(เวอร์ชั่น มีนาคม 2559)"/>

Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

นับหนึ่ง ธุรกิจเพื่อสังคม (เวอร์ชั่น มีนาคม 2559)


การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคาร (15 มี.ค.) ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบเรื่องการให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัทที่ทำประโยชน์ช่วยเหลือสังคม ซึ่งจะถูกใช้เป็นกลไกในการส่งเสริมการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) จากนี้ไป อย่างมีนัยสำคัญ

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ชี้แจงหลังจากที่ ครม. มีมติในเรื่องดังกล่าวว่า สิทธิประโยชน์ที่ให้ตามมาตรการนี้ แบ่งเป็น 3 กรณี คือ กรณีแรก เป็นการตั้งวิสาหกิจใหม่เพื่อดำเนินการในรูปของธุรกิจเพื่อสังคม กรณีที่สอง เป็นการลงทุนในวิสาหกิจเพื่อสังคมหรือธุรกิจอื่นที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำประโยชน์ให้แก่สังคม และกรณีที่สาม เป็นการให้เงินสนับสนุนที่เป็นเงินให้เปล่าในกิจการหรือธุรกิจเพื่อสังคม

กรณีแรก วิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ที่ดำเนินการในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม คือ นำเงินรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70ผลกำไรทั้งหมด กลับมาทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม ทั้งในด้านการเกษตร การศึกษา หรือด้านอื่นๆ ซึ่งเป็นการกุศลทั้งหมด วิสาหกิจเพื่อสังคมดังกล่าวจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี โดยไม่ต้องเสียภาษีเงินได้เลย เนื่องจากเป็นกิจการที่นำรายได้ผลกำไรทั้งหมด (หรือส่วนใหญ่) ไปทำประโยชน์ให้แก่สังคม

กรณีที่สอง ผู้ลงทุนที่เป็นบริษัทใหญ่ซึ่งมีกำลัง ไปช่วยเหลือบริษัทเล็กที่เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยไปลงทุนในหุ้นของวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือการที่บริษัทต่างๆ ระดมทุนเพื่อจดจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมร่วมกัน เงินที่นำไปลงทุนก้อนนี้ สามารถนำไปใช้คำนวณเพื่อหักภาษีในบริษัทใหญ่ของตัวเองได้ เฉพาะกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลถือหุ้นสามัญของวิสาหกิจเพื่อสังคมไว้จนกว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น หรือวิสาหกิจเพื่อสังคมเลิกกิจการ โดยวิสาหกิจเพื่อสังคมที่เข้าถือหุ้นนั้น ต้องเป็น Social Business ที่ไม่มีการจ่ายเงินปันผล หรือเป็น Social Enterprise ที่มีการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนไม่เกินร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี

กรณีที่สาม เงินสนับสนุนที่เป็นเงินให้เปล่าแก่วิสาหกิจหรือธุรกิจเพื่อสังคม ที่ไม่ใช่การลงทุน ซึ่งปกติจะไม่สามารถนำมาหักภาษีได้ เนื่องจากไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ แต่ด้วยมาตรการนี้ จะเปิดให้สามารถนำเงินสนับสนุนจำนวนดังกล่าว มาหักภาษีได้ด้วย แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ โดยวิสาหกิจเพื่อสังคมที่เข้าถือหุ้นนั้น ต้องเป็น Social Business ที่ไม่มีการจ่ายเงินปันผล หรือเป็น Social Enterprise ที่มีการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนไม่เกินร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี

ทั้งสามกรณี เป็นการออกแบบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนกิจการที่ทำ CSR อย่างครบวงจร ตั้งแต่การตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมขึ้นเอง การไปร่วมถือหุ้นหรือร่วมลงทุนในวิสาหกิจเพื่อสังคมอื่น และการสนับสนุนในรูปของเงินให้เปล่าที่มิใช่การลงทุนแก่วิสาหกิจเพื่อสังคม

ทั้งนี้ ทางกระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร จะได้ยกร่างเป็นพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร เพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ความเคลื่อนไหวที่จะเกิดขึ้นด้วยมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมชุดนี้ จะเปิดโอกาสให้บริษัทมีทางเลือกเพิ่มขึ้นในการทำ CSR ในรูปของการลงทุนและการสนับสนุนนิติบุคคลที่มิใช่มูลนิธิหรือองค์กรสาธารณกุศล และได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย

แนวทางดังกล่าวนี้ สอดรับกับความเคลื่อนไหวหรือทิศทางการทำ CSR-after-process ในวิถีที่เน้นเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น เนื่องจากการจัดตั้ง หรือการลงทุน หรือการให้เงินสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม อยู่บนสมมติฐานที่วิสาหกิจนั้นจะมีการดำเนินงานต่อเนื่อง (Going Concern) ด้วยการใช้ประโยชน์จากเงินทุนตั้งต้นหรือเงินสนับสนุนแรกเริ่มที่ได้รับไปดำเนินงานในรูปของธุรกิจที่เลี้ยงตัวเองได้

แตกต่างจากองค์กรการกุศล ที่ต้องอาศัยเม็ดเงินบริจาคเป็นรายงวด เติมเพิ่มสม่ำเสมอ เพื่อให้การดำเนินงานต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก ซึ่งในความเป็นจริง บริษัทผู้ให้ความช่วยเหลืออาจทำได้เป็นครั้งคราวหรือในชั่วระยะเวลาหนึ่ง ไม่สามารถจัดสรรงบบริจาคเพื่อให้ความช่วยเหลือแบบไม่สิ้นสุดได้

ในต่างประเทศ กลไกการส่งเสริมการช่วยเหลือสังคมในรูปแบบนี้ ก่อให้เกิดรูปแบบของกิจการพันธุ์ใหม่จำนวนมาก อาทิ Community Interest Company (CIC), Benefit Corporation (B-Corp), Low-profit Limited Liability Company (L3C), Social Purpose Corporation (SPC), Flexible Purpose Corporation (FPC) อีกทั้งยังนำไปสู่การปรับตัวขององค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่ต้องพัฒนาศักยภาพของตัวเอง และต้องยกระดับการดำเนินงานในทางที่ก่อให้เกิดผลิตภาพมากยิ่งขึ้น

จากนี้ไป คงต้องเฝ้าติดตามว่า ด้วยมาตรการนี้ การพัฒนารูปแบบการช่วยเหลือสังคมของประเทศไทย จะไปในทิศทางใด

สำหรับผมเชื่อว่า สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้น คือ เราจะได้เห็นการแก้ปัญหาสังคมด้วยนวัตกรรมที่ไม่ผูกติดกับเงื่อนไขเชิงพาณิชย์ สามารถสร้างทางเลือกให้แก่กลุ่มเป้าหมายจากผู้รอรับความช่วยเหลือเป็นผู้ที่มีกำลังซื้อในระดับราคาที่จับจ่ายได้ ด้วยการใช้ประโยชน์จากโมเดลธุรกิจในการส่งมอบผลลัพธ์ที่สืบเนื่องไม่สิ้นสุด

เป็นการเพิ่มความคุ้มค่าของเม็ดเงินช่วยเหลือสังคมที่ให้ผลยั่งยืนกว่าการทำ CSR ในรูปการบริจาคอย่างแน่นอน!


[Original Link]