Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

รายงานของคณะกรรมาธิการบรันท์แลนด์


DGVN Photo/ Brundtland-Bericht
DGVN Photo/ Brundtland-Bericht

คณะกรรมาธิการบรันท์แลนด์ (Brundtland Report) หรือคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ได้จัดทำข้อเสนอแนะการพัฒนารูปแบบใหม่ที่มุ่งลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมไว้ในเอกสารรายงานชื่อว่า อนาคตของเรา ซึ่งเสนอต่อสหประชาชาติในปี ค.ศ.1987 (พ.ศ. 2530) อันเป็นที่มาของแนวคิด “การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)” โดยในรายงานฉบับดังกล่าว ได้ให้นิยามของการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ว่า

“การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาที่สามารถสนองความต้องการที่จำเป็นของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่กระทบต่อขีดความสามารถในการสนองความต้องการที่จำเป็นของคนในรุ่นต่อไป”

คณะกรรมาธิการบรันท์แลนด์ ถูกตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1984 (พ.ศ.2527) จากข้อมติของสมัชชาสหประชาชาติที่มีต่อกระบวนการเตรียมตัวด้านสภาวะแวดล้อม นับจากปี ค.ศ.2000 เป็นต้นไป อันเป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ (United Nations Conference on the Human Environment - UNCHE) ที่จัดขึ้น ณ กรุงสตอกโฮล์ม ราชอาณาจักรสวีเดน ในระหว่างวันที่ 5-16 มิถุนายน ค.ศ.1972 (พ.ศ.2515) ซึ่งเป็นการประชุมที่มีผู้แทนระดับผู้นำประเทศ ประมุขของรัฐ หัวหน้าคณะรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ระดับสูงจาก 113 ประเทศเข้าร่วม

การประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมระดับโลกทางด้านสิ่งแวดล้อมครั้งแรก ที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากประเทศต่างๆ ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศที่กำลังพัฒนา โดยที่ประชุมร่วมกันเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ตระหนักถึงวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาแบบมุ่งเน้นด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว การใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยและเกินขีดจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติ ในขณะที่ประชากรในประเทศยากจนยังคงมีความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรในระดับที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพได้

ในการประชุมครั้งนี้ ได้ให้การรับรองเอกสารและข้อมติที่สำคัญ ได้แก่ การรับรองปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมมนุษย์ การจัดตั้งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) รวมทั้งเสนอให้รัฐบาลประเทศต่างๆ จัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตน และที่ประชุมยังได้กำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลกด้วย