Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ต้นแบบแห่งวิถี ‘CSV’ กสิกรไทย-พฤกษา-บางจาก


“ผมคิดว่าการแยกเรื่องทำดีให้กับสังคมออกไปจากธุรกิจ อาจทำให้เกิดปัญหาจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพประสิทธิผล เพราะอย่าลืมว่าจุดกำเนิดของธุรกิจ คือความต้องการความเติบโตและมั่งคั่ง ดังนั้นถ้าเราจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ไปช่วยสังคมโดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเลย จะนำไปสู่ความยั่งยืนในระยะยาวได้อย่างไร”

คือคำพูดบางช่วงบางตอนของ “ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ” ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ภายในงานสัมมนา “Shared Value Opportunities in Thailand” ที่จัดร่วมกันระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์


ซึ่งน่าจะเป็นข้อสรุปได้ว่าทำไมต้อง CSV?

ในเมื่อธุรกิจไม่อาจหลีกเลี่ยงการทำความดี การคืนกลับสู่สังคม ซึ่งนับวันเสียงเรียกร้องก็ยิ่งดังขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแรงคน หรือแรงเงิน ฯลฯ ที่มีอยู่

และความเป็นจริงก็คือ องค์กรธุรกิจเองมองเห็นและมีความพยายามแก้โจทย์ดังกล่าวอยู่ตลอดมา ขณะที่มีบางรายก็ประสบความสำเร็จบนเส้นทาง CSV แล้วอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว

ดังเช่นกรณีของ บมจ. พฤกษา เรียลเอสเตท, บมจ. บางจาก ปิโตรเลียม และ บมจ. ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งในงานสัมมนามีผู้นำเบอร์หนึ่งของทั้ง 3 องค์กร ได้แก่ ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์, วิเชียร อุษณาโชติ และ ธีรนันท์ ศรีหงส์ มาร่วมกันแชร์ถึงไอเดียคิด รวมถึงกระบวนการที่ได้ทำไป

อย่างไรก็ตาม ก่อนการอธิบายโดยไม่ได้นัดหมายทั้งสามท่านต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า CSV คืออะไร ไม่เคยรู้จักมาก่อนแม้แต่น้อย

แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น สุดท้ายแล้วกลับกลายเป็น CSV ตามหลักการของไมเคิล อี พอร์เตอร์ และมาร์ค เครเมอร์ ชนิดไม่มีผิดเพี้ยนแต่ประการใด

โดยภายในงาน ดร.พิพัฒน์ นิยามคำว่า CSV ว่าเป็นการขับเคลื่อนสังคมที่ไม่ต้องคิดแยกไปจากธุรกิจ คืออยู่บนมิติของความพยายามนำรูปแบบธุรกิจมาแก้ไขปัญหาสังคม อยู่บนฐานคิดของธุรกิจ ไม่ได้มาจากรากคิดในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม หรือศีลธรรม เหมือนกับ CSR

ทั้งนี้ผู้เป็นต้นตำรับ ไมเคิล อี พอร์เตอร์ และมาร์ค เครเมอร์ ได้วางระดับการทำ CSV ไว้ 3 ระดับด้วยกัน นั่นคือ

ระดับแรก การคิดค้นผลิตภัณฑ์ เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่าง คือ ธนาคารกสิกรไทย ด้วยโปรแกรมสินเชื่อรับประกันการประหยัดพลังงานกสิกรไทย ให้แก่ผู้ประกอบการในรูปแบบสินเชื่อลีสซิ่ง / เช่าซื้อเครื่องจักร และอุปกรณ์ และ/หรือ เงินกู้ระยะยาว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงการจัดการด้านพลังงานให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องผ่านการใช้บริการจากบริษัทจัดการด้านพลังงาน (Energy Service Company - ESCO) บริษัทที่ปรึกษาและบริหารจัดการด้านพลังงานอย่างครบวงจร และมีการรับประกันผลการประหยัดพลังงานที่ได้จาการลงทุนในโครงการดังกล่าว ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการมั่นใจได้ว่า ผลการประหยัดพลังงานที่ได้จากการลงทุนในโครงการ จะเป็นแหล่งที่มาหลักของการชำระคืนเงินกู้

ระดับที่สอง การยกระดับพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพ ผลิตภาพ สร้างคุณค่าตลอดทั้งซัพพลายเชนธุรกิจ

ตัวอย่าง คือ พฤกษาเรียลเอสเตท ที่พัฒนาเทคโนโลยีการก่อสร้างบ้านระบบ Real Estate Manufacturing (REM) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและมุ่งเน้นคุณภาพ ซึ่งช่วยลดเวลาการก่อสร้างจาก 3 เดือน เหลือเพียง 1 เดือนเท่านั้น

ระดับที่สาม การมองในเรื่องของคลัสเตอร์ คือไม่เพียงผู้มีส่วนได้เสียในธุรกิจเท่านั้น แต่มองนอกเหนือไปจากขอบเขตของธุรกิจ เช่น ชุมชน องค์กรภาครัฐ ฯลฯ ที่ไม่เกี่ยวข้อง โดยหาทางไปช่วยสนับสนุน หาทางให้มาเชื่อมโยงและเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันกับธุรกิจ

