Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ชี้นักลงทุนสถาบันระดับโลกตระหนัก ESG


ส่งสัญญาณให้บริษัทจดทะเบียนไทย เตรียมรับมือ SRI
2 งานประชุมระดับโลก ที่สถาบันไทยพัฒน์เข้าร่วมเมื่อเดือนที่ผ่านมา บอกชัดว่านักลงทุนสถาบันใส่ใจ 3 ปัจจัยหลัก (Environmental, Social, Governance : ESG)
เผย ICGN ประกาศหลักการฉบับใหม่ ICGN Global Governance Principles ได้สะท้อนบทบาทการกำกับดูแลที่ไม่จำกัดเพียงความรับผิดชอบของบริษัท แต่มุ่งครอบคลุมถึงความรับผิดชอบในส่วนของผู้ลงทุน

จากนี้ไป ผู้ประกอบการธุรกิจที่เป็นบริษัทจดทะเบียนไทยจะต้องตระหนักปัจจัยหลัก 3 เรื่องสำคัญด้วย คือ ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีธรรมาภิบาล หรือการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social, Governance-ESG) เมื่อนักลงทุนสถาบันที่เป็นรายใหญ่ๆ เริ่มส่งสัญญาณในเรื่อง Sustainable and Responsible Investment หรือคำย่อว่า SRI ซึ่งเป็นมุมมองของนักลงทุนสถาบันที่เป็นรายใหญ่ๆ ระดับโลก ใช้เป็นเกณฑ์การพิจารณาคัดสรรบริษัทลงทุน

เมื่อเดือนที่แล้ว ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ได้เดินทางร่วมประชุมประจำปีของ International Corporate Governance Network (ICGN) ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในหัวเรื่องที่เกี่ยวกับ “Expectations of investors and companies in the face of 21st century challenges” และจากการประชุมของ The Forum for Sustainable and Responsible Investment ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ภายใต้ปัจจัยหลัก 3 เรื่องดังกล่าวตามเกณฑ์การลงทุนในกรอบของ SRI ปัจจุบัน ยังแยกย่อยออกไปตามความสนใจของกลุ่มผู้ลงทุน ซึ่งมีความแตกต่างกันจากเงื่อนไขในการลงทุนทั้งในแง่ของระยะเวลาการลงทุน อุตสาหกรรมที่เข้าลงทุน ประเทศที่กิจการนั้นตั้งอยู่ เป็นต้น

ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า SRI ไม่ใช่คำใหม่ในแวดวงของผู้ลงทุน แต่เป็นคำที่ใช้อธิบายถึงรูปแบบของการลงทุนที่นอกเหนือจากการหวังผลตอบแทนการลงทุนจากหน่วยลงทุน หรือกิจการที่เข้าลงทุนต้องมีผลประกอบการที่ดี แต่ยังคำนึงลักษณะการดำเนินงานของกิจการที่เข้าลงทุนในส่วนของผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่สังคมและสิ่งแวดล้อม

“ขยายความให้เข้าใจง่ายๆ SRI นั้นเป็นมุมมองของกลุ่มนักลงทุนไปยังบริษัทจดทะเบียนโดยนำเอาปัจจัยกระทบ ESG มาร่วมพิจารณาด้วยซึ่งถือว่าเป็นอีกตราชั่งที่ใช้จับวัดเปรียบเทียบ และตัดสินใจเลือกบริษัทลงทุนนั่นเอง”

ตัวอย่างเช่น US SIF รายงานว่า ปัจจุบันเม็ดเงินลงทุน SRI ในสหรัฐอเมริกา มีจำนวนราว 3.74 ล้านล้านเหรียญ หรือคิดเป็นร้อยละ 11.3 ของเม็ดเงินลงทุนทั้งหมดซึ่งมีอยู่ประมาณ 33.3 ล้านล้านเหรียญ หรือเทียบได้ว่า ในทุกๆ 9 เหรียญของเงินลงทุน จะมี 1 เหรียญที่ลงทุนในแบบ SRI

เผย ICGN สะท้อนบริษัทจดทะเบียนให้ตระหนัก SRI
ดร.พิพัฒน์ กล่าวถึงในสมัยการประชุมล่าสุดนี้ ICGN ได้มีการประกาศหลักการฉบับใหม่ที่ชื่อว่า ICGN Global Governance Principles ซึ่งปรับปรุงจากหลักการฉบับปี ค.ศ.2009 โดยปรับชื่อจากเดิม คือ “Global Corporate Governance Principles” เป็น “Global Governance Principles” เพื่อให้สะท้อนบทบาทการกำกับดูแลที่ไม่จำกัดเพียงความรับผิดชอบของบริษัท แต่มุ่งครอบคลุมถึงความรับผิดชอบในส่วนของผู้ลงทุน (โดยเฉพาะผู้ลงทุนประเภทสถาบัน) ไว้ในหลักการฉบับเดียวกัน


