Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

หลักการลงทุนที่รับผิดชอบ

สุธิชา เจริญงาม

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา (4-6 พ.ค.) ดิฉันได้มีโอกาสเดินทางไปเข้าร่วมงานประชุม “The Forum for Sustainable and Responsible Investment” ที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดโดย US SIF สมาคมที่ประกอบด้วยผู้ลงทุนสถาบัน องค์กรธุรกิจ และนักวิชาชีพราว 400 ราย ดูแลเม็ดเงินลงทุนรวมกันกว่า 1 ล้านล้านเหรียญ

ในบรรดาผู้ลงทุนสถาบันที่เข้าร่วมงานนี้ ต่างเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable Investment) ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับเอาหลักการลงทุนที่รับผิดชอบ (Principles for Responsible Investment: PRI) มาใช้เป็นแนวปฏิบัติ

หลักการ PRI นี้ พัฒนาขึ้นโดยหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติ 2 แห่ง ที่ทำงานเกี่ยวกับความริเริ่มด้านการเงินภายใต้สำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP Finance Initiative) และข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) ประกอบด้วย หลัก 6 ประการ ได้แก่

หลักการที่ 1: การผนวกประเด็น ESG เข้าไว้ในการวิเคราะห์และกระบวนการตัดสินใจลงทุน
ตัวอย่างข้อปฏิบัติตามหลักการนี้ ได้แก่ การระบุถึงประเด็น ESG ในถ้อยแถลงนโยบายลงทุน การสนับสนุนการพัฒนาเครื่องมือ ตัววัด และการวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับ ESG การประเมินสมรรถภาพของผู้จัดการลงทุนภายในและภายนอกองค์กรต่อการผนวกประเด็น ESG การสอบถามผู้ให้บริการด้านการลงทุน (อาทิ นักวิเคราะห์การเงิน ที่ปรึกษา นายหน้า บริษัทวิจัย หรือ บริษัทจัดอันดับ) ต่อการผนวกปัจจัย ESG เข้ากับการวิเคราะห์และวิจัยที่มีพัฒนาการ รวมทั้งการผลักดันหน่วยงานทางวิชาการหรือหน่วยวิจัยอื่นๆ ในเรื่องดังกล่าว ตลอดจนการสนับสนุนการฝึกอบรม ESG สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพด้านการลงทุน

หลักการที่ 2: การเป็นผู้ถือครองหลักทรัพย์ที่ใช้สิทธ์ทำหน้าที่ และผนวกประเด็น ESG เข้าไว้ในนโยบายและข้อปฏิบัติในการถือครองหลักทรัพย์
ตัวอย่างข้อปฏิบัติตามหลักการนี้ ได้แก่ การจัดทำและเปิดเผยนโยบายการถือครองหลักทรัพย์แบบใช้สิทธ์ทำหน้าที่ซึ่งเป็นไปตามหลักการลงทุนที่รับผิดชอบ การใช้สิทธิออกเสียงหรือติดตามการปฏิบัติตามนโยบายการใช้สิทธิการออกเสียง (ในกรณีที่มอบฉันทะให้บุคคหรือนิติบุคคลอื่นดำเนินการแทน) การพัฒนาสมรรถภาพในการสานสัมพันธ์ (ทั้งในกรณีที่ดำเนินการเองโดยตรง หรือผ่านการว่าจ้างหน่วยงานภายนอก) การมีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบาย กฎระเบียบ และการกำหนดมาตรฐาน (เช่น การส่งเสริมและการคุ้มครองสิทธิของผู้ถือหุ้น) การจัดทำมติของผู้ถือหุ้นที่สอดคล้องกับข้อพิจารณา ESG ระยะยาว การสานสัมพันธ์กับบริษัทในประเด็น ESG การมีส่วนร่วมในความริเริ่มการสานสัมพันธ์แบบร่วมมือกัน การสอบถามผู้จัดการลงทุนต่อการทำให้มีการสานสัมพันธ์และรายงานผลการสานสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับ ESG

หลักการที่ 3: การแสวงหาข้อมูลในประเด็น ESG ที่เปิดเผยอย่างเหมาะสมจากกิจการที่เข้าไปลงทุน
ตัวอย่างข้อปฏิบัติตามหลักการนี้ ได้แก่ การสอบถามถึงการรายงานในประเด็น ESG ที่ได้มาตรฐาน (โดยใช้เครื่องมือ เช่น Global Reporting Initiative) การสอบถามถึงประเด็น ESG ที่ถูกผนวกเข้าไว้ในรายงานทางการเงินประจำปี การสอบถามถึงข้อสนเทศของบริษัทที่เกี่ยวกับการรับหรือเข้าร่วมในบรรทัดฐาน มาตรฐาน หลักปฏิบัติ หรือความริเริ่มระหว่างประเทศที่เกี่ยวเนื่อง (เช่น UN Global Compact) การสนับสนุนความริเริ่มและมติของผู้ถือหุ้นในการส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูล ESG

