตามกรอบการรายงานของ GRI เผยแพร่สู่สังคมโลก อาทิ ฝรั่งเศส เดนมาร์ก แอฟริกาใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย

ในประเทศไทย มีองค์กรที่ได้จัดทำรายงานความยั่งยืนตามกรอบการรายงานของ GRI ออกเผยแพร่แล้วจำนวน 18 แห่ง ได้แก่ เอสซีจี.เคมีคอลล์, เครือซิเมนต์ไทย, บมจ.ปตท., ปตท.สผ., พฤกษาเรียลเอสเตท, ปตท.เคมีคอล, กสท.โทรคมนาคม, บมจ.บ้านปู, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ, บมจ.บางจากปิโตรเลียม, บมจ.ธนาคารทิสโก้, การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย, บมจ.การบินไทย, ไทยออยล์, บมจ.ผลิตไฟฟ้า และโรบินสัน

และเมื่อต้นเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา สถาบันไทยพัฒน์ ได้บรรลุข้อตกลงกับ GRI ในการเป็นหุ้นส่วนฝึกอบรมที่ได้รับการรับรอง หรือ Certified Training Partner ของ GRI ในประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่จัดหลักสูตรฝึกอบรมด้านการรายงานแห่งความยั่งยืน โดยครอบคลุมพื้นที่การจัดกิจกรรมฝึกอบรมทั้งในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียด้วย

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ได้ให้ความเห็นถึงแนวโน้มการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนขององค์กรธุรกิจในประเทศไทย ในงานสัมมนาเรื่อง Sustainability Reporting: "An Effective Tool for Corporate Communication in Sustainability Era" เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ศกนี้ ว่า “ความต้องการในตัวรายงานแห่งความยั่งยืน หรือรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม ถือเป็นช่องทางสำคัญในการเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ นับว่ามีอัตราที่เติบโตขึ้นมาก โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ลงทุนสถาบันที่จะใช้ข้อมูลเรื่องบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม มาประกอบการลงทุนและการทำธุรกรรมกับบริษัทและองค์กรที่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง”

จะเห็นได้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ลงทุนสถาบันจำนวน 5 แห่ง ซึ่งบริหารเม็ดเงินรวมกันเกือบ 7 ล้านล้านบาท ได้ประกาศจุดยืนร่วมกันในการให้ความสำคัญที่จะพิจารณาความเหมาะสมในการทำธุรกรรมกับบริษัทและองค์กรที่ไม่ให้ความสำคัญกับบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม หรือเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน

การเปิดเผยข้อมูลกระบวนการบริหารธุรกิจผ่านการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน จึงเท่ากับการเปิดเผยแนวทางและจุดยืนการดำเนินธุรกิจด้วยหลัก CSR ซึ่งนับวันจะถูกใช้เป็นตัวชี้วัดความน่าคบค้าของนักลงทุนที่ต้องการผลความสำเร็จที่ยั่งยืนนั่นเอง

ข้อคิด...
ความเคลื่อนไหวที่มีพัฒนาของทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) และ สถาบันไทยพัฒน์ ผนึกกำลังกันส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และธุรกิจที่สนใจใฝ่ดี มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนที่อิงแนวปฏิบัติของ GRI ซึ่งก็คือรายงานการดำเนินธุรกิจด้วยหลัก CSR ที่สมบูรณ์นั่นเอง

จากการที่ 3 สถาบันดังกล่าว ได้ร่วมกันจัดทำและเผยแพร่เอกสารแนวทางการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน เมื่อกลางปี พ.ศ.2555 ก็จะช่วยให้เห็นแนววิธีการจัดทำข้อมูลรายงานการดำเนินงานของกิจการที่คำนึงถึงความรับผิดชอบทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยอ้างอิงจากกรอบการรายงานของ GRI ที่ประกอบด้วย เนื้อหา คุณภาพ ขอบเขตของการรายงาน มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล เกณฑ์วิธีตัวชี้วัด และการวัดระดับการรายงาน

โดยเฉพาะเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา สถาบันไทยพัฒน์ ได้ลงนามข้อตกลงกับ GRI ในการเป็นหุ้นส่วนฝึกอบรมที่ได้รับการรับรอง หรือ Certified Training Partner ของ GRI ในประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่จัดหลักสูตรฝึกอบรมด้านการรายงานแห่งความยั่งยืน โดยครอบคลุมพื้นที่ดำเนินการไปถึงประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียด้วย

บทบาทของสถาบันไทยพัฒน์ในส่วนนี้จะช่วยให้บริษัทและองค์กรต่างๆ ที่ต้องการให้การประกอบการของตนเองมีความยั่งยืน สามารถพัฒนากระบวนการรายงานในการสื่อสารกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย และการดำเนินงานที่เป็นจริงอย่างจริงใจก็จะส่งผลต่อความยั่งยืน ในแนวทางนี้มีการติดตามอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง และมีส่งผ่านข้อมูลไปยังผู้มีอำนาจตัดสินใจเพื่อใช้ปรับแต่งนโยบายและกลยุทธ์ รวมถึงการปรับปรุงการดำเนินงาน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการขององค์กร

รายงานแห่งความยั่งยืน จึงเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนและยกระดับความเก่งและดี คือมีบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการของจริงครับ


[Original Link]