ตัวอย่างคือ บางจาก ปิโตรเลียม ที่ไปจับมือกับสหกรณ์ องค์กรชุมชน กรมส่งเสริมสหกรณ์ วัตถุประสงค์ก็เพื่อทำให้เกษตรกรในชนบทมีโอกาสเป็นเจ้าของปั๊มน้ำมัน ได้เรียนรู้ทักษะการค้าขาย เสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็งและการกระจายรายได้แก่เกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม

“เป็นการจัดหมวดหมู่การทำ CSV ให้องค์กรธุรกิจอื่นๆ มองเห็น และสามารถนำไปริเริ่ม ออกแบบพัฒนาคุณค่าได้ตามระดับดังกล่าว หรืออาจไปค้นหาสิ่งที่องค์กรทำอยู่เดิมแล้วว่า มีโครงการใดที่เข้าข่าย”

แน่นอนว่าเป็นไปตามหลักการ No one-size-fits-all เพราะดร.พิพัฒน์ บอกว่า กรณีความสำเร็จของทั้ง 3 องค์กรที่ได้แชร์บนเวทีสัมมนา คงจะไม่สามารถนำไปใช้ได้เลยทันที ก็เพราะโอกาส อุปสรรค ประเด็นปัญหา ของแต่ละองค์กรธุรกิจนั้นไม่เหมือนกัน

จำเป็นต้องเลือกนำไปใช้โดยพิจารณาดูว่าเข้ากับธีมองค์กร ทั้งในเรื่องของคน ทรัพยากร แรงงาน สิ่งแวดล้อม ฯลฯ หรือไม่อย่างไร

“องค์กรธุรกิจจะทำระดับไหนก็ได้ แต่มองว่าองค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องการตอบแทนคืนกลับสังคมมาระยะหนึ่ง จนนิ่ง และอยู่รอด เติบโตยั่งยืน มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ในวันนี้อาจทำ CSV จนครบทั้งสามระดับแล้ว ซึ่งระดับที่สาม ถือว่าเป็นการมองในระยะยาวมากที่สุด”

นอกจากนี้สถาบันไทยพัฒน์ฯ ยังได้จับมือกับบริษัท อิมเมจ พลัส คอมมิวนิเคชั่น ก่อตั้งบริษัท บริษัท เอ็กซ์เพิร์ท แอสเปค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ EAI นำเครื่องมือ SVOI (Shared Value Opportunity Identification) ซึ่งจะช่วยเหลือองค์กรธุรกิจในด้านการค้นหา คัดกรองประเด็นที่มีศักยภาพต่อการสร้างคุณค่าร่วม แล้วนำมาพัฒนาเป็นความริเริ่ม CSV ที่เหมาะสม และสอดคล้องกับแง่มุมความเชี่ยวชาญขององค์กรธุรกิจ อีกทั้งสามารถระบุผลลัพธ์ทางธุรกิจและทางสังคมที่คาดว่าจะได้รับอย่างเป็นรูปธรรม

“ที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่บางบริษัท มาบอกกับผมว่ารู้สึกท้อแท้ เพราะต้องออกไปทำกิจกรรมสังคมเยอะมากๆ คือเยอะจริง เหนื่อยจริง หนักจริง แต่เอาเข้าจริงก็ยังตอบคำถามลึกๆ ไม่ได้ว่าธุรกิจและสังคมจะยั่งยืนจากกิจกรรมที่จัดไปเหล่านี้ได้อย่างไร” ดร.พิพัฒน์ กล่าวถึงประสบการณ์ในฐานะที่ปรึกษา

ทว่า เขามองว่าเครื่องมือ SVOI จะเป็นเพียงกรอบเพื่อให้องค์กรธุรกิจเอาไปอ้างอิงหรือคิดหาหนทาง มันจะเป็นเครื่องมือที่ชี้ถึงโอกาสในเบื้องต้นเท่านั้น แต่ยังไม่ถึงขั้นของการพัฒนากลยุทธ์ CSV ได้

“แต่สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ผมยึดถือและเชื่อมั่นตลอดมาในเรื่องของการขับเคลื่อน CSR ทั้งในกระบวนการและภายหลังกระบวนการ หรือกระทั่ง CSV ก็คือ ไม่ว่าจะอย่างไร สุดท้ายต้องฟังเสียงความต้องการที่แท้จริงของผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ถือว่าเป็น Asset ที่มีค่ามาก”

ปัจจัยสำเร็จของการทำดี ไม่ได้เป็นการที่องค์กรธุรกิจจะคิดเอง เออเอง ว่าใช่ ว่าดี ว่าเหมาะสม แล้วลงมือทำโดยไม่ฟังเสียงใคร ต้องอย่าลืมว่าความต้องการที่มีอยู่ในใจของคน หากไม่ไปถาม หรือไม่สนใจฟัง ก็จะไม่มีวันล่วงรู้ และสุดท้ายก็ผิดพลาด


[กรุงเทพธุรกิจ]