หลักการที่ 4: การส่งเสริมให้เกิดการรับและนำหลักการลงทุนที่รับผิดชอบไปใช้ในอุตสาหกรรมการลงทุน
ตัวอย่างข้อปฏิบัติตามหลักการนี้ ได้แก่ การผนวกข้อกำหนดที่เกี่ยวกับหลักการลงทุนที่รับผิดชอบไว้ในเอกสารเชิญชวนเพื่อยื่นข้อเสนอ (RFPs) การปรับแนวการมอบอำนาจเพื่อการลงทุน กระบวนงานติดตาม ตัวบ่งชี้การดำเนินงาน และโครงสร้างสิ่งจูงใจ (เช่น ทำให้แน่ใจว่ากระบวนการจัดการลงทุนสะท้อนกรอบเวลาในการลงทุนระยะยาวตามความเหมาะสม) การสื่อสารความคาดหวังในเรื่อง ESG กับผู้ให้บริการด้านการลงทุน การพิจารณาปรับลดระดับความสัมพันธ์กับผู้ให้บริการที่ยังไม่สามารถสนองต่อความคาดหวังในเรื่อง ESG การสนับสนุนการพัฒนาเครื่องมือสำหรับการเปรียบเทียบวัดการบูรณาการในเรื่อง ESG การสนับสนุนการพัฒนานโยบายหรือกฎระเบียบที่เอื้อต่อการนำหลักการลงทุนที่รับผิดชอบไปปฏิบัติ

หลักการที่ 5: การทำงานร่วมกันเพื่อขยายประสิทธิผลของการนำหลักการลงทุนที่รับผิดชอบไปปฏิบัติ
ตัวอย่างข้อปฏิบัติตามหลักการนี้ ได้แก่ การสนับสนุน/มีส่วนร่วมในแพลตฟอร์มด้านข้อมูลและเครือข่ายเพื่อแบ่งปันเครื่องมือ ใช้ทรัพยากรร่วมกัน และใช้ประโยชน์จากการรายงานด้านการลงทุน เป็นแหล่งเรียนรู้ การให้ความสนใจร่วมกันในประเด็นเกิดใหม่ที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาหรือสนับสนุนความริเริ่มในแบบร่วมมือกันอย่างเหมาะสม

หลักการที่ 6: การรายงานการดำเนินงานและความก้าวหน้าในการนำหลักการลงทุนที่รับผิดชอบไปปฏิบัติ
ตัวอย่างข้อปฏิบัติตามหลักการนี้ ได้แก่ การเปิดเผยถึงวิธีการผนวกประเด็น ESG เข้าไว้ในข้อปฏิบัติด้านการลงทุน การเปิดเผยถึงกิจกรรมการถือครองหลักทรัพย์แบบใช้สิทธ์ทำหน้าที่ (การออกเสียง การสานสัมพันธ์ และ/หรือ การหารือระดับนโยบาย) การเปิดเผยถึงข้อกำหนดที่มีต่อผู้ให้บริการที่สัมพันธ์กับหลักการลงทุนที่รับผิดชอบ การสื่อสารกับผู้รับประโยชน์เกี่ยวกับประเด็น ESG และหลักการลงทุนที่รับผิดชอบ การรายงานความก้าวหน้า และ/หรือผลสัมฤทธิ์ที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการลงทุนที่รับผิดชอบตามแนวทาง ‘Comply or Explain’ (เป็นการให้รายละเอียดถึงวิธีที่นำหลักการไปปฏิบัติ หรือให้คำอธิบายชี้แจงในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามหลักการในข้อใดข้อหนึ่ง) การแสวงหาวิธีกำหนดผลกระทบของหลักการลงทุนที่รับผิดชอบ การใช้ประโยชน์จากการรายงานในการยกระดับการรับรู้ในหมู่ผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้าง

ทั้งนี้ การนำหลักการลงทุนที่รับผิดชอบมาใช้ ยังช่วยให้การลงทุนเป็นไปในทางที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์โดยรวมทางสังคมยิ่งขึ้น

สำหรับผู้ลงทุนสถาบันที่สนใจนำหลักการดังกล่าวมาใช้เป็นแนวทางในการกำกับการลงทุนและสนองตอบต่อกระแสการลงทุนที่ยั่งยืน ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในระดับสากล และกำลังก่อตัวขึ้นในประเทศไทย สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.unpri.org


[ประชาชาติธุรกิจ]