หลักการฉบับใหม่นี้ ให้ความสำคัญกับเจตจำนงของบริษัทต่อการสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนในระยะยาว โดยในส่วนของบริษัทได้แนะนำให้คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ติดตามงานกำกับดูแลที่รวมถึงการดำเนินกิจการที่มีส่วนเกี่ยวพันกับปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เกิดประสิทธิผล คำนึงถึงการดูแลความเสี่ยงองค์กรที่ครอบคลุมถึงความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากความเสี่ยงทางการเงิน ความเสี่ยงทางกลยุทธ์ และความเสี่ยงจากการดำเนินงาน

ซึ่งในส่วนของผู้ลงทุน ได้เพิ่มเติมหลักการที่แนะนำให้ผู้ลงทุนประเภทสถาบันติดตามการดำเนินกิจการที่มีส่วนเกี่ยวพันกับปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพิ่มการสานสัมพันธ์ในเชิงรุกเพื่อขยายความเข้าใจและเห็นพ้องร่วมกันในจุดยืนที่มีต่อกลยุทธ์องค์กร ตัวเลขผลประกอบการ ความเสี่ยงต่อผลประกอบการในระยะยาว การกำกับดูแลกิจการ การดำเนินงาน และแนวดำเนินการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (ดูหลักการฉบับใหม่ได้จากเว็บไซต์ www.icgn.org)

สำหรับ ICGN ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1995 ปัจจุบันประกอบด้วยสมาชิกที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ลงทุนประเภทสถาบันและนักวิชาชีพด้านบรรษัทภิบาลจากกว่า 50 ประเทศ ดูแลเม็ดเงินลงทุนรวมกันกว่า 18 ล้านล้านเหรียญกระจายอยู่ทั่วโลก

กิจกรรมหลักของ ICGN ประกอบด้วย กิจกรรมการผลักดันนโยบายด้านบรรษัทภิบาลผ่านทางการจัดทำหลักการ แนวปฏิบัติ และกรอบการดำเนินงานที่เกี่ยวกับบรรษัทภิบาลในด้านต่างๆ อาทิ ค่าตอบแทนกรรมการ/ผู้บริหาร ความเสี่ยงองค์กร การต่อต้านการทุจริต การเปิดเผยข้อมูลทางการเงินและที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน ฯลฯ กิจกรรมการเชื่อมร้อยผู้ปฏิบัติงานในวิชาชีพที่เกี่ยวกับบรรษัทภิบาล และกิจกรรมการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านบรรษัทภิบาลผ่านทางการประชุม สัมมนา ฝึกอบรม ฯลฯ

ดร.พิพัฒน์ กล่าวถึงเกณฑ์การพิจารณาเลือกบริษัทลงทุนของผู้ลงทุน ว่าในยุคแรกคำนึงถึงการไม่เข้าลงทุนในกิจการที่ตัวสินค้าและบริการก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมหรือขัดกับหลักศีลธรรมจรรยา (Negative Screening) เช่น กิจการที่เป็นอบายมุขต่างๆ การค้าอาวุธ ยาพิษ การค้ามนุษย์ การค้าสัตว์เพื่อฆ่า ฯลฯ

ซึ่งต่อมาได้มีการใช้เกณฑ์คัดเลือกกิจการที่ตัวสินค้าและบริการสร้างให้เกิดผลดีต่อสังคมหรือส่งเสริมหลักศีลธรรมจรรยา (Positive Screening) เช่น กิจการที่มีธรรมาภิบาลที่ดี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กิจการพลังงานทดแทน เกษตรอินทรีย์ ฯลฯ

บริษัทใดไม่มี CSR ในกระบวนธุรกิจให้รีบตระหนัก
ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่ามีคนถามมาก ว่าต่อจากนี้ไป องค์กรจะต้องใช้คำว่า ESG แทนคำว่า CSR แล้วหรือ อยากขยายความให้ชัดเจนดังนี้

