Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

การลงทุนสุนทาน


การบริจาคเพื่อการกุศล หรือการทำบุญสุนทานของภาคธุรกิจ ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Corporate Philanthropy นั้น เป็นกิจกรรมเพื่อสังคมชนิดหนึ่ง ซึ่งจัดอยู่ในจำพวก CSR-after-process ที่เป็นความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการในลักษณะของการดำเนินความช่วยเหลือหรือการตอบแทนคืนสังคมในรูปแบบต่างๆ เช่น การให้เงินหรือวัตถุสิ่งของ ที่เกิดขึ้นแยกต่างหากจากกระบวนการดำเนินธุรกิจปกติ และพบเห็นได้ในทุกองค์กรธุรกิจ

กิจกรรมเพื่อสังคมในลักษณะดังกล่าว นับว่าเป็นบทบาทของพลเมืองภาคองค์กร (Corporate Citizen) ที่ดี ในการให้ความช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส และผู้ขาดแคลนยากไร้ ให้ได้รับปัจจัยในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี การให้ความช่วยเหลือในรูปของการให้เงินหรือวัตถุสิ่งของ (โดยเฉพาะที่เป็นไปเพื่อการใช้สอยหรือบริโภค) แม้จะช่วยแก้ปัญหาที่เป็นเฉพาะหน้าได้ แต่อาจมิใช่คำตอบสำหรับการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนหรือ สามารถทำต่อเนื่องได้ในระยะยาวหรือตลอดไป

ประเด็นความยั่งยืน ได้กลายเป็นโจทย์สำคัญ ทั้งในฝั่งผู้ให้ความช่วยเหลือ (ที่ต้องการให้ความช่วยเหลือได้อย่างต่อเนื่องจนเห็นผล) และในฝั่งผู้รับความช่วยเหลือ (ที่ต้องสามารถยืนอยู่บนขาของตัวเองได้ในที่สุด)

พัฒนาการในแวดวงของการขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ จึงต้องดำเนินสืบเนื่องไป เพื่อค้นหาและพัฒนาวิถีทางของการให้ความช่วยเหลือ (Philanthropy) ในกรอบของความยั่งยืน ให้เกิดเป็นผลสัมฤทธิ์

ในฝั่งของผู้รับความช่วยเหลือที่เป็นครัวเรือนหรือชุมชนเป้าหมาย เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองให้ได้นั้น แนวทางที่กิจการสามารถทำได้ คือ การเปลี่ยนผ่านจาก Philanthropy ในแบบทั่วไปที่คุ้นกับการให้ปัจจัยการบริโภค มาสู่ Strategic Philanthropy ในแบบกลยุทธ์ที่เน้นการให้ปัจจัยการผลิต โดยให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้ความถนัดความเชี่ยวชาญของธุรกิจในการเข้าให้ความช่วยเหลือ และการใช้โครงข่ายธุรกิจสนับสนุนการทำงานของครัวเรือนหรือชุมชนเป้าหมายที่เป็นผู้รับความช่วยเหลือดังกล่าว

ในฝั่งของผู้ให้ความช่วยเหลือที่เป็นตัวกิจการเอง เพื่อให้มีทุนหรือทรัพยากรสำหรับการให้ความช่วยเหลือได้อย่างต่อเนื่อง แนวทางที่กิจการควรพิจารณา คือ การเปลี่ยนผ่านจาก Philanthropy ในแบบการให้เปล่าหรือที่ต้องสูญเงินต้น มาสู่ Philanthropic Investments ในแบบการลงทุนหรือใช้ดอกผลจากเงินต้นที่นำไปลงทุนโดยไม่สูญเสียเงินต้น ทำให้กิจการสามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างต่อเนื่องจนเห็นผลหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง

การให้ความช่วยเหลือในรูปแบบ Philanthropic Investments หรือที่สถาบันไทยพัฒน์เรียกว่า “การลงทุนสุนทาน” ของกิจการหรือภาคธุรกิจในกรอบของความยั่งยืน คาดหมายว่าจะเป็นแนวโน้มที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น และเป็นพัฒนาการที่ต่อขยายจากการลงทุนที่รับผิดชอบ (Responsible Investments) ของกลุ่มผู้ถือครองสินทรัพย์และผู้ลงทุนที่ประสงค์จะใช้นโยบายการลงทุนของตนในการช่วยแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันกับการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน

การลงทุนสุนทาน เป็นการนำเงินหรือทรัพย์สินมาเป็นทุนเพื่อหาดอกผลนำไปใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือแก่สังคมในด้านต่างๆ เช่น การศึกษา การสาธารณสุข การพัฒนาอาชีพ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยที่ทุนหรือเงินต้นยังคงอยู่ ซึ่งแตกต่างจากการทำบุญสุนทานหรือการบริจาคที่เป็นการมอบเงินหรือทรัพย์สินนั้นให้เป็นความช่วยเหลือแก่สังคมโดยตรง

ตัวอย่างของการลงทุนสุนทานในต่างประเทศ ได้แก่ ความช่วยเหลือในรูปแบบ Program-Related Investments (PRIs) ของมูลนิธิฟอร์ด เช่น การให้สินเชื่อต้นทุนต่ำ การค้ำประกันสินเชื่อ การลงทุนในตราสารทุน ในลักษณะเชิงกลยุทธ์ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้รับความช่วยเหลือ และเพื่อจัดหาเงินลงทุนให้แก่ความริเริ่มใหม่ๆ ที่มีความเสี่ยง โดยนับจนถึงปัจจุบัน มูลนิธิฟอร์ดได้ให้ความช่วยเหลือในรูปแบบ PRIs แล้วเป็นจำนวนกว่า 560 ล้านเหรียญ และมีการจัดสรรเม็ดเงินลงทุนใหม่โดยเฉลี่ยราว 25 ล้านเหรียญต่อปี

ผมเชื่อแน่ว่า เราคงจะได้เห็นรูปแบบของการลงทุนในลักษณะดังกล่าว จากภาคเอกชนหรือมูลนิธิในสังกัดภาคเอกชนของไทย ในไม่ช้านี้ครับ!


[Original Link]