Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

รายงาน CSR ตามแบบ 56-1

วรณัฐ เพียรธรรม

แบบ 56-1 คือ แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ได้กำหนดให้บริษัทไทยที่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือเรียกสั้นๆ ว่า บริษัทจดทะเบียน (Listed Company) ซึ่งขณะนี้ มีอยู่จำนวน 634 บริษัท ทำการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน ภายใน 3 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี

ในปีนี้ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการรายงานการเปิดเผยข้อมูลตามแบบ 56-1 ได้มีการปรับปรุงใหม่ โดยกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลในหัวข้อความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR เพิ่มเติม ซึ่งจะมีผลใช้บังคับกับแบบ 56-1 ที่ต้องส่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 เป็นต้นไป

หมายความว่า ในบรรดาบริษัทจดทะเบียนทั้ง 634 แห่ง ที่มีรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดในเดือนธันวาคม จะต้องทำการรายงานข้อมูล CSR ในแบบ 56-1 ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคม 2557 นี้ โดยสาระสำคัญของข้อมูล CSR ที่เปิดเผยในแบบ 56-1 ประกอบด้วยข้อมูลใน 4 ส่วน ได้แก่

(1)นโยบายภาพรวม รวมถึงวิสัยทัศน์ ภารกิจ และกลยุทธ์ที่นำไปสู่ความยั่งยืน
(2)ข้อมูลการดำเนินงาน ประกอบด้วย กระบวนการจัดทำรายงาน มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลที่ใช้ และการดำเนินงานซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่บริษัทได้เปิดเผยไว้
(3)การดำเนินธุรกิจที่มีผลกระทบต่อความรับผิดชอบต่อสังคม (ถ้ามี) ในกรณีที่บริษัทหรือบริษัทย่อย ถูกตรวจสอบ ถูกกล่าวหา หรือถูกฟ้องร้องในเรื่องเกี่ยวกับหลักการ 8 ข้อ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจ ชื่อเสียง หรือความน่าเชื่อถือของบริษัทหรือบริษัทย่อยอย่างมีนัยสำคัญ
(4)กิจกรรมเพื่อประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR-after-process) ตามที่ประสงค์จะเปิดเผย

การเปิดเผยข้อมูลทั้ง 4 ส่วนข้างต้น บริษัทควรเปิดเผยนโยบายและการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อย ที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืนของกิจการและสังคมโดยรวม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจปกติ (CSR-in-process) ตั้งแต่การกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมาย กลยุทธ์ การประเมินความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ และสะท้อนอยู่ในการดำเนินงาน เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ การจัดหาวัตถุดิบ การออกแบบกระบวนการผลิต การปฏิบัติต่อพนักงานลูกจ้าง การแข่งขัน การปฏิบัติต่อลูกค้า ฯลฯ โดยอย่างน้อย ควรมีการดูแลติดตามให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และให้เปิดเผยข้อเท็จจริงกรณีที่บริษัทหรือบริษัทย่อยมีการดำเนินธุรกิจที่มีผลกระทบต่อความรับผิดชอบต่อสังคมในช่วงปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งอธิบายเหตุผล ผลกระทบต่อบริษัทหรือบริษัทย่อย การแก้ไข และแนวทางการตรวจสอบป้องกันในอนาคตไว้ด้วย

ส่วนกรณีที่บริษัทมีการบริจาคช่วยเหลือสังคมในรูปแบบต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจปกติ (CSR-after-process) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม บริษัทอาจเปิดเผยกรณีดังกล่าวไว้ด้วยก็ได้ โดยให้แยกจากเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมที่เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจปกติของบริษัทหรือบริษัทย่อย

สำหรับรูปแบบในการเปิดเผยข้อมูล บริษัทอาจเปิดเผยหรือจัดทำรายงานโดยมีสาระสำคัญตามที่กำหนดข้างต้น ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(ก)เปิดเผยข้อมูลภายใต้หัวข้อความรับผิดชอบต่อสังคมในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) หรือรายงานประจำปี (แบบ 56-2) ตามแต่กรณี
(ข)อ้างอิงไปยังรายงานที่จัดทำแยกเล่มที่เปิดเผยในเว็บไซต์ของบริษัท
(ค)เปิดเผยสาระสำคัญโดยรวมอยู่กับข้อมูลการดำเนินงานอื่น ๆ ของบริษัท โดยอธิบายกระบวนการจัดทำรายงานไว้ในหัวข้อความรับผิดชอบต่อสังคม

บริษัทจดทะเบียนที่ยังมิได้ศึกษาประกาศหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการรายงานการเปิดเผยข้อมูลตามมาตรา 56 และการจัดทำแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) ที่ปรับปรุงใหม่ Checklist สำหรับสอบทานการเปิดเผยข้อมูล CSR ในแบบ 56-1 รวมทั้งข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://bit.ly/Form56-1


[ประชาชาติธุรกิจ]