“คำว่า ESG เป็นภาษาที่กลุ่มผู้ลงทุนใช้ เวลาที่ต้องการเลือกกิจการที่จะเข้าไปลงทุนว่ามีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถลงทุนได้หรือไม่ ESG จึงเป็นคำที่ใช้สื่อระหว่างผู้ลงทุนกับบริษัท ส่วนคำว่า CSR เป็นภาษาที่กิจการใช้แสดงถึงการที่บริษัทมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (รวมถึงการกำกับดูแลกิจการทที่ดี) ผ่านทางกระบวนการดำเนินงานต่างๆ ของบริษัท CSR จึงเป็นคำที่ใช้สื่อระหว่างบริษัทกับผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งครอบคลุมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่เฉพาะผู้ลงทุน”

ถ้าบริษัทใด ทำ CSR อยู่แล้ว ผู้ลงทุนใช้เกณฑ์ SRI ก็ย่อมเข้าเกณฑ์หมด ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นว่า SRI ไม่ได้เป็นภาระ บริษัทใดมี CSR ย่อมเข้าตาผู้ลงทุนอยู่แล้ว ข้อสำคัญ CSR จะต้องอยู่ในกระบวนการธุรกิจ (CSR-in-process) ไม่ใช่การทำบุญผ้าป่า ทอดกฐิน หรือการบริจาคสร้างวัด ช่วยเหลือเด็ก ซึ่งล้วนเป็นเรื่องดีที่มีใจบุญ แต่หากภายในกระบวนในโรงงานกลับยังสร้างมลพิษ ทำร้ายธรรมชาติ แม้จะใช้เงินหลายสิบหลายร้อยล้านทำบุญ ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ผลกระทบต่อสังคมในระยะยาว

เผยช่วงงานประชุมที่น่าสนใจ
จากงานประชุมประจำปีของ ICGN ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ ดร.พิพัฒน์ เข้าร่วม หนึ่งในช่วงที่น่าสนใจ คือ คณะผู้อภิปรายระดับเจ้าสำนักขององค์กรที่เป็นผู้จัดทำหลักการเปิดเผยข้อมูล หรือกรอบการรายงานชั้นนำอย่าง Global Reporting Initiative (GRI), International Integrated Reporting Council (IIRC), International Accounting Standards Board (IASB) และศาสตราจารย์ผู้เขียนตำราเรื่อง One Report จาก Harvard Business School ได้มานำเสนอพัฒนาการของรายงานและการเปิดเผยข้อมูลล่าสุด และยังเป็นโอกาสที่มีการเปิดตัว Corporate Reporting Dialogue (CRD) ในการประชุมนี้ เพื่อแสวงหาความเชื่อมโยงระหว่างมาตรฐานและกรอบการรายงานที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เกิดความสอดคล้องต้องกัน ลดภาระยุ่งยากที่อาจเกิดแก่องค์กรที่จัดทำรายงานต่อการใช้และอ้างอิงมาตรฐานและกรอบการรายงานหลายฉบับ


กิจกรรมหลังการประชุม ยังมีการอบรมให้แก่ผู้ที่สนใจในหลักสูตร Integrating environmental, social and governance factors in investment decisions ที่พัฒนาขึ้นสำหรับผู้ลงทุนที่เป็นสมาชิกของ ICGN เพื่อช่วยให้ผู้เข้าอบรมเรียนรู้วิธีในการระบุ วิเคราะห์ และผนวกข้อมูล ESG ในกระบวนการตัดสินใจลงทุน โดยวิทยากรจาก CalPERS, apg Asset Management, ROBECO เป็นต้น ซึ่งเป็นมุมมองของผู้ลงทุนที่มีทั้งความเหมือนและความต่างจากมุมมองขององค์กรในการคำนึงถึงปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

ส่วนอีกงานประชุม ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดโดย US SIF สมาคมที่ประกอบด้วยผู้ลงทุนสถาบัน องค์กรธุรกิจ และนักวิชาชีพราว 400 ราย ดูแลเม็ดเงินลงทุนรวมกันกว่า 1 ล้านล้านเหรียญ

ดร.พิพัฒน์ เล่าว่าจุดมุ่งหมายร่วมกันของบรรดาสมาชิกที่สังกัดหน่วยงานสกุล SIF เหล่านี้ คือ การส่งเสริมบทบาทการลงทุนที่ใช้เกณฑ์ ESG (Environmental, Social และ Governance) ในการสร้างผลตอบแทนทางการเงินที่น่าพอใจในระยะยาว พร้อมๆ กับการสร้างผลกระทบทางสังคมในเชิงบวก

