Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

อาชีพ CSR ในอนาคต

วีรญา ปรียาพันธ์

ในบริบทการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนทุกวันนี้ มีแนวคิดและวิธีการใหม่ๆ เกิดขึ้นเพื่อรองรับกับปัจจัยและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ภาษาหรือคำศัพท์ใหม่ที่ได้ยินจนเริ่มเป็นที่คุ้นหูในปัจจุบัน ได้แก่ ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) การพัฒนาที่ยั่งยืน (SD) หรือเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม-สังคม-ธรรมาภิบาล (ESG) ซึ่งล้วนแต่เป็นแนวคิดที่ผลักดันให้ภาคธุรกิจขยายโอกาส บทบาท และความรับผิดชอบ เพื่อตอบสนองความคาดหวังของสังคมและประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียในมุมมองที่กว้างขึ้น อันนำไปสู่ความยั่งยืนในระยะยาว

องค์กรธุรกิจที่มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนากิจการสู่ความยั่งยืน ไม่สามารถใช้ข้ออ้างอิงที่ตนเองถือปฏิบัติตามกฎหมายได้เพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว

การสร้างพันธสัญญาทางสังคม (Social Contract) หรือการได้รับฉันทานุมัติจากสังคมหรือชุมชนที่อยู่รายรอบในการประกอบการ (License to Operate) หรือการได้รับโอกาสในการเข้าถึงตลาด (Access to Markets) ล้วนเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือกรอบของกฎหมาย แต่เป็นความสัมพันธ์ที่ถูกสานขึ้นระหว่างธุรกิจกับสังคม ซึ่งธุรกิจจำต้องรักษาให้คงอยู่ ในฐานะผู้ที่ได้รับสิทธิ์ในการใช้ทรัพยากรและมีส่วนในการสร้างผลกระทบต่อสังคมนั้นไม่มากก็น้อย

ความริเริ่มหนึ่งในการตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนและการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ คือ การเปิดเผยวิธีการดำเนินงาน การกำกับดูแล แนวการบริหารจัดการ และผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ในรูปของการรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) ซึ่งองค์กรธุรกิจทั่วโลกได้ใช้แนวทางการรายงานความยั่งยืน ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) เป็นกรอบในการจัดทำรายงาน โดยปัจจุบัน มีรายงานความยั่งยืนที่จัดทำและเผยแพร่โดยองค์กรธุรกิจแล้วกว่า 5,000 แห่งทั่วโลก มีรายงานนับเป็นหมื่นฉบับที่ได้จัดทำตามกรอบของ GRI

เป็นที่คาดการณ์กันว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ รายงานความยั่งยืนจะทวีจำนวนขึ้นอย่างก้าวกระโดด จนกลายเป็นเรื่องปกติที่องค์กรจะดำเนินการจัดทำ เนื่องจากภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแลในหลายประเทศ ได้มีการประกาศเป็นกฎหมายและข้อบังคับให้องค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และบริษัทมหาชน ต้องเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม หรือจัดทำรายงานที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมในลักษณะดังกล่าว เผยแพร่ต่อสาธารณะ

ด้วยปัจจัยดังกล่าวนี้ ทำให้สถาบันอุดมศึกษาในหลายประเทศ ได้มีการเตรียมความพร้อมในการผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ รวมทั้งทักษะในการเขียนและจัดทำรายงานความยั่งยืน พัฒนาเป็นวิชาชีพ

ในอีกด้านหนึ่ง สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งในจำนวนนั้น ได้มีความตื่นตัวที่จะริเริ่มจัดทำรายงานความยั่งยืนของสถาบัน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนเองด้วย โดยใช้การจัดทำรายงานความยั่งยืนเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน ขณะที่ บางสถาบัน ก็เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ใช้ตัวสถาบันและข้อมูลการดำเนินงานของสถาบัน เป็นสนามฝึกหัดในการเขียนรายงานความยั่งยืนเพิ่มเติม

จากการสำรวจข้อมูลมหาวิทยาลัยที่ได้จัดทำรายงานความยั่งยืน เผยแพร่ผ่านฐานข้อมูลของ GRI พบว่า มีอยู่จำนวน 56 แห่ง โดยมาจากทวีปยุโรป 28 แห่ง จากทวีปอเมริกาเหนือ 12 แห่ง จากลาตินอเมริกา 7 แห่ง จากทวีปเอเชีย 5 แห่ง และจากทวีปออสเตรเลีย 4 แห่ง (ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2556)

ตัวอย่างของสถาบันอุดมศึกษาที่ได้มีการจัดทำและเผยแพร่รายงานความยั่งยืนของสถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (สหรัฐอเมริกา) วิทยาลัย-มหาวิทยาลัยบรัสเซลส์ (เบลเยียม) มหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก (สวีเดน) มหาวิทยาลัยลาโทรบ (ออสเตรเลีย) มหาวิทยาลัยฮ่องกง (เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน) และมหาวิทยาลัยแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ฟิลิปปินส์) เป็นต้น

กรณีของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด รายงานความยั่งยืนฉบับแรก จัดทำขึ้นโดยสถาบันแพทยศาสตร์แห่งฮาร์วาร์ด เมื่อปี พ.ศ.2549 ซึ่งเป็นรายงานระดับสถาบัน (School-Specific Report) จากนั้นก็เป็นรายงานระดับคณะ (Department-Specific Report) ซึ่งจัดทำโดยคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ในปี พ.ศ.2551และเพิ่งจะยกระดับเป็นรายงานระดับมหาวิทยาลัย (University-Wide Report) ในปี พ.ศ.2555 ที่ผ่านมา

เชื่อแน่ว่า นักศึกษาที่มีส่วนร่วมในการจัดทำรายงานความยั่งยืนของมหาวิทยาลัย หรือมีโอกาสฝึกการเขียนรายงานความยั่งยืนให้แก่มหาวิทยาลัยในช่วงเวลาที่ศึกษาอยู่ เมื่อสำเร็จการศึกษาออกมาแล้ว จะมีบริษัทจองตัวกันเป็นทิวแถว


[Original Link]