Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

"ไทยพัฒน์" กางแผนที่ 6 ทิศ ผลักดันธุรกิจเพื่อสังคม-ชุมชน

การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development (SD) เป็นการพัฒนาที่คำนึงถึงมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งอยู่ภายใต้บริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยรวมของสังคมโลก ไม่ใช่เพื่อความยั่งยืนหรือความอยู่รอดขององค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้น


แนวคิดดังกล่าว สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงหยิบยกขึ้นมาเป็นแนวทางในการสร้างความตระหนักต่อการทำกิจกรรมเพื่อสังคมให้กับทุกภาคส่วน โดยมีเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs นับจากปี 2559 นี้ไปอีก 15 ปีข้างหน้า

ในฐานะองค์กรที่ขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงถือโอกาสทำการประเมินทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ภายใต้รายงานที่มีชื่อว่า "6 ทิศทาง CSR ปี 2559 : New SD Paradigm"เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการปรับโจทย์ในการรองรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากลให้สามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ จนเกิดผลลัพธ์ที่เป็นการสร้างคุณค่าให้แก่ธุรกิจและสังคมไปพร้อม ๆ กัน

"ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ" ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนในปัจจุบันว่าเมื่อโลกกำลังก้าวสู่ศักราชใหม่ โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2574 ส่งผลให้องค์กรธุรกิจที่เห็น SDGs เป็นโอกาสที่จะนำกิจกรรมของตนเข้ามามีส่วนร่วม ด้วยการปรับโจทย์ธุรกิจให้มีความสอดคล้องกับ SDGs เพื่อสร้างคุณค่าให้กับทั้งสังคมและธุรกิจควบคู่ไปด้วยกัน ซึ่งถือเป็นการทิ้งระยะห่างจากองค์กรที่ยังมองไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจของตัวเองกับ SDGs ไปอีกหลายช่วงตัว

"ประเทศไทยจึงเป็นที่คาดหมายว่าการนำแนวคิด Social Business ตามนิยามของ ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2549 ที่มีเป้าหมายเพื่อการแก้ปัญหาสังคมด้วยโมเดลธุรกิจ โดยมีความยั่งยืนทางการเงินที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งเงินจากการบริจาค"

"โดยใช้พลังขับเคลื่อนในรูปแบบของธุรกิจที่ไม่สูญเงินต้น-ไม่ปันผลกำไร (Non-Loss, Non-Dividend) มาเป็นกลไกในการช่วยเหลือผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาส รวมถึงใช้เป็นเครื่องมือในการขจัดปัญหาความยากจน การว่างงาน และก๊าซเรือนกระจก ที่สอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนนับจากนี้เป็นต้นไป"

ผ่านการวาง 6 ทิศทาง CSR ในปี 2559 ประกอบด้วย

หนึ่ง ทิศทางจาก MDGs สู่ SDGs
นับจากปี 2558 ผ่านพ้นไป พร้อมกับสุดเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืนในโค้งแรกที่ใช้เวลา 15 ปี ด้วยเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals : MDGs) ซึ่งเริ่มต้นในปี 2543 ที่ประกอบด้วยการขจัดความยากจน การมอบโอกาสให้เด็กทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษา การส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศและบทบาทสตรี รวมถึงการพัฒนาสุขภาพของสตรีมีครรภ์ และการรักษาโรค ตลอดจนการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

สอง จากการทำบุญสุนทานสู่การลงทุนสุนทาน
ในอดีตที่ผ่านมาความช่วยเหลือทางสังคมของภาคธุรกิจ มักอยู่ในรูปของการการทำบุญสุนทาน (Philanthropy) ในแบบการให้เปล่า ภายใต้งบประมาณที่องค์กรต้องจัดสรรใหม่ทุก ๆ ปี ต่อมาได้มีการปรับโจทย์ใหม่เป็นการช่วยเหลือในแบบการลงทุนสุนทาน ซึ่งเป็น CSR ในหมวดของการลงทุน โดยสามารถเดินเคียงคู่ไปกับการทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบ และสามารถนำเงินลงทุนก้อนเดิมกลับคืนเพื่อไปใช้พัฒนาโครงการอื่นต่อไป

สาม ก้าวสู่การเป็น ESG
นับจากปี 2559 เป็นต้นไป องค์กรธุรกิจที่ดำเนินการเรื่องการกำกับดูแลกิจการจนเป็นที่น่าเชื่อถือต่อผู้ถือหุ้น นอกจากจะต้องดูแลผลประกอบการในมิติทางเศรษฐกิจแล้ว ยังต้องบริหารความคาดหวังของผู้ลงทุนในกิจการในมิติทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านการจัดทำและเปิดเผยข้อมูลในประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เพิ่มเติมอีกด้วย

สี่ การสร้างผลลัพธ์คุณค่าร่วม (CSV)
ผลักดันให้องค์กรธุรกิจสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value : CSV) ระหว่างองค์กรและสังคมไปพร้อมกัน โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรและความเชี่ยวชาญที่เป็นแกนของธุรกิจนั้น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ห้า การดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม
ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำได้ทันทีคือการย้ายจุดเด่นของการสร้างกิจการมาสู่การสร้างธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาสังคม อันเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ภาคธุรกิจสามารถนำไปใช้เป็นรูปแบบในการช่วยเหลือสังคมที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

หก จากธุรกิจที่ยิ่งใหญ่สู่ธุรกิจที่ยั่งยืน
ธุรกิจที่ผันตัวเองสู่โหมดธุรกิจยั่งยืนจะเปลี่ยนจุดโฟกัสมาเน้นใช้กลยุทธ์มุ่งสู่ความยั่งยืน เพื่อรักษาเสถียรภาพของกิจการ ด้วยการพิจารณาดำเนินงานในเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม ผสมผสานกลมกลืนเข้ากับการดำเนินธุรกิจ พร้อมปรับทิศทางให้ธุรกิจต้องเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไม่ใช่แยกส่วนจากสังคม

ทั้ง 6 ทิศทางการสร้างธุรกิจเพื่อสังคมดังกล่าว "ดร.พิพัฒน์" บอกว่าจะสามารถช่วยธุรกิจสร้างคุณค่าในแบบ win-win ด้วยโมเดลที่เรียกว่า Social Business แบบไม่สูญเงินต้น

"ภายใต้การสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการว่าธุรกิจจะสามารถดำเนินกิจการพร้อมทั้งขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมได้ในขณะเดียวกัน ซึ่งจะนำมาสู่การสร้างความยั่งยืนครอบคลุมทั้งธุรกิจและสังคมในระยะยาว"

อันถือเป็นกลไกสู่การสร้างคุณค่าในรูปแบบใหม่ให้กับองค์กรและสังคมอย่างแท้จริง


[Original Link]