การประชุมในช่วงแรก มีการเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมอบรมในหลักสูตรที่ชื่อว่า Fundamental of Sustainable and Responsible Investment โดยวิทยากรจาก Morgan Stanley, Trillium Asset Management, Mercer, Calvert Investments, Goodfunds Wealth Management โดยหลักสูตรนี้สามารถสะสมหน่วยกิตเพื่อทำคุณวุฒิด้านวิชาชีพ CFP, CFA, IMCA ได้ด้วย


ในช่วงเปิดงานเป็นการประชุมรวม (Plenary Session) มีเบอร์หนึ่งของ US SIF (อเมริกา), ASriA (เอเชีย) และบอร์ดของ Eurosif (ยุโรป) มาอัปเดตแนวโน้มเรื่อง Sustainable Investment ในแต่ละมุมโลก โดยผู้ดำเนินรายการซึ่งก็เป็นเบอร์หนึ่งจาก Sustainalytics บริษัทแถวหน้าด้านการวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลด้านความยั่งยืนให้กับนักลงทุนทั่วโลก ได้เชื้อเชิญให้ผู้แทนหน่วยงานสกุล SIF จากแคนาดา ออสเตรเลีย แอฟริกา ฯลฯ ร่วมแลกเปลี่ยนความเคลื่อนไหวในถิ่นของตนด้วย (มีสรุปรายงานแนวโน้ม SRI ในอเมริกาที่ US SIF จัดทำทุกๆ 2 ปี โดยปีล่าสุด ค.ศ.2012 สามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.ussif.org)

ทั้งนี้ US SIF (ย่อจากชื่อเดิม คือ Social Investment Forum) ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 เพิ่งมาเปลี่ยนเป็นชื่อ The Forum for Sustainable and Responsible Investment ได้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ถือเป็นฮับการลงทุนในประเทศสหรัฐอเมริกาที่เน้นความยั่งยืน มีความรับผิดชอบ และมุ่งผลกระทบ ที่รวมกลุ่มกันค่อนข้างประสบผลสำเร็จ จนมีการตั้งหน่วยงานสกุล SIF ในประเทศต่างๆ ตามมามากมาย ได้แก่ UKSIF (สหราชอาณาจักร), Eurosif (ยุโรป), ASrIA (เอเชีย), AfricaSIF (แอฟริกา), VBDO (เนเธอร์แลนด์), SIO (แคนาดา), SWESIF (สวีเดน), RIAA (ออสเตรเลีย), FIR (ฝรั่งเศส), FNG (เยอรมนี ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์), SIF-Japan (ญี่ปุ่น), SpainSIF (สเปน), Forum per la Finanza Sostenibile (อิตาลี), KoSIF (เกาหลี), DanSIF (เดนมาร์ก)

ในการประชุมช่วงหนึ่ง ทางผู้จัดได้เชิญวิทยากรชื่อ Jed Emerson ซึ่งเป็นผู้แต่งหนังสือชื่อ Impact Investing ไว้เมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้ว มาร่วมพูดคุยในเรื่องนี้ด้วย

Emerson เป็นผู้บัญญัติศัพท์คำว่า Blended Value ไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 เพื่ออธิบายถึงการทำให้ได้มาซึ่งคุณค่าที่แยกจากกันไม่ได้ระหว่างเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (คล้ายคลึงกับแนวคิด Triple Bottom Line)

ปัจจุบัน Emerson เป็นที่ปรึกษาอาวุโสด้านการลงทุนที่ยั่งยืนและมุ่งผลกระทบให้แก่กิจการใน 4 ครอบครัวด้วยสินทรัพย์รวมกันกว่า 1.4 พันล้านเหรียญ และยังรั้งตำแหน่ง Chief Impact Strategist ในองค์กรชื่อ ImpactAssets เพื่อบุกเบิกการลงทุนในแบบ Impact Investing ตามที่เขาถนัด

นอกจากนี้ ยังมีวิทยากรสำคัญอีกท่านหนึ่งที่ ดร.พิพัฒน์ มีโอกาสพบในการประชุมครั้งนี้ คือ William B. Rosenzweig ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการร่วมและช่วยก่อตั้ง TED conference, Net Impact, Business for Social Responsibility, Global Social Venture Competition (GSVC) เป็นต้น Rosenzweig เป็นผู้มีพลังสร้างสรรค์และสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรอบข้างได้อย่างมากมาย


[Original Link]