Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

วาระ ‘สังคม 2020’


เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติได้จัดการประชุมสุดยอดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Summit) เพื่อรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 ซึ่งรวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) 17 ข้อ โดยชาติสมาชิก 193 ประเทศรวมทั้งไทย ซึ่งยังผลให้วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนดังกล่าว จะกลายเป็นทิศทางการพัฒนาทั้งของไทยและของโลกต่อจากนี้

สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมที่ได้ลงนามเข้าเป็นภาคีในข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) เมื่อปี พ.ศ.2555 และได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการลงทุนทางสังคม โดยสำนักงานเลขาธิการว่าด้วยหลักการลงทุนทางสังคม ซึ่งเป็นความริเริ่มที่สนับสนุนโดยสหประชาชาติ ได้เสนอแนวคิดการขับเคลื่อนวาระ “สังคม 2020” ขึ้น เพื่อสร้างให้เกิดความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สนองตอบต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนการทำงานเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และสานเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทยไปพร้อมกัน

การขับเคลื่อนวาระสังคม 2020 จะกำกับดูแลโดยคณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Network Board: SDNB) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “บอร์ดยั่งยืน” ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวของผู้ที่ผลักดันงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากภาคเอกชน ภาคสังคม ภาควิชาการ และสื่อมวลชน โดยมีสถาบันไทยพัฒน์ ทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ

ทั้งนี้ บทบาทของคณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ตั้งขึ้น จะเน้นการทำหน้าที่เป็นกลไกประสานหน่วยงาน โดยหลีกเลี่ยงการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน แต่จะทำงานในลักษณะเครือข่ายความร่วมมือเพื่อตอบโจทย์ SDGs ในระดับที่สูงขึ้น ภายใต้หลักการ 5Ps ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ ประชาชน (People) โลก (Planet) ความมั่งคั่ง (Prosperity) สันติภาพ (Peace) และความเป็นหุ้นส่วน (Partnership)

การดำเนินงานตามวาระสังคม 2020 มุ่งที่จะตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสังคมวงกว้าง เน้นการพัฒนาที่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 3 มิติที่เอื้อต่อกันและแบ่งแยกมิได้ อันมีขอบข่ายที่กว้างกว่าโจทย์การพัฒนาความยั่งยืนในระดับองค์กรหรือระดับห่วงโซ่ธุรกิจ ด้วยการทำงานในรูปของกลุ่มความร่วมมือผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย (Multi-Stakeholder Group) ภายใต้วิสัยทัศน์ “People -> Perform, Business -> Transform, State -> Reform”


นั่นคือ ภาคประชาชนทำหน้าที่ (Perform) ของตนเองอย่างมีประสิทธิผล ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านหรือแปรรูป (Transform) ไปสู่การยกระดับการประกอบธุรกิจที่ทำให้สังคมได้รับการดูแลตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปพร้อมกัน และภาครัฐมีการปฏิรูป (Reform) หน่วยงานอย่างจริงจังเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงและความคาดหวังของสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อมุ่งไปสู่ “สังคมที่เราต้องการ” (The Society We Want) ในอีก 15 ปีข้างหน้า โดยมีกรอบเวลา 5 ปีในระยะแรก (สิ้นสุดปี ค.ศ.2020) และจะมีการประเมินการดำเนินงาน เพื่อพิจารณาสู่การขับเคลื่อนในกรอบเวลา 10 ปี (สิ้นสุดปี ค.ศ.2030) ในระยะต่อไป

คณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเริ่มเชิญชวนหน่วยงานที่สนใจ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่มีความประสงค์จะทำงานเชื่อมโยงกับวาระสังคม 2020 เข้าร่วมดำเนินงานในรูปแบบของหุ้นส่วนความร่วมมือ ในอันที่จะตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน

พร้อมทั้งได้จัดทำเอกสาร Society 2020 Partnership Submission Form เพื่อรวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลหน่วยงาน ประเด็นที่องค์กรสนใจ เป้าหมายที่ต้องการผลักดัน รูปแบบความร่วมมือ ทุน/ปัจจัยที่ให้การสนับสนุน และโครงการ/ความริเริ่มที่ต้องการขับเคลื่อน ฯลฯ เพื่อให้หน่วยงานที่สนใจสามารถดาวน์โหลดเพื่อให้ข้อมูล ได้ที่ sdnb.org ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


[Original Link]