Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

Anti-corruption in Practice

สุธิชา เจริญงาม

การทุจริตกลายเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติ ที่ทุกภาคส่วนในสังคมต่างรับรู้ และเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพราะการทุจริตได้สร้างผลเสียหายให้กับประเทศอย่างใหญ่หลวง ทั้งความสูญเสียในระบบเศรษฐกิจ ความเสียหายทางสังคม ทั้งในเชิงกายภาพที่กระทบกับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่จากโครงสร้างพื้นฐาน หรือสาธารณูปโภค หรือบริการที่ไม่ได้รับอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และไม่ทั่วถึง และในเชิงนามธรรมที่กระทบกับค่านิยม และทัศนคติของคนในสังคม โดยเฉพาะกับคนรุ่นหลังที่เป็นอนาคตของชาติ ที่จากผลการสำรวจในระยะหลังเห็นว่าการทุจริตเป็นเรื่องปกติ และรับได้หากได้ประโยชน์ด้วย รวมกระทั่งถึงความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการทุจริตในโครงการที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า เป็นต้น


ธุรกิจเอกชน เป็นภาคส่วนหนึ่งในสังคม ที่ถูกครหาว่ามีส่วนผลักดันให้เกิดการทุจริต ในฐานะที่เป็นผู้ให้ หรือผู้เสนอผลประโยชน์ หรือสิ่งตอบแทนในทางที่มิชอบ เพื่อแลกกับประโยชน์ในทางธุรกิจที่องค์กรจะได้รับอย่างไม่เป็นธรรมกับองค์กรอื่น ๆ ที่ดำเนินการโดยสุจริต จึงทำให้ธุรกิจที่ต้องการแสวงหาประโยชน์รายอื่น ๆ จำต้องให้ข้อเสนอที่เทียบเคียงเพื่อให้ได้รับโอกาสอย่างเดียวกัน หรือต้องเพิ่มข้อเสนอแข่งเพื่อกีดกันโอกาสรายเดิม จนในท้ายที่สุด พัฒนากลายเป็นต้นทุนการดำเนินงานแฝงที่สูงขึ้น ๆ และส่งผลกระทบกับทั้งอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มูลค่าการทุจริตที่เกิดระหว่างองค์กรธุรกิจในภาคเอกชนด้วยกันเอง อาจสูงกว่ายอดทุจริตที่ให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐหลายเท่าตัว มีความยากต่อการเก็บตัวเลข เนื่องจากเป็นธุรกรรมที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาษีอากรของประชาชนโดยตรง จึงไม่ได้รับการตรวจสอบเช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานของรัฐ ทำให้ไม่มีใครทราบสถานะที่เป็นจริง ยิ่งตัวเลขดังกล่าวสูงเท่าใด ต้นทุนการทุจริตที่ถูกผลักเป็นภาระแฝงในค่าสินค้าและบริการก็สูงขึ้นในจำนวนที่เท่ากัน ทั้งเจ้าของกิจการ ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร และพนักงานในภาคเอกชน ซึ่งต่างเป็นผู้บริโภคในระบบ ก็ต้องรับภาระต้นทุนที่เกิดจากการทุจริตกันอย่างถ้วนหน้า

เห็นได้ว่าการทุจริต มีผลกระทบกับทุกคนในสังคมที่อยู่กันทางโลก ยังไม่นับรวมวิบาก หรือผลแห่งการกระทำที่จะเกิดแก่ผู้กระทำและผู้เกี่ยวข้องที่ต้องได้รับผลกรรมในทางธรรม ทั้งกับตนเอง กับครอบครัว และกับบุคคลอันเป็นที่รัก ทั้งในชาติปัจจุบันและในชาติต่อ ๆ ไป ซึ่งสังคมในยุคโลกาภิวัตน์ ชี้ให้เห็นและทำให้เข้าใจในสิ่งเหล่านี้ได้ยาก

การต่อต้านการทุจริตให้เป็นผล ไม่ได้เกิดจากการบอกให้ผู้อื่นเลิกทุจริต หรือการผลักดันเป็นข้อเสนอเพียงเพื่อให้ผู้อื่นดำเนินการ แต่เกิดจากการดำเนินการต้านทุจริตในภาคปฏิบัติ (Anti-corruption in Practice) กับองค์กรของตน และเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้อื่นได้ลงมือปฏิบัติตาม จนสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นบริษัทต้นแบบที่มีแนวปฏิบัติอย่างจริงจัง และสร้างวัฒนธรรมการไม่ทุจริตในภาคธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม

แนวทางการต้านทุจริตสำหรับองค์กรธุรกิจ ควรเริ่มจากการให้คำมั่น (Commit) ด้วยการจัดทำถ้อยแถลงขององค์กรและสารของผู้บริหาร รวมทั้งตัวอย่างหรือรูปธรรมของการดำเนินการที่เกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตของฝ่ายบริหาร ตามด้วยการลงมือทำ (Establish) ด้วยการแปลงคำมั่นขององค์กรไปสู่การปฏิบัติ ผ่านการวางนโยบายและระบบการควบคุมภายในที่ใช้ในการป้องกันและตรวจพบทุจริต และต่อด้วยการขยายวง (Extend) ด้วยการผลักดันให้หุ้นส่วนหรือคู่ค้าทางธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน ดำเนินนโยบาย และแนวปฏิบัติที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตร่วมกัน

การวางกระบวนงานในการต่อต้านการทุจริตอย่างเป็นขั้นตอน จะช่วยให้องค์กรยกระดับการรับรู้เรื่องการต้านทุจริตในหมู่พนักงาน และฝ่ายบริหารมีเครื่องมือ และกติกาในการควบคุมดูแลการปฏิบัติงาน รวมทั้งเอื้อให้องค์กรมีบรรทัดฐานในการติดตาม และรายงานการปฏิบัติงานและการดำเนินการต้านทุจริตในภาษาเดียวกัน ตลอดจนช่วยเสริมสร้างชื่อเสียงและบทบาทการต้านทุจริตขององค์กรให้เป็นที่ยอมรับในสังคม


[Original Link]