Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ผูกเงื่อนตายให้ CSR


มีการพูดกันว่าความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) นั้น ถูกนำมาเป็นเครื่องมือที่องค์กรธุรกิจใช้สำหรับสร้างภาพประชาสัมพันธ์อย่างฉาบฉวย เป็นมุขทางการตลาด มิได้ทำเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างจริงจังแข็งขัน

ก็เห็นอยู่ว่า CSR มีทั้งในรูปแบบที่เป็นกิจกรรม หรือ Event เพื่อสังคม จัดกันที่ใช้เงินหลายล้านบาท ไม่ได้วัดความสำเร็จกันที่ผลลัพธ์มากนัก ใช้เกณฑ์ว่า ‘ได้ทำ’ หรือ ได้ใช้งบที่ตั้งไว้หมด คือ สำเร็จเสร็จแล้ว

CSR รูปแบบนี้ ก็ยังคงมีให้เห็นกันอยู่ต่อไป ตราบที่บริษัทมีเป้าหมายในการทำ CSR เพื่อ PR อย่างแข็งขัน แต่สำหรับบริษัทที่ต้องการทำ CSR เพื่อผลลัพธ์ที่มากกว่านั้น ก็คงต้องมีแนวทางอื่นเสริม ที่มิใช่เพียงแค่การจัดกิจกรรม CSR เป็นครั้งๆ ซึ่งวิธีหนึ่งก็คือ การผนวกหรือฝังเรื่อง CSR เข้าไปในการดำเนินงานขององค์กร ซึ่งอาจเรียกเป็นภาษาทางการว่า การบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมทั่วทั้งองค์กร

กระบวนการแรกเริ่มที่สำคัญในการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมทั่วทั้งองค์กร ตามหลักวิชา จะประกอบด้วย การสร้างสมรรถภาพในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม การกำหนดทิศทางการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร และการกำกับดูแลองค์กรในบริบทของความรับผิดชอบต่อสังคม

การสร้างสมรรถภาพในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม มีจุดเริ่มที่การปลูกฝังความรับผิดชอบต่อสังคมให้อยู่ในทุกส่วนขององค์กร ซึ่งเกิดจากการให้คำมั่นและการสร้างความเข้าใจร่วมกันในทุกระดับ เริ่มจากผู้นำสูงสุด ด้วยการชี้ให้เห็นถึงนัยและประโยชน์ของความรับผิดชอบต่อสังคม หรือใช้การต่อยอดจากค่านิยมและวัฒนธรรมขององค์กรที่มีอยู่

การสร้างสมรรถภาพในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งอาจครอบคลุมไปถึงการฝึกอบรมให้แก่ผู้จัดการและคนงานในสายอุปทาน

การกำหนดทิศทางการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ทำได้โดยการผนวกเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมให้เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ ภารกิจ ค่านิยม นโยบาย กลยุทธ์การดำเนินงาน วัฒนธรรมองค์กร ฯลฯ ที่ซึ่งบุคลากรในทุกระดับ สามารถรับรู้ว่าเป็นแนวทางของบริษัทที่ต้องปฏิบัติตาม

การกำหนดทิศทางทางการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ยังรวมถึงการแปลงไปสู่วัตถุประสงค์ขององค์กรที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ตามลำดับความสำคัญของเรื่องและประเด็นที่จะดำเนินการ โดยมีความชัดเจนและสามารถวัดผลหรือพิสูจน์ยืนยันได้ ทั้งนี้ ความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียจะมีส่วนช่วยในการกำหนดวัตถุประสงค์ ที่นำไปสู่การจัดทำรายละเอียดการดำเนินงาน ผู้รับผิดชอบ ระยะเวลา งบประมาณ และผลที่จะเกิดขึ้นกับการดำเนินงานอื่นๆ ขององค์กร

กลไกหนึ่งที่สำคัญและมีประสิทธิผลในการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมทั่วทั้งองค์กร คือ การขับเคลื่อนผ่านระบบการกำกับดูแลองค์กร โดยมีการกำหนดโครงสร้างและกระบวนการอย่างชัดเจน หรืออาจใช้วิธีแบบไม่เป็นทางการ โดยผู้นำองค์กรใช้ค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรเป็นตัวขับเคลื่อน

ทั้งนี้ กระบวนการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมทั่วทั้งองค์กรให้ครอบคลุมในทุกหัวข้อและในประเด็นที่เลือกมาดำเนินการนั้น อาจมิได้เกิดขึ้นพร้อมกันในคราวเดียว บริษัทจึงควรมีแผนดำเนินงานรองรับทั้งประเด็นที่สามารถดำเนินการได้ในทันที และประเด็นที่จะดำเนินการในระยะต่อไป โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ สมรรถภาพขององค์กร ทรัพยากรที่มีอยู่ และลำดับความสำคัญของประเด็น

เรียกได้ว่า หากองค์กรใช้วิธีการผนวกหรือฝังเรื่อง CSR เข้าไปในการดำเนินงานขององค์กรแล้ว ก็เท่ากับเป็นการผูกเงื่อนตายให้ CSR ได้มีบทบาทในทุกส่วนขององค์กร และดำเนินไปโดยบุคลากรในทุกระดับ ทำให้ยากต่อการหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อสังคมในแบบจริงจังและแข็งขัน ที่ไปช่วยเพิ่มตัวคูณสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนได้


[Original Link]